เปิดเบื้องลึก "ประยุทธ์" ตัดสินใจเด็ดขาด เดินหน้าเปิดประเทศ 1 พ.ย.
การตัดสินใจครั้งสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ขาวต่างชาติเริ่มเข้าประเทศไทยได้แบบไม่ต้องกักตัว การตัดสินใจบนฐานของข้อมูล ทีมที่ปรึกษาสาธารณสุข ปัจจัยที่ทำให้เดินหน้ามีเบื้องลึก เบื้องหลังอย่างไร
เป็นที่ชัดเจนว่าในวันที่ 1 พ.ย.2564 ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านช่องทางอากาศ เข้ามายังประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัว
โดยมีเงื่อนไขเพียงเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ มีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ มีผลการฉีดวัคซีนครบโดส ก็สามารถที่จะเดินทางไปยังสถานที่และจังหวัดต่างๆในประเทศไทยได้
ตามเงื่อนไขดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา
แม้ในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีจะได้ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการ “เปิดประเทศ” อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ย.ว่าเกี่ยวข้องเหตุผลในด้านเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ภาคการท่องเที่ยวจะสามารถสร้างรายได้สูงในช่วงไฮต์ซีซั่นของปี รวมทั้งประเทศต่างๆเริ่มมีการผ่อนปรนให้ประชาชนสามารถเดินทางออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศได้ง่ายมากขึ้น หลังจากที่จำกัดเข้มงวดช่วงที่การระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
“..ผมรู้ว่าการตัดสินใจแบบนี้มีความเสี่ยง ที่เกือบจะแน่นอนเลยว่า เมื่อเราเริ่มต้นการผ่อนคลายต่างๆ จะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นการชั่วคราว ซึ่งเราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินดูว่า เราจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร เราต้องไม่ปล่อยโอกาสนี้ เพราะถ้าเราต้องเสียโอกาส ในช่วงเวลาทอง ของการทำมาหากินไปอีก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ผมคิดว่าประชาชนคงรับมือไม่ไหวอีกต่อไป”
เป็นคำอธิบายถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศ
นอกจากเหตุผลในเรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์กล้าตัดสินใจเดินหน้าเปิดประเทศ แม้จะยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละนับหมื่นคนต่อวันก็ตาม กลับเป็นข้อมูลด้านสาธารณสุขที่ได้รับจากทีมที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
แหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลเปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ"ว่าการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการรับฟังข้อมูลจากทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข โดยมีข้อมูล 3 ส่วนที่ถูกนำมาพิจารณาว่าจะสามารถเดินหน้าเปิดประเทศได้หรือไม่
1.ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยสะสมล่าสุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่ใส่เครื่องช่วยหายใจมีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่เคยมีมากกว่า 2,000 ราย ลดลงเหลือต่ำกว่า 800 ราย ซึ่งไม่เกินศักยภาพการรักษาของสถานพยาบาล และเครื่องไม้เครื่องมือในการรับมือกับสถานการณ์มีเพียงพอ
2.จำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการฉีดวัคซีนในช่วงหลังมีการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวันในปริมาณที่สูงคือทำได้กว่า 7 – 8 แสนโดสต่อวัน ทำให้ยอดสะสมการฉีดวัคซีนทั่วประเทศเกิน 60 ล้านโดสต่อวัน และด้วยปริมาณการฉีดวัคซีนในจำนวนและความเร็วเท่านี้ ประกอบกับการนำเข้าวัคซีนมีจำนวนมากขึ้น จะทำได้การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครอบคลุมได้เกินกว่าเป้าหมาย 70% ของประชาชนในประเทศได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้
นอกจากนั้นในรายงานของทีมที่ปรึกษายังระบุถึงเหตุผลสำคัญที่จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ก็คือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสนามบินดอนเมือง และใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะเป็นประตูในการรับนักท่องเที่ยวมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมาก
โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากก่อนจะเดินทางไปจังหวัดอื่นๆสัดส่วนการฉีดวัคซีนแทบจะเกินกว่า 100% ของประชากรที่ได้รับวัคซีน ซึ่งหากเร่งการฉีดวัคซีนในช่วงที่เหลือของเดือนนี้ได้เร็วปริมาณการรับวัคซีนของคนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลก็จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแทบจะ 100% แล้ว ดังนั้นหากมีการแพร่ระบาดก็จะสามารถป้องกันจากการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้
3.เหตุผลในเรื่องของยารักษโควิด -19 ซึ่งทีมที่ปรึกษาสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันยารักษาโควิด-19 ของไทยที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นหลักในการรักษามีจำนวนมากเพียงพอ นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างรอที่จะลงนามในสัญญาสั่งซื้อยา "โมลนูพิราเวียร์" (Molnupiravir) ของบริษัทเมิร์ค ซึ่งเบื้องต้นได้มีการเจรจาที่จะซื้อยาล็อตแรกหลังจากที่ยาผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) และผ่านการตรวจสอบจากองค์การอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีการหารือกับบริษัท เมิร์ค ให้เข้ามาลงทุนผลิตยา โมลนูพิราเวียร์ ในประเทศไทย เพื่อให้มีปริมาณยาที่เพียงพอกับความต้องการด้วยราคาที่ถูกลง
ด้วยเงื่อนไขทางสาธารณสุขทั้งหมดที่นายกรัฐมนตรีได้รับฟังจากทีมที่ปรึกษา จึงทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจที่จะออกแถลงการณ์เดินหน้าเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยการตัดสินใจในครั้งนี้ถือเป็นการเดิมพันที่สำคัญครั้งหนึ่งว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวในช่วงโค้งสุดท้ายของปีส่งต่อไปถึงปีหน้า
...หรือจะนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่แน่นอนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก