ส่อง “สตอรี่” อะไรซ่อนอยู่ !! "หุ้น SVT"
“ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี” ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติธุรกิจอนาคตใหม่ “เครือสหพัฒน์” ที่กำลังเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล หลังพฤติกรรมเปลี่ยนสะท้อนผ่าน 2 ปี มูลค่าตลาดโต “เท่าตัว” ฟาก "หุ้น SVT" 3 วันทำการราคาพุ่ง 193%
ใน “ยุคดิจิทัล” หนึ่งในโจทย์หินของเจ้าของธุรกิจ นั่นคือ ต้องสามารถตอบโจทย์อำนวยความสะดวกสบายให้ “ลูกค้า” ได้ !!และ บมจ. ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี หรือ SVT ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ภายใต้แบรนด์ “SUN Vending” ธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ของโลกยุคใหม่...
และอาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ราคาหุ้น SVT สร้าง “ผลตอบแทน” (รีเทิร์น) นับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา ระดับ 193.30% เทียบจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปทำ “จุดสูงสุด” ( New High) 7.45 บาท จากราคาไอพีโอ 2.54 บาท
“ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี” เดิม บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทยแบบครบวงจรมากว่า 20 ปี ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ “กลุ่มโชควัฒนา” ภายใต้ บมจ.สหพัฒนพิบูล และบริษัทในเครือ สัดส่วน 44.02% กลุ่มครอบครัวโชควัฒนา (ไม่ใช่กรรมการและผู้บริหารของ SVT) และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม สัดส่วน 17.23% กรรมการ (นามสกุลโชควัฒนา) และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม สัดส่วน 5.85% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO)
“พิศณุ โชควัฒนา” กรรมการรองผู้อำนวยการสายงานการผลิต บมจ. ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี หรือ SVT เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2562-2563) ตลาดเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมีอัตราการเติบโต “เท่าตัว” สะท้อนผ่านปี 2562 มูลค่าตลาดเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 16,000 ตู้ และปี 2563 ขยับขึ้นมาเป็น 5,300 ล้านบาท คิดเป็น 30,000 ตู้
การเข้าระดมทุน ! จึงเป็น “การปลดล็อก” เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตตามทิศทางของอุตสาหกรรม สอดคล้องกับเงินระดมทุนที่บริษัทนำมา “ลงทุน” โดย “ซื้อเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” จำนวน 280 ล้านบาท เพื่อขยายการติดตั้งการให้บริการเป็น 20,000 เครื่อง ภายในปี 2566 และให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการขยายการติดตั้งเครื่องอัตโนมัติด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ในรูปแบบ Franchise รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
และ “พัฒนาระบบและจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ แบบ Smart” จำนวน 210 ล้านบาท อย่าง การติดตั้งจอสัมผัสบนเครื่องอัตโนมัติ , การติดตั้งระบบ Vending Machine Control (VMC) , การติดตั้งระบบ Vending Machine management (VMM) รวมทั้งการพัฒนาโปรแกรมเพื่อให้รองรับกับความต้องการของลูกค้า และทิศทางขององค์กรสำหรับเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติแบบออนไลน์
โดยแผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) ตั้งเป้าหมายขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง... “ในประเทศ” บริษัทมีแผนการที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 3 สาขา ภาคเหนือ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ รวมถึงบริษัทมีเป้าหมายที่จะติดตั้งให้บริการเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ครบ 20,000 เครื่อง เป็นเครื่องอัตโนมัติประเภทรองรับเงินสดและการชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ (Cashless) หรือตู้ Smart จำนวน 15,000 เครื่อง ภายในปี 2566
ทั้งนี้ การขยายกลุ่มลูกค้าบริษัทมีเป้าหมายขยายทั้งในพื้นที่ปิดและเปิด ซึ่งที่ผ่านมาตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของบริษัทอยู่ในพื้นที่ปิด อย่าง โรงงานอุตสาหกรรม, แวร์เฮ้าส์ หรือ ศูนย์บริการโลจิสติกส์ต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 70% โดยเป็นจุดที่ได้รับการตอบรับอย่างดี เพราะว่าพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่การทำงานถูกจำกัดพื้นที่บริเวณโดยรอบไม่ค่อยมีร้านค้า ซึ่งทำให้พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมนิยมใช้บริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในปี 2564 บริษัทมีการเติบโตจากรายได้พื้นที่ปิด เนื่องจากว่าเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวชะงัก ทำให้พื้นที่บางส่วนถูกปิด ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ หรือการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน แต่มีเครื่องจักรเพียงตัวเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย คือ “การผลิต” ซึ่งจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม
