“ประท้วงสินค้าญี่ปุ่น” จากความเสียเปรียบทางการค้า สู่การเรียกร้อง "ประชาธิปไตย"
"การประท้วงสินค้าญี่ปุ่น" ความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญของกลุ่ม "นิสิตนักศึกษา" ก่อนนำมาสู่การเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" ในห้วงเวลาก่อนเกิดเหตุการณ์ "14 ตุลา"
วาระการรำลึกเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” หรือ “14 ตุลา” เมื่อเวียนมาในทุกปี ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวันดังกล่าวก็จะถูกนำมาเปิดเผยในหน้าสื่อ เพื่อให้ข้อมูลกับคนรุ่นหลังถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 48 ปี
ย้อนหลังกลับไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชน ในช่วงทศวรรษ 2510 เกิดขึ้นจากความตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนในยุคนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา โดยมีบุคคลเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดพลังใหม่ขึ้นในสังคม นั่นคือ “นิสิตนักศึกษา”
เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้นไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 2510 ก่อนหน้านั้นยังมีการต่อต้านอิทธิพลของอเมริกา การคัดค้านการขึ้นราคาค่ารถเมล์ การรณรงค์ใช้ผ้าดิบ การสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2512 และการประท้วงสินค้าญี่ปุ่น ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดก็ได้ปลุกมวลชนให้มีความสนใจต่อสภาพการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐบาลในเวลานั้น
“การประท้วงสินค้าญี่ปุ่น” คือหนึ่งในเหตุการณ์เคลื่อนไหวสำคัญทางการเมือง โดยมีประเด็น “ผลประโยชน์ของชาติ” ที่หล่นหายไปกับการ “ขาดดุลทางการค้า” อย่างต่อเนื่องกับประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับการตั้งคำถามถึงความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของรัฐบาลคณะปฏิวัติ
เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้จุดความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลในวงกว้าง มีการสานต่อกระแสจนในกลางปี 2516 ได้มีการเรียกร้องให้ฟื้นฟูรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่จนเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงในที่สุด
- การประท้วงสินค้าญี่ปุ่นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
“ประเทศไทย” ในช่วงทศวรรษ 2500 มีพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลา 10 ปี เศรษฐกิจเติบโตกว่า 156% ซึ่งมีผลมาจากการที่รัฐบาลออกนโยบายเพื่อสนับสนุนและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ หวังให้เม็ดเงินดังกล่าวเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ
หนึ่งในประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย คือ “ญี่ปุ่น” โดยญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานผลิตสินค้า ใช้ข้อได้เปรียบที่ไทยยังคงมีค่าแรงที่ต่ำ เอื้อต่อการผลิตสินค้าที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้นมีต้นทุนราคาถูก ถึงแม้ว่าประเทศผู้รับการลงทุนอย่างไทยจะได้ประโยชน์ แต่ในอีกด้านก็เกิดการนำเข้าสินค้าทุนจากญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีราคาแพง และแพงกว่ารายได้จากการส่งออกสินค้าที่ผลิตในไทยไปยังญี่ปุ่น
ผู้ประกอบการหรือพ่อค้าชาวญี่ปุ่นที่มีอยู่มากในไทยยังสามารถรวมตัวกัน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้าชาวไทย และจัดตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นในไทย อาทิ หอการค้าญี่ปุ่น เป็นต้น
นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังมีนโยบายที่ส่งเสริมการส่งออก ควบคุมสินค้านำเข้า ทั้งยังมีอำนาจในการควบคุมในตลาดที่สำคัญอย่าง การขนส่งและการประกันภัย
จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้ไทยเสียเปรียบทางการค้ากับญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีการจัดประชุมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อเจรจาแก้ปัญหาทางการค้าในระดับประเทศ ในปี 2511 และจัดต่อเนื่องในทุกปี แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลได้
ส่งผลให้มีการขาดดุลการค้าติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีข้อมูลตัวเลขการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นในปี 2513 และ 2514 มูลค่า 6,337 และ 5,816 ล้านบาท ตามลำดับ
- การประท้วงสินค้าญี่ปุ่นสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย
กระแสความไม่พอใจต่อ “อิทธิพลทางเศรษฐกิจ” ของญี่ปุ่น ในคราแรกไม่ได้เกิดขึ้นกับเยาวชน หรือกลุ่มนิสิตนักศึกษา แต่เกิดขึ้นด้วยการตั้งข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่รัฐ นักหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงปัญญาชนทั่วไปในสังคมเวลานั้น
การตั้งข้อสังเกตของคนกลุ่มข้างต้น มีทั้งการบอกถึงสาเหตุหรือจุดด้อยของไทย ที่เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการค้าในไทย รวมถึงการต่อต้านและชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีการตีพิมพ์ออกมาให้สังคมได้รับทราบด้วย ทำให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นทุนเดิมนั้น เล็งเห็นถึงปัญหาการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น
ในปี 2513 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดตั้ง “ชมรมต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวในประเด็นการต่อต้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นของกลุ่มนิสิตนักศึกษา
ในเดือนเมษายน ปี 2515 ได้มีการออกบทความเกี่ยวกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ผ่านวารสารวิชาการ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับภัยเหลือง” โดยนำเสนอ 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก การประกอบธุรกิจของญี่ปุ่น โดยมีหุ้นส่วนเป็นคนญี่ปุ่นในสัดส่วนที่มากกว่าคนไทย และยังอาศัยการให้สินบนเพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ ประเด็นที่สอง การไม่มีความจริงใจ เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ภายในประเทศไทยอย่างเต็มที่ และประเด็นสุดท้าย การรวมกลุ่มกันเพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองทางการค้า
บทความดังกล่าวได้ปลุกกระแสการตั้งคำถามของกลุ่มนิสิตนักศึกษาในวงกว้าง และนอกจากประเด็นข้างต้น ยังมีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานและการแก้ปัญหาของประเทศ รวมถึงละเลยกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนญี่ปุ่น ทำให้เกิดการเสียผลประโยชน์ในระดับชาติ
การยกผลประโยชน์ระดับชาติขึ้นมาเป็นประเด็น ทำให้การจัดงานรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2515 ได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ
นอกจากนั้น นิสิตนักศึกษาได้ยื่นข้อเสนอทางเศรษฐกิจ 10 ประการ ซึ่งถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่บกพร่องของรัฐบาลต่อสาธารณชนอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้สังคมได้รับรู้เกี่ยวกับความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐบาลคณะปฏิวัติ
จากการได้รับความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นนี้ประสบความสำเร็จในแง่ของการปลุกมวลชนให้สนใจปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ และชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องรัฐบาลฯ โดยจากกระแสความไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาลฯ ได้ถูกต่อยอดไปถึงการปลุกความคับข้องใจในการสืบทอดอำนาจของกลุ่มทหารมานานกว่าทศวรรษ ท้ายที่สุดจึงเกิดการเรียกร้องให้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยครั้งแรก ในเดือนมิถุนายน ปี 2516
อ้างอิง