‘มือใหม่’ เริ่มลงทุนใน ‘Bitcoin’ ต้องทำอย่างไร?
บรรดานักวิเคราะห์คาดทิศทาง Bitcoin สดใสในปีต่อไป สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นลงทุน Bitcoin ด้วยตัวเอง ควรรู้อะไรก่อนลงทุนและต้องทำอย่างไรบ้าง ?
เมื่อราคา "Bitcoin" ได้ขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่เหนือระดับ 2,000,000 บาทในปี 2021 ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ก็มองว่าทิศทาง Bitcoin ในปีต่อไปก็น่าจะสดใสอีกเช่นกัน จึงไม่แปลกที่หลายๆคนจะเริ่มหันมาให้ความสนใจลงทุนใน Bitcoin
ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้กันว่า หากคุณสนใจ Bitcoin และอยากเริ่มลงทุน คุณจะสามารถเริ่มต้นด้วยตัวเองได้อย่างไรบ้าง ?
อันดับแรก ก่อนที่จะลงทุนในสินทรัพย์ใดๆเราต้องเข้าใจพื้นหลังของสินทรัพย์นั้นๆเสียก่อน Bitcoin ก็เช่นกัน โดย Bitcoin คือสกุลเงินดิจิทัลตัวแรกของโลกที่เป็น “Decentralized” หรือ “กระจายศูนย์” แตกต่างกับเงินดิจิทัลแบบ Centralized หรือแบบมีตัวกลางที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
Bitcoin ถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลหรือองค์กรที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครทราบว่าแท้จริงแล้วเค้าคือใครกันแน่ โดย Satoshi สร้าง Bitcoin ขึ้นมาให้มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญ ปัจจุบันมี Bitcoin ไหลเวียนอยู่ในระบบประมาณ 19 ล้านเหรียญ
ด้วยความที่เป็น Decentralized ทำให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ไม่ถูกควบคุมโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง กล่าวคือสามารถตัดตัวกลางในการดำเนินธุรกรรมไปได้นั่นเอง เมื่อไม่มีตัวกลาง การดำเนินธุรกรรมต่างๆด้วย Bitcoin จึงมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงอย่างมาก รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินธุรกรรมต่างๆก็จะลดน้อยลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นการโอนเงินข้ามประเทศ คุณจำเป็นต้องเดินไปที่ธนาคารเพื่อยื่นเรื่องทำธุรกรรม ทางธนาคารก็จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนเงินครั้งละ 10-15% ซึ่งถือว่าเยอะมากๆสำหรับการทำธุรกรรมครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณทำธุรกิจที่ต้องมีการโอนเงินไปต่างประเทศ แต่ถ้าใช้ Bitcoin คุณสามารถส่ง Bitcoin ผ่านแอปพลิเคชั่นที่รองรับไปยัง Wallet ของผู้รับ จากนั้นผู้รับสามารถนำ Bitcoin มาแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินผ่านบริการของ Exchange ในประเทศนั้นๆได้นั่นเอง
- Blockchain คืออะไร?
