“ธนาตรัยฉัตร” นักธุรกิจรุ่นใหม่ เคลื่อน “อมาโด้” ด้วยความกล้า..บ้าบิ่น!
นักธุรกิจรุ่นใหม่ คิดเร็วทำเร็ว เคลื่อนธุรกิจด้วยความ กล้า-บ้าบิ่น อย่างมีกลยุทธ์ "ธนาตรัยฉัตร" พร้อมทลายระเบิดเวลา ผลักดัน "อมาโด้" เข้าตลาดหลักทรัพย์ ปลดล็อกเงินทุน สร้างการเติบโตในระยะยาว
โรคโควิด-19 สร้าง “ปฏิริยาเร่ง” มากมายเกิดขึ้น รวมถึงระเบียบโลกใหม่ๆ เบรกผู้คนให้ต้อง “ล็อกดาวน์” กิจการการค้า ทำให้คนอยู่กับปัจจัยความกลัว(Fear Factor) ร่วมมือกันเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แต่หากต้องการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ มีกติกาเกิดขึ้นจากเจ้าถิ่นจะต้องฉีด “วัคซีน” ยี่ห้อนั้นนี้ ฯ
ตัวอย่างสารพันตัวแปรที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมาก ในโอกาส “กรุงเทพธุรกิจ” ครบรอบ 35 ปี จึงระดม “แม่ทัพ” องค์กรธุรกิจชั้นนำ ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ แนวคิดรับโลกใบเดิม ภายใต้กติกา ความท้าทายใหม่ๆหรือ New Era, New Challenge แล้ว Next Generation - ผู้ขับเคลื่อนปัจจุบันสู่อนาคต มีก้าวย่างอย่างไร ติดตาม
จากศิลปินนักร้องวัยรุ่น ผันตัวสู่บทบาท “นักธุรกิจ” ปลุกปั้นแบรนด์ “อมาโด้”(AMADO) ให้ติดท็อปของตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ความงามอย่างรวดเร็ว สร้างรายได้ปัจจุบันหลัก “พันล้านบาท” คือหนึ่งในเวอร์ชั่นที่ดีสุดของ ธนาตรัยฉัตร ภูโชคอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด
ทว่า กว่าธุรกิจจะเติบใหญ่ทำเงินจากหลักหมื่นสู่หลักล้าน ไม่ง่าย เพราะเส้นทางเต็มไปด้วยอุปสรรค สารพัดปัญหาให้แก้
ย้อนสู่ยุคศิลปิน “ธนาตรัยฉัตร” เท้าความชีวิตการร้องเพลง สร้างความสุขให้แฟนๆ เป็นลมหายใจที่แลกด้วยคำว่า “โอกาส” จึงเต็มที่กับงานเพลง พร้อมวางเป้าหมายจะเป็นศิลปินในเวอร์ชั่นที่ดีสุดใน 10 ปี จะเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ ชื่อเสียง เงินทองแล้ววางไมค์
เมื่อธุรกิจเพลงขาลง ต้นสังกัดเปลี่ยนนโยบายเคลื่อนองค์กร การดิสรัปอาชีพศิลปินมาเร็วกว่าที่คิด ประกอบกับ “จุดเปลี่ยน” สำคัญ เมื่อออกงานโชว์ตัว ได้ผลตอบแทน 20,000 บาท วันเดียวกันเจ้าตัวขายสินค้าผ่าน “ออนไลน์” มียอดขาย เงินเข้าบัญชีทั้งวันร่วม 80,000 บาท เห็น “ขุมทรัพย์” ใหม่เบื้องหน้า จึงตัดสินใจผันตัวเป็น “นักธุรกิจ” เต็มตัว
การออกสตาร์ทด้วยทุนหลัก “แสนบาท” ใช้บ้านเป็นออฟฟิศ ยึดโต๊ะทานข้าวเป็นโต๊ะทำงาน จน “มารดา” ต้องยืนทานข้าวในครัว ความเกรงใจจึงพลิกโรงรถเป็นออฟฟิศใหม่ พัฒนาสินค้าสร้างยอดขายได้หลัก “สิบล้านบาท” นำเงินไปลงทุนขยายออฟฟิศใหม่
ตลอด 8 ปี การเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ แนวคิดขับเคลื่อนธุรกิจเต็มไปด้วยความ “กล้า บ้าคลั่ง” ไม่กลัวความเสี่ยง แต่การที่ “อมาโด้” เติบโตเช่นวันนี้ เกิดจากวิสัยทัศน์มองทุกการ “ลงทุนเพื่อโอกาส”
