วัด “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย”เทียบต่างประเทศ แกร่งแค่ไหน?
เปิด “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย” ผ่าน 4เครื่องชี้วัด หากเทียบกับ 10ประเทศในภูมิภาค และประเทศหลัก สะท้อนความแข็งแกร่ง หรืออ่อนแอลงของเศรษฐกิจไทย
แม้เศรษฐกิจไทย จะถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 มาเกือบสองปี ทำให้เศรษฐกิจไทยถูกกระทบหนัก โดยเฉพาะจากโควิด-19 ระลอก3 ที่ตอกย้ำผลกระทบที่มีให้หนักหน่วงมากขึ้นไปอีก
แต่หากดูภาพรวมด้าน “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย”แม้เศรษฐกิจจะถูกกระทบหนัก แต่ก็ยังถือว่ายังมี “เสถียรภาพ” ในมุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ กระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ทั้งผ่าน หนี้สาธารณะที่ยังอยู่ระดับต่ำแม้จะสูงขึ้น ทุกสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง หรือหนี้ต่างประเทศที่ไทยมีหนี้ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
อย่างไรไรก็ตาม แต่หากดู “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย”เทียบกับต่างประเทศ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งอยู่หรือไม่
วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้มีการวบรวมประเด็นสำคัญที่ชี้วัดเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นผ่านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าของวงการเศรษฐกิจไทย “นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics)
นริศ” กล่าวว่า ตัวชี้วัด “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย” หลักๆ มี 4 หัวใจสำคัญ ด้านแรก “หนี้สาธารณะ” หากเทียบกับจีดีพี สิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของไทย อยู่ที่ 52% ขณะที่คาดว่า สิ้นปีนี้หนี้สาธารณะของไทยจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 55%
ซึ่งหากเทียบกับประเทศในภูมิภาค หรือประเทศหลักๆ 10ประเทศเรายังถือว่า มีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับกลางๆ ไม่สูง หรือต่ำจนเกินไป แม้จะสูงกว่าเวียดนาม แต่ก็ต่ำกว่าประเทศใกล้ๆเรา คือมาเลเซีย
ดังนั้นถือว่าด้านนี้ ไม่น่าห่วง ไม่กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมากนัก
ถัดมาคือ หนี้ภายนอกประเทศ หรือหนี้ต่างประเทศหากเทียบกับจีดีพี
ไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ที่มีหนี้ค่อนข้างต่ำ โดยอยู่อันดับที่สอง โดยมีหนี้ต่ำเพียง 37%ของจีดีพีและคาดสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 36%ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งสูงกว่าอันดับหนึ่งไม่มาก คือฟิลิปินส์ ที่หนี้ต่างประเทศอยู่เพียง27% และ 26%ปีนี้
ในขณะที่ประเทศใกล้เรา อย่างมาเลเซีย หนี้ต่างประเทศสูงถึง 68% และ 69% ปีนี้ หรือเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสิงค์โปรที่สูงไปถึง 417% และคาด444% ต่อจีดีพีในปีนี้
ดังนั้นหนี้ภายนอกประเทศ ถือว่าไม่น่ากังวลต่อภาพเศรษฐกิจไทย
ประเด็นที่ 3 คือทุนสำรองระหว่างประเทศ ปัจจุบันทุนสำรองไทยอยู่ในระดับสูงที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นจำนวนเดือนของการนำเข้าสูงถึง 12เดือน
แม้จะลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 15 เดือน แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งมากกว่ามาเลเซียถึง 2 เท่า ที่เทียบกับการนำเข้าเพียง 6 เดือนเท่านั้น
สุดท้ายคือ รายได้ดุลบัญชีเดินสะพัด หากเทียบกับจีดีพี ปัจจุบันรายได้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เริ่มกลับมาขาดดุล
ซึ่งคาดว่าปีนี้ รายได้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะขาดดุลราว 3.3% ซึ่งเป็นการขาดดุลในรอบ 20ปี หากนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เราเกินดุลมาต่อเนื่อง
ซึ่งหากดูด้านรายได้ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าปีนี้ ไทยจะเป็นประเทศที่ขาดดุลสูงสุด หากเทียบกับ 10ประเทศ คือสิงค์โปร สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมันนี ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ เวียดนาม สหรัฐ
แม้จากผลกระทบโควิด-19 จะทำให้หลายประเทศขาดดุลเหมือนกันแต่ก็ยังไม่หนักเท่าไทย เช่นเวียดนาม หรือสหรัฐ ที่คาดว่า สิ้นปีนี้จะขาดดุลอยู่ที่ 2.8% และ 30%
อย่างไรก็ตาม การขาดดุลของไทย หลักๆมาจากภาคบริการ รายได้ท่องเที่ยวจากต่างชาติที่หายไป รวมถึงดุลการค้าที่ขาดดุลต่อเนื่อง
ดังนั้นหากดูตัวชี้วัดนี้ ถือว่า “น่ากังวล” หากการขาดดุลเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะหากมองไปข้างหน้า มีโอกาสที่จะเห็นการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น หากราคาน้ำมันทะลุ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าในมูลค่าที่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่อง
ซึ่งตัวชี้วัดนี้ เป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้ภาพ “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย”ปรับตัวดูแย่ลง!!
การขาดดุลดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มนำมาเป็นประเด็นในการตัดสินใจลงทุนหรือ มองภาพเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า
เหล่านี้สะท้อนไปถึงค่าเงินบาท ที่เริ่มอ่อนค่าลง โดยปัจจุบันเงินบาทไทย อ่อนค่าสุดในภูมิภาคราว 10% หากเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
โดยสรุปแล้ว แม้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะดูแย่ลง แต่โดยภาพรวมแล้ว หากดูจากอีก 3ปัจจัยชี้วัด ถือว่า “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย”ยังไม่ได้อ่อนแอ ยังคงมีเสถียรภาพ
แต่ก็ต้องจับตาใกล้ชิด ในด้านการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่อาจส่งผลทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยดูแย่ลงได้!!!