"สุรเชษฐ์" ก้าวไกลคาใจ 7 ปี บริษัท "หลานประยุทธ์" คว้างานภาครัฐกว่า 800 ล้าน
"สุรเชษฐ์" ก้าวไกลคาใจ 7 ปี บริษัท "หลานประยุทธ์" คว้างานภาครัฐกว่า 800 ล้าน จี้ตรวจสอบ ยึดธรรมาภืบาลตามประกาศก่อนรัฐประหาร
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านสท่อมวลชนเกี่ยวกับหจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ซึ่งมีนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการก่อสร้างอาคารของหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 3 สัญญา ในปี 2564 รวมวงเงิน 251.88 ล้านบาท และมีข้อสังเกตว่า หากนับตั้งแต่ 2558-2564 หรือ 7 ปีหลังรัฐประหารเป็นต้นมา หจก.คอนเทมโพรารีฯ เป็นคู่สัญญาได้รับงานจากหน่วยงานของรัฐ รวมวงเงินอย่างน้อย 863.31 ล้านบาทนั้น
กรณีลักษณะนี้คงทำให้หลายคนคงได้เห็นหน้าตาของกิจการรัฐประหารชัดเจนขึ้นและทำให้เข้าใจว่าเหตุใดบรรดาผู้คุมกำลังกองทัพจึงสนใจเข้าสู่วงการเป็นนักรัฐประหารเรื่อยมา เฉพาะตระกูล ‘จันทร์โอชา’ ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่ามีทรัพย์สินมากน้อยเพียงใดหลังยึดอำนาจและพยายามเลี่ยงเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินโดยอาศัยช่องว่างเชิงเทคนิคกฎหมายของ ปปช. เรื่อยมา
ทั้งที่หนึ่งในข้ออ้างสำคัญในการยึดอำนาจก็คือการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันจึงควรมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงกว่านี้ แต่นี่แค่การปฏิบัติตามจริยธรรมขั้นพื้นฐานของนักการเมืองในเรื่องความโปร่งใสก็ทำให้ไม่ได้โดยพยายามหาข้อยกเว้นให้ตัวเองมาตลอด “บางทีก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ บางทีก็ไม่เป็น”
.
“เราจะเห็นเสมอว่า นักรัฐประหารทุกคนมักสร้างภาพตนเองให้ดูเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่หาประโยชน์เข้าตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งเหมือนแกล้งเป็นคนตาบอดหูหนวกไม่รู้ไม่ชี้เวลาบรรดาเครือญาติหรือเครือข่ายอุปถัมป์ของตนเข้าไปทำสิ่งเหล่านี้ เมื่อถูกตั้งคำถามก็ปัดว่าไม่รู้เรื่อง เป็นการทำธุรกิจตามปกติและมีกลไกการตรวจสอบทำหน้าที่อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ปิดหูปิดตาตัวเองเกินไป ก็น่าจะรับรู้รับทราบได้ว่ากลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐในประเทศนี้ที่อ้างถึงล้วนถูกทำลายหรือทำให้ง่อยเปลี้ยไปหมดแล้ว ที่เห็นกันตำตาก็เช่น กรณีแหวนแม่นาฬิกาเพื่อน องค์กรตรวจสอบเองกลับเป็นหน่วยงานที่กระตือรือล้นเป็นอย่างยิ่งในการหาสรรหาคำมาชี้แจงแทน ซึ่งเป็นการหลบเลี่ยงการพิทักษ์ประโยชน์ให้ประชาชน
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่นักการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจในการให้คุณให้โทษหน่วยงานรัฐต่าง ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษามาตรฐานทางจริยธรรม ระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและบุคคลใกล้ชิด ต้องไม่ให้มีข้อครหาถึงการ ‘เอื้อประโยชน์’ ซึ่งถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจกับภาครัฐถือเป็นเรื่องปกติไม่ว่าจะเป็นนามสกุลใดก็ต้องทำได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสามารถอธิบายต่อสาธารณะได้อย่างไม่มีข้อกังขา รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลจะพยายามสร้างความโปร่งใส มีการสนับสนุนให้เปิดเผยข้อมูลภาครัฐและยอมให้ฝ่ายค้านรวมถึงประชาชนทั่วไปตรวจสอบได้อย่างเต็มที่
.
“รัฐบาลที่มีความโปร่งใสทางการเมือง ดัชนีชี้วัดที่สำคัญคือความสามารถของประชาชนที่จะเข้าถึงข้อเท็จจริงไม่ว่า เอกสารหรือข้อมูลของรัฐ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สามารถตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงสัญญาหรือสัมปทาน ของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐได้อย่างเต็มที่