“เราไม่เคยทิ้งโอกาส ทุกโอกาสที่เข้ามาเราคว้าไว้หมด แต่บางครั้งเราลืมว่าส่องกระจกว่าเราเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่มีเงินทุน เราดับเครื่องชน แลกกับประโยชน์ยอดขาย เพื่อผลงานใหญ่สุด เราใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด”
ทว่า ปัจจุบันไม่ใช่ เมื่อธุรกิจเติบโตพร้อมกับวัยวุฒิ ทำให้ต้อง “บริหารจัดการความเสี่ยง” มากขึ้น เพราะการที่ธุรกิจเติบโตเร็วจนน่าหวาดเสียว แต่บริษัทยังมีข้อจำกัดด้าน “เงินทุน” ที่ต้องระวังอย่างยิ่ง ประกอบกับที่ผ่านมา บริษัทเคยเจอวิกฤติใหญ่สุด ปี 2561 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง(เมจิกสกิน) ได้สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้ตลาดเสริมอาหารถูกลดทอน “ความน่าเชื่อถือ” จากผู้บริโภคอย่างหนัก จากบริษัทมียอดขายหลักร้อยล้าน ดิ่งสู่ภาวะ “ขาดทุน” กว่า 60 ล้านบาท จนเกือบปิดกิจการ
18 เดือน ต้องแก้วิกฤติ เดือนที่ 6 สุ่มเสี่ยงเจ๊ง! แน่ จึงตัดสินใจเรียกรวมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) เพื่อบรรเลงธุรกิจครั้งสุดท้ย นำสินค้าในคลังออกมาขายให้หมด คำนวณยอดขายจะเหลือเงินเท่าไหร่ แต่ใน “ร้าย” มี “ดี” การสำรวจคลัง กางดู “ข้อมูล”(Data)จริงจัง พบ “คอลลาเจน” ในพอร์ตโฟลิโอเติบโต ส่วนสินค้าความงาม วิตามินต่างๆ กลับทรงตัว จึงโฟกัสพระเอกใหม่จนสร้างยอดขายระดับ 1,800 ล้านบาท(เฉพาะคอลลาเจน) จากภาพรวมรายได้ปี 2563 อยู่ระดับ 2,200 ล้านบาท
การฝ่ามรสุมใหญ่ “ธนาตรัยฉัตร” ตกผลึกการใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ Data Driven Marketing สำคัญและทรงพลังมาก ฐานลูกค้า “นับล้าน” ที่เก็บและวิเคราะห์ทุกวัน ทำให้เห็นแนวโน้มการขายสินค้าผ่าน “ออนไลน์” แผ่ว แต่ฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มคนดูทีวีมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ใหญ่วัย 50 ปี บริษัทจึงปรับตัวรุกช่องทางทีวีโฮมชอปปิง ยึดหน้าจอทีวีดิจิทัลเก็บเกี่ยวขุมทรัพย์ใหม่ทำเงินหลัก 900 ล้านบาท
อนาคต การทำธุรกิจมีโจทย์ใหม่ให้ตีแตกต่อเนื่อง วันนี้เก็บข้อมูลผู้บริโภคได้ แต่ปีหน้าจะยากขึ้น เพราะ “นโยบายความเป็นส่วนตัว” ที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(พ.ร.บ.)จะบังคับใช้ แบรนด์ นักการตลาดจะเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ยาก เป็นอุปสรรคต่อการทำตลาดไม่น้อย
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ตอนนี้นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อความน่าอยู่ของสังคมออนไลน์เป็นเรื่องท้าทายมาก ดิจิทัล อัลกอริธึ่มเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ และการเข้าถึงผู้บริโภคหรือ Reach คือลมหายใจของธุรกิจ คือยอดขาย แต่ออนไลน์ยอดตกลง โตช้าลงต่อเนื่อง หากเราไม่ปรับตัวมุ่งสู่ทีวีโฮมชอปปิง อมาโด้อาจเจอ Bad Crisis ได้”
“อมาโด้” กำลังก้าวสู่ปีที่ 10 จุดเปลี่ยนใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทคือการพาธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็น “มหาชน” เพื่อ “ระดมทุน” นำเงินที่ได้ไป “ปลดล็อก” การขยายธุรกิจ สร้างโรงงานผลิตคอลลาเจน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ ต่อจิ๊กซอว์อาณาจักรให้เติบใหญ่