เทคโนโลยีเบื้องหลัง Bitcoin ก็คือ Blockchain หรือเรียกอีกชื่อว่า Public Ledger “สมุดบัญชีสาธารณะ” นั่นเอง ซึ่งก็คือการที่ทุกคนในเครือข่ายจะถือสมุดบัญชีกันคนละเล่ม โดยในสมุดบัญชีจะมีข้อมูลการดำเนินธุรกรรมทุกอย่างบันทึกลงไป พอมีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้น เช่น A ส่ง Bitcoin จำนวน 0.05 เหรียญให้กับ B ทุกคนในเครือข่ายจะรับทราบและมีการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมนั้นๆ โดยผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมก็คือเหล่านักขุดนั่นเอง
เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่บนบล็อกเชนจะอยู่ในรูปแบบของรหัส Hash function จึงต้องมีการแก้ไขสมการโดยใช้พลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ซึ่งเหล่านักขุดจะแข่งขันกันใช้คอมพิวเตอร์แก้ไขสมการ ผู้ที่แก้สมการได้ก่อนจะมีสิทธิ์ในการเซ็นรับรองธุรกรรม ส่วนนักขุดที่แก้สมการสำเร็จทีหลังก็จะเข้ามาช่วยรับรองความถูกต้องของธุรกรรมนั้นๆให้อีกขั้นหนึ่ง ก่อนที่จะส่งข้อมูลธุรกรรมนั้นๆขึ้นไปอยู่บนเครือข่ายแบบถาวรสำหรับการตรวจสอบย้อนหลัง นักขุดที่แก้สมการสำเร็จก่อนก็จะได้รับ Bitcoin ที่ยังไม่มีในระบบไปเป็นรางวัลตอบแทน
สาเหตุที่ทำให้ Blockchain มีความปลอดภัยสูงมากเป็นเพราะขนาดของเครือข่ายนั่นเอง ยิ่งเป็นเครือข่าย Blockchain ที่ใหญ่แค่ไหนก็จะยิ่งมีกำลังขุดหรือพลังในการประมวลผลโดยรวมสูงมากขึ้นเท่านั้น มิจฉาชีพที่ต้องการแฮคเครือข่ายหรือใส่ข้อมูลที่เป็นเท็จลงไปจำเป็นต้องมีกำลังในการประมวลผลสูงกว่า 51% ของทั้งเครือข่าย ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะกับ Bitcoin ที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่ใหญ่ที่สุด ณ ปัจจุบัน
ด้วยคุณสมบัติของ Blockchain ตามที่กล่าวมาช้างบน Bitcoin จึงแตกต่างกับสกุลเงินแบบเดิมหรือที่เรียก Fiat Currency ที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลางหรือรัฐบาลของแต่ละประเทศ ซึ่งธนาคารกลางสามารถพิมพ์เงิน Fiat Currency เหล่านี้ออกมาได้อย่างไม่จำกัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ตามมาคือปัญหาเงินเฟ้อ นั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หลายๆคนเริ่มหันเข้าหา Bitcoin กันมากขึ้นนั่นเอง
- Wallet คืออะไร?
“Wallet” หรือ “กระเป๋าเงิน” ก็คือที่เก็บ Bitcoin ของคุณนั่นเอง ซึ่งตัว Wallet จะมีสิ่งที่เรียกว่า Private Key และ Public Key โดย Public Key หมายถึงที่อยู่ของ Wallet ใช้สำหรับการรับ-ส่ง Bitcoin ขณะที่ Private Key เปรียบเสมือน “ลายเซ็น” ของคุณที่ใช้รับรองว่าคุณตั้งใจทำธุรกรรมนั้นๆจริง ดังนั้นคุณควรรักษา Private Key ให้ปลอดภัยจากสายตาของคนอื่นเสมอ
ในช่วงแรกที่ Bitcoin เกิดขึ้นมา มีการใช้สิ่งที่เรียกว่า Paper Wallet หรือกระดาษที่บันทึกทั้ง Private Key และ Public Key ลงไป แต่เนื่องจากตัวกระดาษมีโอกาสเสียหายหรือย่อยสลายได้ค่อนข้างง่าย จึงเริ่มมี Software Wallet เกิดขึ้น แต่ตัว Software Wallet ก็จะอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่พอจะใช้งานก็ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เกิดเป็นช่องว่างให้คนร้ายสามารถแทรกซึมเข้ามาได้
ดังนั้น Hardware Wallet จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เก็บรักษา Private Key โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและมีความทนทานเป็นอย่างมาก เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อ Bitcoin เพื่อเก็บไว้เป็นทรัพย์สินสำรองในระยะยาวนั่นเอง
- Exchange คืออะไร?
Exchange คือผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลตัวอื่นๆเป็นสกุลเงิน Fiat Currency หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดิจิทัลด้วยกันเอง โดยอาจมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเล็กน้อย ซึ่งในประเทศไทยมีผู้บริการ Exchange ที่ใหญ่สุดก็คือ Bitkub
ส่วนใหญ่แล้ว Exchange จะมีการใช้ Wallet ของตัวเองเพื่อให้สะดวกในการซื้อขาย และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ บาง Exchange ก็ใช้ทั้ง Software Wallet ร่วมกับ Hardware Wallet สำหรับการเก็บรักษาสินทรัพย์ของผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกที่จะเก็บ Bitcoin ของตัวเองไว้ใน Exchange หรือจะถอนออกมาเพื่อเก็บไว้ใน Wallet ของตัวเองก็ได้เช่นกัน