Digital Bank สู่ Digital Lending ตอบโจทย์ SMEs ไทยหรือไม่? (จบ)
ถึงแม้ "ธุรกิจการเงิน" จะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ถ้านำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อช่วยเหลือ SMEs ได้ก็จะทำให้ SMEs ได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุดมากกว่าทุกวันนี้
Digital Lending หรือ การปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีเป้าหมายเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้เข้ามาให้บริการเงินกู้สินเชื่อบุคคลดิจิทัล ซึ่งเป็นใบอนุญาตรูปแบบใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้อนุญาตในปี 2564 เป็นการปล่อยกู้เป็นบริการเงินกู้ดิจิทัลที่เรียกว่า “สินเชื่อส่วนบุคคดิจิทัล” (Digital PersonlLoan)
เริ่มแรกให้บริการวงเงินกู้ขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปี ผ่อนชำระคืนภายใน 6 เดือน และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เพิ่มเพดานวงเงินกู้ต่อรายเป็นวงเงินไม่เกิน 40,000 บาท ผ่อนชำระคืนภายในระยะเวลา 12 เดือน (สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565)
จากการปล่อยสินเชื่อของบริษัทแอสเซนด์ นาโน จำกัด บริษัทในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)และบริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด เริ่มปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ เดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมาได้ให้สินเชื่อไปแล้วประมาณ 250,000 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 2,400 ล้านบาท วงเงินเฉลี่ยต่อรายประมาณ 3,000-4000 บาท โดยแอสเซนด์ นาโน พิจารณาลูกค้าจากลูกค้ากลุ่มทรูที่มีบัตรทรูการ์ด ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 4 เท่าของรอบบิลทรูรายเดือน วงเงินไม่กิน 10,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 24% ต่อปี และยังมีบริการสินเชื่อสำหรับซื้ออุปกรณ์สื่อสาร (Device Loan)ผ่อนสูงสุด 36 เดือน และบริการ Micro Credit)ลูกค้าทรูที่ถือบัตรทรูการ์ด และบริการวงเงินพร้อมใช้ (pay next)
นอกจากนี้ยังมีธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอีกหลายแห่งเข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้า 36 ล้านคน อัตราดอกเบี้ยที่ 25% การให้บริการสินเชื่อจะใช้ฐานข้อมูลจากลูกค้าของพันธมิตรที่ใช้บริการเป็นเครื่องมือในการพิจารณาอนุมัติ บางสถาบันการเงินมีแพลตฟอร์ม AI วิเคราะห์ลูกค้าเพื่อป้องกันหนี้เสีย เนื่องจากพึ่งจะเริ่มปล่อยกู้ไม่นาน จึงยังอยู่ในระหว่างการประเมินคุณภาพของสินเชื่อ
เมื่อพิจารณาลูกค้าเป้าหมาย 36 ล้านคน มีประมาณ 28 ล้านคน ที่ประกอบอาชีพอิสระ มีบางรายเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ ต้องอาศัยเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 25 % ก็อาจช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้ แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้ SMEs สามารถเข้าถึง Digital Lending ข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs จะผ่านแพลตฟอร์มที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือไม่
จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมาก เพิ่มจาก 80% ของ GDP ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของ GDP ณ ไตรมาส 1/2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93% ณ สิ้นปี 2564 สัดส่วนหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 47% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด อาทิ หนี้บ้านและรถยนต์ สัดส่วนหนี้ที่ไ่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 35% อาทิ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล มีเพียง 18% เท่านั้น ที่เป็นหนี้รายย่อยเพื่อธุรกิจครัวเรือน
ผมจึงเป็นห่วงว่า Digital Lending จะทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นไม่ได้ช่วย SMEs ที่ต้องการสินเชื่อได้ SMEs จะต้องให้บริการแบบ Face to Face ต้องให้คำปรึกษาและพัฒนา ติดตามการใช้วงเงินอย่างใกล้ชิด ทุกวันนี้สถาบันการเงินที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องสนองความต้องการของผู้ถือหุ้นที่จะต้องแสวงหากำไรสูงสุด จึงเลือกให้สินเชื่อกับ SMEs ที่ดีมีความเสี่ยงน้อยที่สุด การช่วยเหลือ SMEs จึงต้องหาเครื่องมือที่เหมาะสมกับโครงสร้างของ SMEs ไทย
ผมได้อ่าน แนวทางการบริหารจัดการสินเชื่ออย่างเป็นธรรม ตามหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามหนังสือ ที่ ธปท.ฝคง.ว 951/2564 ลว 4 ตค 2564 ที่มีถึงสถาบันการเงินทุกแห่ง ที่ระบุว่า องค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยการให้ความรู้และสร้างทักษะทางการเงินแก่ประชาชน (Financial Literacy) ซึ่งถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญในโลกปัจจุบัน
การกำกับดูแลผู้ให้บริการสินเชื่ออย่างเป็นธรรม (Fair Lending) โดยให้ความสำคัญกับลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างตรงจุดและทันท่วงที แล้วก็ทำให้เกิดความหวังว่า SMEs จะได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุดทำให้ความทรงจำตอนเข้าทำงานแบงก์เป็นพนักงานสินเชื่อเกษตรที่ชนบท ยังจำนโยบายของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตอนเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้ว่าการเปิดสาขาในต่างจังหวัดของธนาคารพาณิชย์จะต้องปล่อยสินเชื่อเกษตรไม่ต่ำกว่า 20% ของสินเชื่อที่ปล่อย
ถึงแม้ธุรกิจการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ถ้านำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อช่วยเหลือ SMEs ได้ก็จะทำให้ SMEs ได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุดมากกว่าทุกวันนี้...