คลังพร้อมลดภาษีจูงใจต่างชาติลงทุนในไทย

คลังพร้อมลดภาษีจูงใจต่างชาติลงทุนในไทย

คลังชี้ลดภาษีไม่ใช่แรงจูงใจหลักดึงต่างชาติลงทุน แต่พร้อมพิจารณาตามมติครม.โดยสรรพากรจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงเหลือ 17% ด้านสบน.พิจารณาเงื่อนไขการถือครองพันธบัตรเพื่อให้ได้สิทธิฟรีวีซ่า ขณะที่ กรมศุลฯชี้ลดภาษีนำเข้าสินค้าเหล้าบุหรี่ไม่จูงใจต่างชาติลงทุน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมฯอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดมาตาการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงเหลือ 17% เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้สภาพัฒน์เป็นผู้ประสานงาน เนื่องจาก มีหลายมาตรการและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

ทั้งนี้ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยนั้น เป็นอัตราตามขั้นบันได ตามช่วงรายได้แต่ละช่วง โดยรายได้สุทธิที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรกได้รับการยกเว้นภาษี และรายได้ตั้งแต่ 150,001 ถึง 300,000 บาท/ปี เสียภาษีในอัตรา 5%  และกรณีมีรายได้มากกว่า 5 ล้านบาท/ปี จะเสียภาษีในอัตรา 35 % ซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุด

เขากล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ประเทศขาดแคลน ซึ่งจะใช้เกณฑ์เดียวกับที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในเขต EEC  เพียงแต่ว่ามาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติของกรมสรรพากรนั้น จะให้กับผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในทุกแห่งในประเทศไทย ไม่จำเพาะเขตใดเขตหนึ่งเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม มาตรการลดภาษีดังกล่าว จะให้เป็นระยะเวลานานแค่ไหน กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

อ่านข่าว : ลุ้นปี 65 ดึง ต่างชาติ 15 ล้านคนเที่ยวไทย

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า มาตรการที่เป็นแรงจูงใจทางภาษีนั้น ไม่ใช่เงื่อนไขหลักในการดึงดูดให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่เงื่อนไขอื่นไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัยของประเทศที่เขาจะไปอาศัยอยู่,สภาพแวดล้อม,โรงเรียนสำหรับลูกที่จะตามพ่อแม่มาด้วย รวมถึง โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากกว่า  ทำให้บางประเทศไม่เห็นความจำเป็นของมาตรการลดภาษีเพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในประเทศของตนเอง ก็ได้ยกเลิกมาตรการดังกล่าวไป เช่น มาเลเซีย

นอกจากนั้น ในบางประเทศก็มีข้อกำหนดเรื่องกฎหมายภาษี ที่ไม่ว่าคนอเมริกันจะไปทำงานที่ไหนในโลก จะต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอเมริกัน เป็นต้น

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมฯพิจารณาลดพิกัดอัตราอากรขาเข้าสำหรับสินค้าประเภทไวน์ สุรา และ และยาสูบประเภทซิการ์ ลงเกินกึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาพำนักในไทยนั้น ขณะนี้ กรมฯได้พิจารณารายละเอียดเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณา

ทั้งนี้ กรมฯได้พิจารณาและจะได้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลดพิกัดอัตราอากรขาเข้าสินค้าดังกล่าวว่า จะมีหรือไม่มีประโยชน์อะไรต่อการดึงนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาพำนักในประเทศไทย ซึ่งเห็นว่า การลดอัตราภาษีอาจไม่ได้เป็นแรงจูงใจหลัก เพราะปัจจุบันอัตราภาษีศุลกากรที่จัดเก็บก็อยู่ในระดับต่ำหรือราว 30-60% ของราคาสินค้าที่สำแดง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีราคาสูง

“เราเห็นว่า นักลงทุนต่างชาติที่ร่ำรวย เขาก็มีศักยภาพในการซื้อหาสินค้าดังกล่าวได้อยู่แล้ว ขณะที่ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันของกรมฯก็มีอัตราไม่สูงและเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอัตราภาษีที่จัดเก็บในสินค้าดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น เราก็คิดว่า เรื่องของอัตราภาษีไม่ได้เป็นแรงจูงใจมากนัก อย่างไรก็ตาม หากทางกระทรวงการคลังเห็นว่า การลดภาษีของกรมฯมีประโยชน์และจูงใจในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา เราก็ยินดีที่จะปฏิบัติตาม”

ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)กล่าวถึงหนึ่งในเงื่อนการให้วีซ่าระยะยาวแก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลตามที่รัฐบาลกำหนดว่า ปัจจุบันทางสบน.ไม่ได้มีข้อจำกัดด้านวงเงินในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติ เพียงแต่ต้องซื้อผ่านกองทุนหรือสถาบันการเงินเท่านั้น และจะยกเว้นเฉพาะการเข้าซื้อพันธบัตรออมทรัพย์เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ทางสบน.จะต้องพิจารณาในเงื่อนไขระยะเวลาการถือครองว่า จะต้องถือครองการลงทุนในพันธบัตรของไทยในระยะเวลาที่เท่าใด จึงจะได้วีซ่าระยะยาว หากขายพันธบัตรก่อนกำหนดจะเข้าข่ายในลักษณะใด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ กำลังพิจารณาในรายละเอียดเพื่อสร้างแรงจูงใจการเข้ามาพำนักในประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติ