วรพลแนะ 7 ข้อ สร้าง นิเวศน์เศรษฐกิจ ดึงผู้เชี่ยวชาญ - นักลงทุน
ระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ และการดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงาน และบะ
นโยบายที่จะดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และผู้มีรายได้สูงเข้ามาทำงาน และอยู่อาศัยในประเทศไทย เพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการใช้จ่ายในประเทศ มีเป้าหมาย 1 ล้านคน ในระยะเวลา 5 ปี เป็นนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลักการ อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดในแต่ละด้าน
โดยมาตรการที่ออกมามีทั้งการอำนวยความสะดวก การลดภาษี การให้สิทธิ์ในการถือวีซ่าระยะยาว โดยผู้สูงอายุรายได้สูงที่จะเข้ามาต้องมีการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลในวงเงิน 5 แสนดอลลาร์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีข้อจำกัด ที่ควรมีการเพิ่มองค์ประกอบต่างๆให้สมบูรณ์ รวมทั้งมีข้อควรระวังจากการให้ต่างชาติถือครองพันธบัตรจำนวนมาก
วรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่านโยบายดังกล่าวประเด็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะตั้งเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนหรือนโยบายที่จะให้ชาวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยก็คือการได้กลุ่มที่มีศักยภาพคือสามารถที่จะเข้ามาลงทุน สร้างอุตสาหกรรม กิจการที่จะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีและช่วยเพิ่มการจ้างงานในประเทศเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
จากการที่ได้หารือกับนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลก การให้ความสำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนเรื่องของสิทธิประโยชน์เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินใจเท่านั้น แต่นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่นๆซึ่งเป็นระบบนิเวศน์ (Ecosystem) หรือเป็นนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ ของประเทศนั้นๆที่เอื้อต่อการลงทุน 7 เรื่อง ได้แก่
1.เรื่องของระบบระเบียบราชการที่ต้องมีความคล่องตัวทันสมัย เช่นการต่ออายุวีซ่า การอนุมัติใบอนุญาตการทำงาน
2.โครงการสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลต้องทำให้มีความครอบคลุม ซึ่งปัจจุบันต้องมีโครงข่ายเรื่อง 5G ที่ใช้งานได้จริงอย่างครอบคลุมพื้นที่ธุรกิจทั้งหมด รวมทั้งมีสิ่งที่เรียกว่า Digital Base ที่จะสนับสนุนการทำธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน
3.โครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น ห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่ทันสมัยสำหรับเทคโนโลยีการแพทย์ ศูนย์รับรองมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานในด้านการเดินทางด้วยระบบรางเพื่อให้คนสามารถเดินทางได้ง่ายและต้นทุนทางโลจิสติกส์ลดลง
4.กฎระเบียบหรือกฎหมายที่เอื้อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถที่จะสามารถ “Scale up” ยกระดับธุรกิจให้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ การจัดตั้งธุรกิจที่ยกระดับจากสตาร์ทอัพเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องทำได้รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงการเคลื่อนย้ายของเงินทุน การลงทุนหลังจากการจัดตั้งธุรกิจยังทำได้ยากทำให้การ Scale up ธุรกิจในไทยทำได้ยาก รวมทั้งการโละกฎหมายที่มีความล้าสมัย สร้างต้นทุนและภาระให้กับผู้ประกอบการต้องปรับปรุงเพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นตามแนวทาง Ease of doing business เพื่อลดต้นทุนและความซับซ้อนในการทำธุรกิจ
5.ความชัดเจนของนโยบายที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาอยู่และทำงานในประเทศไทยซึ่งมีอยู่ถึง 4 ล้านคน จะจัดการอย่างไรให้เป็นระบบระเบียบมากที่สุด ซึ่งคนเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เรามีความต้องการใช้แรงงานข้ามชาติในหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราต้องมีแนวทางทั้งการดูแลแรงงานข้ามชาติและการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย
6..ความพร้อมของบุคลากร และการผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญและมีมูลค่าสูงมีความเพียงพอหรือไม่ โดยมีหลายอุตสาหกรรมที่เรายังต้องการแรงงานที่มีความรู้และทักษะระดับสูงจำนวนมาก เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Clean Energy อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งเราต้องถามว่าเราได้ Up skills แรงงานของเราได้หรือไม่
