แก้อุปสรรคลงทุน ดันเศรษฐกิจหลังโควิด
สิ่งสำคัญหลังจากนี้ การกำหนดสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกการลงทุนทำธุรกิจ คือ "การแก้ปัญหาและอุปสรรค" โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรคจากกฎหมาย ซึ่งยังมีหลายประเด็นที่แก้ไขแล้วจะทำให้อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยดีขึ้น
การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อรายแรกมาตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2563 และหลังจากนั้นการระบาดมีความรุนแรงและยืดเยื้อต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน เกิดคลัสเตอร์สำคัญที่เป็นต้นตอการระบาด ทั้งคลัสเตอร์สนามมวย คลัสเตอร์สถานบันเทิง และคลัสเตอร์โรงงาน ซึ่งทำให้ถึงวันที่ 10 ต.ค. 2564 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรวม 1.71 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อจีดีพีและการลงทุนภายในประเทศลดลงอย่างมาก
ในขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2564 และหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการออกหลักเกณฑ์หรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายการเข้าเมือง เพื่อดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ เช่น ผู้ที่มีความมั่งคั่ง ผู้เกษียณอายุที่มีรายได้สูง เพื่อให้เข้ามาลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และลงทุนอสังหาริมทรัพย์
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยที่ ครม.เห็นชอบ มีเป้าหมายที่จะดึงชาวต่างชาติเข้ามาพำนักในประเทศไทยระยะยาว 1 ล้านคน โดยคาดว่าข้อเสนอวีซ่าผู้พำนักระยะยาวและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติจำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งได้มีการสำรวจความคิดเห็นและประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งให้ความเห็นชอบว่าเป้าหมายโครงการมีความเป็นไปได้สูง
การลงทุนในปี 2564 ยังคงได้รับปัจจัยเสี่ยงผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนยังขยายตัวได้ดี โดยเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รายงานสถิติล่าสุดของภาวะการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 พบว่ามีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 401 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 14% และมูลค่าการลงทุน 123,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% ทำให้ปีนี้บีโอไอคาดว่าการลงทุนมีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าถึง 700,000 ล้านบาท
สิ่งสำคัญนอกจากนี้ การกำหนดสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกการลงทุนทำธุรกิจ คือการแก้ปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรคจากกฎหมาย ซึ่งยังมีหลายประเด็นที่แก้ไขแล้วจะทำให้อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยดีขึ้น
และการจัดอันดับดังกล่าว ธนาคารโลกเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับการยอมรับเป็นตัวชี้วัดของนักลงทุนทั่วโลก ดังนั้น ดึงการลงทุนจากต่างประเทศจึงต้องใช้หลายเครื่องมือ นอกจากสิทธิประโยชน์