กรุงเทพไม่ปลอดภัย ? ไม่ตอบโจทย์อนาคต ?

กรุงเทพไม่ปลอดภัย ? ไม่ตอบโจทย์อนาคต ?

เมื่อความเป็นไปของ "กรุงเทพฯ" ส่งผลต่อประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ทั้ง "มิติ" เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ดังนั้น รัฐบาลและผู้บริหารกรุงเทพฯ ควรใส่ใจ บริหารกรุงเทพฯ ให้ปลอดภัยและตอบโจทย์อนาคตมากขึ้น !!

ผลสำรวจความปลอดภัยของเมืองทั่วโลก โดย The Economist Intelligence Unit ปีนี้ กรุงเทพฯ ได้อันดับที่ 43 จาก 60 เมืองทั่วโลก 

โดย 10 เมืองที่ปลอดภัยมากสุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ โคเปนเฮเกน โทรอนโต สิงคโปร์ ซิดนีย์ โตเกียว อัมสเตอร์ดัม เวลลิงตัน ฮ่องกง เมลเบิร์น และสต็อกโฮล์ม ส่วน 10 เมืองที่ปลอดภัยน้อยสุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ ย่างกุ้ง การาจี การากัส ไคโร ลากอส คาซาบลังกา ธากา คูเวต บากู และมะนิลา

ในการสำรวจ พิจารณาความปลอดภัยของเมือง 5 ด้าน คือ ความปลอดภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยด้านดิจิทัล ความปลอดภัยส่วนบุคคล ความปลอดภัยทางสุขภาพ และความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตัวชี้วัด 76 ตัว เช่น มลพิษทางอากาศ อัตราการเกิดอาชญากรรม ฯลฯ สำรวจทุก 2 ปี จัดทำครั้งแรกในปี 2015

ในการจัดอันดับ มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ด้านที่ กรุงเทพฯ ได้คะแนนมากสุด คือ ด้านความปลอดภัยทางสุขภาพ ได้ 73.1 คะแนน ด้านที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ ความปลอดภัยส่วนบุคคล ได้ 46.4 คะแนน ขณะที่ด้านความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานได้ 65.7 คะแนน ความปลอดภัยด้านดิจิทัลได้ 52.7 คะแนน ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมได้ 62.9 คะแนน

ถ้าเทียบกับเมืองในอาเซียนด้วยกันที่ได้คะแนนความปลอดภัยสูงสุด คือ สิงคโปร์ สิงคโปร์ได้คะแนนรวม 80.7 คะแนน ได้คะแนนด้านความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐาน 92.1 คะแนน ความปลอดภัยด้านดิจิทัล 82.8 คะแนน ความปลอดภัยส่วนบุคคล 74.5 คะแนน ความปลอดภัยทางสุขภาพ 84.1 คะแนน ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม 69.9 คะแนน

ทั้งนี้ หากเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนในปี 2019 กรุงเทพฯ ได้อันดับดีขึ้น ในปี 2019 กรุงเทพฯ อยู่อันดับที่ 47 (จากการสำรวจ 60 เมือง) อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับการสำรวจครั้งแรกในปี 2015 กรุงเทพฯ ได้อันดับแย่ลง คราวนั้นกรุงเทพอยู่ลำดับที่ 39 (จากการสำรวจ 50 เมือง)

ความปลอดภัยของกรุงเทพฯ สำคัญต่อทั้งคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยว

สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญ ช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ธุรกิจและคนกรุงเทพฯ ความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวว่าจะเที่ยวเมืองใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกรุงเทพฯ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ในปี 2018 กรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนและค้างคืนมากถึง 22.78 ล้านคน (ผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ด) หากกรุงเทพฯ ปลอดภัยขึ้น ย่อมจูงใจให้นักเดินทางมาเพิ่มขึ้น

สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่พักอาศัยและใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว ความปลอดภัยยิ่งสำคัญ เพราะหมายถึงคุณภาพชีวิต ความสุขของตัวเองและคนในครอบครัว

จากผลสำรวจ รัฐบาลและผู้บริหารกรุงเทพฯ ต้องเร่งสร้างความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 ด้าน เพื่อตอบโจทย์ปัจจุบันและอนาคต

1)ในมิติความปลอดภัยส่วนบุคคล ที่ได้คะแนนต่ำสุด ได้เพียง 46.4 คะแนน หรือเรียกว่าสอบตก รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขมากสุด ตัวอย่างสถิติความไม่ปลอดภัยเช่น ในปี 2564 คดีความรุนแรงทางเพศ/ข่มขืนกระทำชำเราในกรุงเทพฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2563 จาก 96 คดี เป็น 103 คดี (ข้อมูลระหว่าง 1 ม.ค. - 31 ส.ค. ของแต่ละปี)

2)ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำคัญต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในยุคโควิด ที่คนเมืองต้องการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทำกิจกรรมภายนอกอาคาร ต้องการสถานที่ที่สะอาด ปลอดภัย รัฐบาลจะดูแลจัดการอย่างไร ตัวอย่างเช่น จำนวนพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพต่อคนที่ต่ำมาก จากการประเมินของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 7 ตารางเมตร/คน (ถ้ารวมประชากรแฝง อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวเหลือ 3.54 ตารางเมตร/คน) ต่ำกว่าเกณฑ์ของ WHO ที่ระบุว่าควรมี 9 ตารางเมตร/คน ขณะที่อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในเอเชียเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ตารางเมตร/คน สิงคโปร์มี 66 ตารางเมตร/คน กัวลาลัมเปอร์มี 50 ตารางเมตร/คน 

นี่ยังไม่รวมคำถามใหญ่ๆ อย่างภาวะโลกร้อนที่กำลังทำให้กรุงเทพฯ จมน้ำ ผู้บริหารกรุงเทพฯ จะรับมืออย่างไร 

3)ด้านดิจิทัล ซึ่งนับวันเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากขึ้น ผู้คนใช้ช่องทางดิจิทัล 24 ชั่วโมงทั้งทำงานและพักผ่อน ความปลอดภัยทางดิจิทัลจึงสำคัญมากขึ้น หากกรุงเทพฯ มีความปลอดภัยทางดิจิทัลสูง อาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตต่ำ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เอื้อให้เกิดธุรกิจสมัยใหม่อย่างสตาร์ทอัพ และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จูงใจให้ธุรกิจและแรงงานทักษะสูงเลือกใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจและทำงาน

ทั้งนี้จากการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะในปี 2020 (Smart City Index) โดยสถาบัน IMD กรุงเทพฯ อยู่ที่อันดับ 71 จาก 109 เมือง ถ้าเทียบกับในอาเซียนด้วยกัน กรุงเทพฯ อยู่อันดับ 3 เป็นรองสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ เพื่อให้กรุงเทพฯ แข่งขันทางดิจิทัลได้มากขึ้น ความปลอดภัยทางดิจิทัลคือหัวใจสำคัญ

ความเป็นไปของกรุงเทพฯ ส่งผลต่อประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ทั้งมิติเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต รัฐบาลและผู้บริหารกรุงเทพฯ ควรใส่ใจ บริหารกรุงเทพฯ ให้ปลอดภัยและตอบโจทย์อนาคตมากขึ้น