และ 7.เงื่อนไขทางด้านภาษี ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายที่แรงงานฝีมือจะพิจารณาโดยระบบภาษีต่างๆอาจะมีส่วนบ้างในการพิจารณา แต่ไม่ใช่เรื่องหลักเสมอไปที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ วรพลได้เล่าถึงตัวอย่างของการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วัคซีนที่ตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ชึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกและเป็นผู้ริเริ่มวัคซีนชนิด mRNA ขึ้น ได้ให้ Professor Dr. Drew Weissman ผู้ค้นพบ mRNA Technology มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาวัคซีน
จากการประสานงานของ ดร.วรพลกับ President ของมหาวิทยาลัย Pennsylvania ในฐานะที่ ดร.วรพล มีตำแหน่งเป็น Exclusive Board ของ Wharton และเป็น President Wharton Club of Thailand กับ President ซึ่ง Wharton School ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญด้านการบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัย Pennsylvania ซึ่งเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุด ได้ประสานขอให้ Dr. Drew Weissman มาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ที่กำลังจะสามารถนำมาใช้งานได้จริงในไม่ช้านี้
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญในระดับนี้เมื่อได้รับการชักชวนให้เข้ามาในประเทศไทยเขาก็มีคำถามที่เขาได้สอบถามมายังตนในฐานะที่เป็นผู้ดูแลและชักชวนเข้ามา 3 ข้อ ได้แก่
1.มีผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้เพียงพอหรือไม่
2.มีห้อง Lab ที่ทันสมัยหรือไม่
และ 3.มีสถานที่ผลิตวัคซีนชนิดนี้ในประเทศไทยหรือไม่
จะเห็นได้ว่าเรื่องทั้งหมดนี้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์คน เทคโนโลยี ห้อง Lab ที่มีศักยภาพ เป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญมากกว่าในเรื่องของสิทธิประโยชน์ แต่เขาจะมองว่ามีโอกาสที่จะเกิดธุรกิจและเติบโตได้หรือไม่ ซึ่งเขาจะดูเรื่องความพร้อมและสะดวกที่จะทำงานเป็นหลัก ถ้าเราอยากได้คนเก่งมาทำงาน ไม่ใช่คนที่ว่างงานที่เข้ามา ถ้าเราเตรียมความพร้อมในหลายๆเรื่องให้พร้อมคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆอยากจะมาอยู่และทำงานในไทยได้เอง” นายวรพล กล่าว
สำหรับประเด็นการถือครองพันธบัตรไทยของชาวต่างชาติต้องพิจารณาว่าการให้ต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรเพื่อของไทยเพื่อแลกกับสิทธิ์การได้วีซ่าระยะยาวที่จริงแล้วไม่มีความจำเป็น
เพราะในตลาดพันธบัตรสภาพคล่องของไทยที่มีจำนวนมาก และคนไทยมีเงินออมในระบบสูงถึงโดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเงินออมในระบบเพิ่มขึ้นกว่า 2.2 ล้านล้านบาท เพราะไม่มีใครลงทุนเงินฝากในระบบเพิ่มเป็น 14 ล้านล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีให้ต่างชาติมาซื้อพันธบัตร (ขอยืมเงินชาวต่างชาติ) เพราะตลาดตราสารของเราเติบโตเข้มแข็งสามารถที่จะสร้างธุรกิจได้มหาศาลจากเงินในประเทศ
โดยประสบการณ์จากวิกฤติปี 2540 บอกแล้วว่าเมื่อเราให้ต่างๆชาติมาถือครองสินทรัพย์ของเรามากมีอันตราย ปัจจุบันเรามีการขายพันธบัตร ตราสารหนี้ทุกวันอยู่แล้ว กรณีที่ให้ซื้อพันธบัตร 5 แสนดอลลาร์ ประมาณ 15 – 16 ล้านบาท นั้นไม่มีความจำเป็นเพราะสภาพคล่องเพียงพอ ถ้าเราจะกำหนดแบบนั้นต้องให้มีการกำหนดว่าห้ามขายภายในระยะเวลากี่ปี
ทั้งนี้ประเทศไทยต้องการสร้างเศรษฐกิจ ความสามรถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต เราต้องการคนเก่งที่เข้ามาสร้างธุรกิจ ต้องการคนที่เข้ามาลงทุนมากกว่า แม้เขาจะไม่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยแบบระยะยาวก็ไม่ใช่สาระสำคัญ ส่วนนโยบายที่จะเอาคนแก่ที่มีรายได้สูงเข้ามาซื้อพันธบัตรในประเทศแล้วให้สิทธิ์อยู่ในประเทศไทยได้ยาวนั้น ไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะเศรษฐกิจของเราไม่ได้ต้องการคนสูงอายุเข้ามาอยู่มากๆ เราต้องการคนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุน มาสร้างธุรกิจและสร้างงาน ส่วนการให้ซื้อพันธบัตรนั้นนอกจากไม่จูงใจก็ต้องระวังเพราะที่จริงสภาพคล่องในประเทศเราเพียงพอ และตลาดตราสารหนี้เราเข้มแข็งไม่จำเป็นต้องให้ต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรเราจำนวนมาก รัฐบาลต้องตีโจทย์ส่วนนี้ให้ถูกไม่เช่นนั้นจะหลงทางว่าเราต้องการอะไรกันแน่
“นโยบายที่จะเอาคนแก่ที่มีรายได้สูงเข้ามาซื้อพันธบัตรในประเทศแล้วให้สิทธิ์อยู่ในประเทศไทยได้ยาวนั้น ไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะเศรษฐกิจของเราไม่ได้ต้องการคนสูงอายุเข้ามาอยู่มากๆ เราต้องการคนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุน มาสร้างธุรกิจและสร้างงาน ส่วนการให้ซื้อพันธบัตรนั้นนอกจากไม่จูงใจก็ต้องระวังเพราะที่จริงสภาพคล่องในประเทศเราเพียงพอ และตลาดตราสารหนี้เราเข้มแข็งไม่จำเป็นต้องให้ต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรเราจำนวนมาก รัฐบาลต้องตีโจทย์ส่วนนี้ให้ถูกไม่เช่นนั้นจะหลงทางว่าเราต้องการอะไรกันแน่”นายวรพล กล่าว