สะท้อนผ่าน “ภาคส่งออก” มีอัตราการเติบโตมาก ทำให้โรงงานเดินเครื่องผลิตสินค้าต่อเนื่องไม่มีหยุดผลิต ดังนั้น จึงเป็นผลดีต่อการใช้งานตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของบริษัทในพื้นที่ปิด และยิ่งในปีนี้โรงงานต่างๆ ระมัดระวังพนักงานไม่ไห้ออกมาภายนอกโรงงาน เนื่องจากกลัวในเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่บริษัทได้ประโยชน์เต็ม
โดยปัจจุบันบริษัทมีศูนย์กระจายสินค้า 11 แห่ง และคอบคุมพื้นที่ 26 จังหวัด และจากการสำรวจดูแล้วมีโรงงานที่บริษัทยังไม่ได้ให้บริการอยู่ประมาณ 5,000-6,000 โรงงาน สอดรับกับแผนในอนาคตจะขยายสาขาเพิ่มอีกในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ซึ่งมองว่าศักยภาพของตลาดโรงงานอุตสาหกรรมสูง เนื่องจากเป็นการตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มโรงงานในช่วงเวลากลางคืน
เขา แจกแจงต่อว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มสนใจกลุ่มลูกค้าในพื้นที่เปิดมากยิ่งขึ้น หลังเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม หันมานิยามการใช้บริการผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเจ้าของพื้นที่เชิงพาณิชย์เปิดรับบริการตู้จำหน่ายสินค้าไปติดตั้งในพื้นที่ สะท้อนภาพในปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายในธุรกิจค้าปลีก (รีเทล) หรือ แม้แต่เจ้าของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อต่างๆ เริ่มเล็งเห็นถึงเทรนด์การขายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทำให้ตลาดมีการเติบโตรวดเร็ว
ดังนั้น การขยายฐานลูกค้าในพื้นที่เปิดจึงมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยตลาดพื้นที่เปิดที่บริษัทมีเป้าหมายนำตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติไปวางจะเป็น ห้างสรรพสินค้า , โรงพยาบาล , สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ
นอกจากนี้ บริษัทขยายติดตั้งเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ในรูปแบบแฟรนไชส์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และพัฒนาตู้ปัจจุบันที่ยังเป็นรููปแบบธรรมดา ให้เป็นรูปแบบสมาร์ทในระดับ 75% ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบตู้สมาร์ทเพียง 10% ของตู้ทั้งหมด ดังนั้น SVT ยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปได้อีกมา
รวมทั้งบริษัทยังมีแผนที่จะใช้เครื่องจำหน่ายสินค้าแบบ Smart เพื่อขายสื่อโฆษณาผ่านจอ LCD หน้าเครื่อง เป็นการเพิ่มรายได้อีกช่องทาง และการพัฒนาสินค้าที่เป็นแบรนด์สินค้าของ SVT สำหรับจำหน่ายผ่านเครื่องอัตโนมัติของบริษัท เพื่อเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายสินค้า
“เป้าหมายที่จะติดตั้งให้บริการเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ครบ 20,000 เครื่องภายใน 2 ปีข้างหน้า จะทำให้ SVT ยังเป็นผู้นำอันดับ 1 ของไทยอยู่”
สำหรับการขยาย “ต่างประเทศ” บริษัทมีแผนขยายไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะใน CLMV (สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งคาดว่าจะไปประเทศเวียดนามเป็นประเทศแรก ในลักษณะร่วมกับพาร์ทเนอร์ คาดได้เห็นภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาพันธมิตรอยู่ แต่ติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนออกไป
โดยในประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก และมีการเติบโตของเศรษฐกิจ จึงเป็นประเทศที่มีโอกาสในการเติบโต โดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเโควิด-19 บริษัทก็พร้อมที่จะเข้าไปขยายได้ทันที
“คิดว่าภายใน 2 ปีนี้คงจะไป ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้นก็เดินหน้าต่อ ที่เลือกเวียดนามเพราะมองอนาคตเศรษฐกิจเวียดนามโตได้มากกว่ากัมพูชา หรือ สปป.ลาว และภาคอุตสาหกรรมในเวียดนามยังเติบโตได้อีกมาก”
อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2565 เติบโตไม่น้อยกว่า 25% ตามแผนขยายตู้เพิ่ม และขยายสาขา รวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ในรูปแบบแฟรนไชส์ การเพิ่มโฆษณาต่างๆ และมีอัตรากำไรสุทธิที่ระดับ 5% จากปี 2564 คาดรายได้ 2,000 ล้านบาท โดยไตรมาส 4 ปี 2564 หลังรัฐคลายล็อกดาวน์ทำให้พื้นที่เปิดมียอดขายกลับคืนมาทำให้รายได้เติบโตตามเป้าหมาย
ท้ายสุด “พิศณุ” กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า SVT จะเป็นหุ้นรีเทลเทคโนโลยี เป็นหุ้นเติบโตได้ดี (Growth Stock) รายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วย