ธนาตรัยฉัตร เล่าว่า ปัจจุบันบริษัทโตร้อนแรงมาก ปี 62 มีรายได้หลัก 690 ล้านบาท ปี 2564 หวังทะยานสู่ 2,500-3,000 ล้านบาท แต่เมื่อขาด “เงินทุน” จึงเป็น “ระเบิดเวลา” กระทบการเติบโตรวมถึงเป้าหมายการเป็นอมาโด้เวอร์ชั่นที่ดีสุด ทั้งการเป็นองค์กรธุรกิจแถวหน้า “ใหญ่” กว่าบริษัทไอดอลที่ “อมาโด้” หมายตา การขยายธุรกิจให้สวยงาม สร้าง “กำไร” ดีกว่าเดิม ฯ จากปัจจุบันต้องแข่งกับเวลา ปั๊มยอดขาย นำเงินทุนไปจ่ายเครดิตหมุนเวียนต่างๆ
“คนเรามี Best Version อย่างน้อย 10 ปี ผมจึงต้องกรทำสิ่งที่มหัศจรรย์ สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับอมาโด้ เพื่อดิสรัปชั่นสิ่งต่างๆอีกมาก ผ่านการเคาท์ดาวน์ไอพีโอ เมื่อเราขายหุ้นให้กับประชาชน ระดมทุนได้จะเกิดสมการ E= MC2 เหมือนสูตรคำนวณปรมาณู สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้นแน่ รวมถึงการสร้างรายได้มหาศาล ย้ำ Best Version ของอมาโด้ที่จะเติบโต สุขุม นิ่งขึ้น ไม่ใช่โตร้อนแรงจนน่าหวาดเสียวแบบปัจจุบัน”
ธนาตรัยฉัตร เป็นหนึ่งในตัวอย่างนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่คิดเร็ว ทำเร็วแบบสตาร์ทอัพ การเก่งกาจ เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ดิจิทัล ยังดิสรัปการทำงานวัยเก๋า แต่อนาคต เจนเนอเรชั่นใหม่ จะเข้ามามีบทบาทเคลื่อนธุรกิจแทนคนยุคก่อน ตามวัฏจักร แต่วิคราะห์แนวโน้มเจนฯ “อัลฟ่า”(เกิด 2553-2567) รวมถึงเจนฯ “ซี” (เกิด2538-2552) จะเคลื่อนธุรกิจเร็ว เกิดความเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิม 10 เท่าตัว
“อนาคตคนรุ่นใหม่จะมาแทนที่เรา เดิมเจนฯเอ็กซ์กลัวเจนฯวายแค่ไหน เจนฯวายต้องกลัวเจนฯอัลฟ่ามากกว่า 10 เท่า เราดิสรัปผู้ใหญ่ได้ เพราะเราเขียนโปรแกรมเป็น อยู่ในยุค MS-dos แต่เด็กรุ่นนี้โตมากับเทคโนโลยี จะหาวิธีง่ายสุด เร็วสุด เพื่อประสบความสำเร็จ”
ปี 2563-64 ทั้งโลกเผชิญมหาวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด กระเทือนธุรกิจ “อมาโด้” กระทบไม่ต่างกัน จึงชะลอแผนในไตรมาส 2-3 รับเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่แผ่วลง การปรับตัวยังเกิดแบบ “รายวัน” ไม่ใช่ระยะยาว เพื่อก้าวพ้นช่วงยากลำบาก
“ผู้นำรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์การทำงานภายใต้วิกฤติตลอดเวลา และการเป็นซีอีโอ เคยคิดว่าต้องมานั้งก้าอี้เรียกรวมบอร์ดเพื่อประชุม แต่ซีอีโอกลายเป็น Cheif Everything Officer ทำทุกอย่างทั้งปิดงบ นับสต๊อกในคลังสินค้าเป็น เพื่อให้รู้การไหลเข้าออกของลมหายใจ(เงินเข้าบริษัท) ตรงไหนมีจุดเลือดไหล ห้ามเลือดตรงนั้น ขณะที่ท่ามกลางวิกฤติโควิด อมาโด้ยังโชคดีที่บาลานซ์การขายสินค้าสุขภาพแทนโฟกัสความงามที่ชะลอตัว แต่ระเบิดเวลาที่อันตรายเป็นเรื่องของเงินทุนมากกว่า จึงจำเป็นต้องระดมทุนด่วนที่สุด ด้วยการเข้าตลาดในไตรมาส 4 ปี 2565 หรือไตรมาส 1 ปีถัดไป”