กนง.ชู ภาคการ “คลัง” เป็นพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ

กนง.ชู ภาคการ “คลัง” เป็นพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ

กนง.ชี้ภาคการคลัง ถือเป็นพระเอก ในการช่วยเยียวยาและฟื้นเศรษฐกิจ แนะเร่งออกมาตรการฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

        แม้ล่าสุดภาครัฐจะมีการประกาศ คลี่คลายมาตรการการควบคุมไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 และเตรียมพร้อมเปิดประเทศในวันที่ 1พ.ย.นี้ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาสู่ระดับปกติโดยเร็ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทย ก็ยังคงมีความเสี่ยงหลายประการ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องติดตามใกล้ชิด

      ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ไตรมาส 3 ในฉบับเดือนก.ย.2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยทั้งในปีนี้และปีหน้า ยังคงเผชิญความเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะปีนี้ ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากในไตรมาส 3 ปีนี้

      ขณะเดียวกันแม้ปัจจุบัน เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

      โดยเฉพาะ  ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูง ขึ้นจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่มีแนวโน้มทยอยลดการผ่อนคลาย โดยการลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และพูดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป เหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินและราคาสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ผันผวนขึ้น

       รวมไปถึง นักลงทุนยังมีความกังวล ต่อสถานการณ์โควิด-19 และ จากมาตรการตรวจสอบและควบคุมบางภาคธุรกิจในประเทศจีน และความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มบริษัท Evergrande ขณะที่ค่าเงินบาท เทียบดอลลาร์สหรัฐมีการเคลื่อนไหวสองทิศทางมากขึ้น ตามตลาดการเงินโลกที่ผันผวน 

       ดังนั้นหากมองไปข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนสูง จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยให้สมดุลและยืดหยุ่นขึ้น

     นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเพิ่ม  ทั้งพัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 รวมถึงความต่อเนื่องของแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ รวมถึงปัจจัยต่างประเทศที่ยังมีความผันผวนสูง

      ขณะที่ภาคส่งออกยังมีทิศทางขยายตัวต่ำลง และฟื้นตัวช้า จากปัญหา Supply disruption ของโลกที่รุนแรงยืดเยื้อกว่าคาดเล็กน้อย

      ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ ยังส่งผลไปสู่เศรษฐกิจไทยปี 2565 ให้มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้เมื่อมิ.ย. จากการระบาดที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังเผชิญกับแรงกดดัน จากตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น จากการระบาดหลายระลอก
 


       ดังนั้น กนง. มองว่า โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยควรมุ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด และความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

        ขณะเดียวกันเห็นว่า มาตรการการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้ง การเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยในระยะต่อไป ควรเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย

     นอกจากนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี เอื้อให้ภาครัฐสามารถผลักดันนโยบายเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

     แต่ระยะถัดไป ภาครัฐควรเตรียมแนวทางที่ชัดเจนเพื่อลดหนี้สาธารณะเพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังด้วย รวมถึงการหารายได้ใหม่เพิ่มเติมในอนาคต