ชิพขาดแคลนทั่วโลก ปัญหาอาจลากยาวถึงปี 2566
ปัญหาการขาดแคลนชิพทั่วโลกส่งผลกระทบทำให้การผลิตสินค้าหลายประเภทต้องหยุดชะงัก ยักษ์ใหญ่วงการ “เซมิคอนดักเตอร์” หรือ "ชิพ" เร่งขยายกำลังการผลิต ชี้กำลังผลิตปัจจุบันไม่พอความต้องการและปัญหาอาจลากยาวถึงปี 2566 โดยผู้ผลิตรถยนต์รับผลกระทบหนักสุด
จากความเห็นของ Bosch บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกเชื่อว่าซัพพลายเชนของชิพปัจจุบันไม่สามารถรองรับความต้องการในอนาคตได้อีก โดยตั้งแต่ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตชิพหลายแห่งขยายโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิต แต่ใช้เวลาถึงปี 2565-2566 กว่าจะผลิตได้
ในขณะที่ “แมท เมอร์ฟีย์” ซีอีโอ Marvell Technology บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ มองว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งดีมานต์ของสินค้าบางตัวที่ใช้ชิพเป็นส่วนประกอบจะเริ่มลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนตัว หลังจากนั้นตลาดจะกลับสู่ดีมานต์จริง เพราะขณะนี้การสั่งซื้อชิพเกิดจากความตื่นกลัวท่ามกลางโรคระบาดใหญ่ และเมื่อความต้องการชิพจากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เริ่มซาลง แน่นอนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นกลุ่มแรกที่อ้าแขนรับชิพจากโรงงานใหม่
“ลิซ่า ซู” ซีอีโอ AMD บริษัทผลิตชิพให้ความเห็นว่า กำลังการผลิตเพิ่มเติมจะแก้ปัญหาในปีหน้า “การสร้างโรงงานแห่งใหม่ต้องใช้เวลา 18-24 เดือน หรือบางกรณีนานกว่านั้น ซึ่งเราเริ่มลงทุนมาตั้งแต่ 1 ปีก่อน"
นอกจากนี้ คู่แข่งอย่าง Intel ประกาศเมื่อเดือน มี.ค.ว่าจะลงทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานใหม่ในแอริโซน่า 2 แห่ง รวมถึง TSMC โรงงานผลิตชิพยักษ์ใหญ่จากไต้หวันที่เป็นซัพพลายเออร์ Apple สร้างโรงงานแห่งใหม่ในรัฐแอริโซน่า ด้วยเงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และลงทุนอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อขยายกำลังการผลิตใน 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนชิพส่งผลต่อการผลิตหลายส่วน แต่อุตสาหกรรมยานยนต์กระทบหนักสุดทำให้การผลิตช้าลง ซึ่งนำไปสู่ยอดขายลดลงสะท้อนจากภาพรวมยอดขายยานยนต์ในสหรัฐ คาดว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จะลดลงอย่างน้อย 13%
ขณะที่ General Motor หรือ GM ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากสหรัฐ รายงานยอดขายยานยนต์ในสหรัฐ ไตรมาสที่ 3 ลดลงกว่าปีก่อนหน้า 30% เพราะปัญหาขาดแคลนชิพ และ ก.ย.ที่ผ่านมาปิดโรงงานส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือ ซึ่งแก้ปัญหาขาดแคลนชิพด้วยการโยกชิพที่มีไปผลิตสินค้ารุ่นที่นิยมและทำกำไรมาก เช่น รถกระบะ
อย่างไรก็ตามผู้ผลิตยานยนต์เห็นว่าปัญหาจะบรรเทาในเวลาอันใกล้ “สตีฟ คาร์ลิเซิล” ประธาน GM ภูมิภาคอเมริกาเหนือ เผยว่า "ปัญหาการขาดแคลนชิพในไตรมาส 3 เริ่มทุเลา ซึ่งแผนไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะกระจายสินค้าจากโรงงานผลิตไปยังตัวแทนจำหน่ายต่อเนื่อง และเชื่อว่าในสายพานการผลิตจะกลับมาในสภาวะคงที่”
“อีลอน มัสก์” ซีอีโอ เทสลา บริษัทออกแบบผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกให้ความเห็นว่า “ปัญหาขาดแคลนชิพเป็นเพียงระยะสั้นตอนนี้มีโรงงานผลิตชิพเกิดมากมาช่วยให้เรามีชิพพอภายในปีหน้า”
ขณะที่สถานการณ์การผลิตรถยนต์ในไทยได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิพมาตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกปี 2564 ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อประเมินว่าค่ายรถยนต์ 14 ค่ายในประเทศได้รับผลกระทบจนส่งผลต่อเป้าหมายการผลิตรวมปีนี้ 1.55-1.60 ล้านคัน หรือไม่ หลังจากมีค่ายรถบางแห่งหยุดผลิตรถยนต์บางรุ่น
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ให้ความเห็นว่า ปัญหานี้อาจลากยาวจนถึงปี 2566 ก็ได้ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมของภาครัฐ ซึ่งการขาดแคลนชิพทำให้บริษัทผลิตรถในไทยต้องสั่งหยุดโรงงาน ทำให้รถยนต์บางรุ่นไม่สามารถส่งลูกค้าได้ตามกำหนด
“ไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิตชิพและเป็นเพียงผู้ประกอบชิ้นส่วน จึงทำให้สถานการณ์ของผู้ประกอบการไทยขึ้นกับซัพพลายเชนจากผู้ผลิตรายอื่นในภูมิภาค”
สุภาพ สุวรรณพิมลกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการในไทยมีกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ที่ต้องการใช้ชิพเป็นส่วนประกอบ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเอกชนเห็นว่ารัฐควรออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการไทยเพิ่มอำนาจต่อรองด้วยการเป็นตัวแทนเจรจาจัดซื้อชิพล็อตใหญ่ให้ผู้ผลิตแบ่งโควตาให้ลูกค้าเมืองไทย รวมทั้งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้หารือกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อดึงบริษัทข้ามชาติขยายฐานการผลิตในไทย
“ตลาดในไทยมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยขนาดตลาดในประเทศไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบคู่แข่ง เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่ได้เปรียบด้วยเป็นโรงงานประกอบสมาร์ทโฟนเจ้าใหญ่ จึงต้องหารือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อให้สิทธิประโยชน์สร้างแต้มต่อให้ไทย”
รายงานข่าวจากบีโอไอ ระบุว่า ไทยอยู่ใน Global Supply Chain อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กว่า 40 ปี โดยปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอันดับ 13 ของโลก มีผู้ผลิตกว่า 600 บริษัท และ 30% เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทร่วมทุนกับผู้ผลิตระดับโลก
สำหรับผลิตภัณฑ์หลักในไทยอยู่กลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดัคเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและชิ้นส่วน รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์สำนักงาน
ขณะที่การลงทุนเซมิคอนดัคเตอร์ในปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ลงทุนในไทย เช่น Microchip, Maxim, NXP, Infineon, Toshiba, Sony, Hana โดยปี 2558 จนถึงปัจจุบันมีโครงการได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ 28 โครงการ ลงทุน 29,000 ล้านบาท