พิษโควิดฉุดรายได้ภาษี ‘ต่ำเป้า’ เกือบ 3 แสนล้าน
ผลกระทบจากโควิด 19 ฉุดยอดการจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษีปีงบประมาณ 64 ต่ำเป้าจากเอกสารงบประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาท หวังปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นตัว จัดเก็บรายได้ดีขึ้น
อธิบดีกรมสรรพากร เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ระบุ คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ กรมฯจะจัดเก็บรายได้จากภาษีทุกประเภทได้ 1.87 ล้านล้านบาท หรือต่ำกว่าประมาณ 2 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับเป้าหมายการจัดเก็บเดิมที่กระทรวงการคลังกำหนดให้กรมฯจัดเก็บ 2.085 ล้านล้านบาท
การจัดเก็บรายได้ของกรมฯในปีที่ผ่านมามุ่งไปที่กลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เช่น กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์รวมถึง การใช้ Data Analyticในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียภาษี และดึงผู้ที่อยู่นอกระบบภาษีเข้าสู่ระบบภาษี ทำให้ผลการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าปีงบประมาณ 2563 และสามารถดึงคนที่อยู่นอกระบบภาษีเข้าสู่ระบบภาษีได้อีกหลายแสนคน
อธิบดีกรมสรรพสามิต ลวรณ แสงสนิท ระบุ ในปีงบประมาณนี้กรมฯจัดเก็บรายได้ 5.4 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ตั้งไว้ 6.3 แสนล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายการจัดเก็บที่ปรับปรุง 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลพวงจากโควิด 19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งการขนส่งและการเดินทางชะลอตัว จึงกระทบต่อการใช้น้ำมันและการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็นรายได้หลักของกรมฯ
ส่วนปีงบประมาณ 2565 กรมฯได้รับเป้าหมายจัดเก็บที่ 6 แสนล้านบาท ส่วนจะจัดเก็บได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อการบริโภคของประชาชน
ด้านอธิบดีกรมศุลกากร พชร อนันตศิลป์ ระบุ ในปีนี้กรมฯจัดเก็บรายได้ 1.02 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณเล็กน้อยที่ตั้ง 1.04 แสนล้านบาท แต่สูงกว่าเป้าหมายที่ปรับปรุงแล้วที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นช่วงที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าทั่วไปมากขึ้น กรมฯจึงเก็บภาษีได้ดี
ส่วนปีงบประมาณ 2565 กรมฯได้รับเป้าหมายที่ 1 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจแล้วเชื่อว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในส่วนของการนำเข้าสินค้าเกษตรน่าจะดีขึ้น หลังจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนก็น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง