ซอฟท์ พาวเวอร์ ไทย อยู่ตรงไหนในเวทีโลก?

ซอฟท์ พาวเวอร์ ไทย อยู่ตรงไหนในเวทีโลก?

หากประเทศต้องการเป็นมหาอำนาจครองโลก ไม่ใช่จะมีแค่ Hard Powe อวดแสนยานุภาพทางทหาร เบ่งศักยภาพเศรษฐกิจ แต่ Soft Power ก็ทรงพลังได้ แล้วอำนาจอ่อนของไทยอยู่ตรงไหนในโลก ส่องความมพยายามเอกชน หวังแพลตฟอร์มแห่งชาติเกิด เปิดทางซอฟท์ พาวเวอร์ไทยมีที่ยืน

โลกเต็มไปด้วย “อำนาจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาประเทศอยากมี เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลของตนเองไปครอบงำในประเทศต่างๆ ทั้งนี้ อำนาจมีทั้งอำนาจแข็ง หรือที่ Hard power การแสดงแสนยานุภาพทางด้านทหาร การบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ฯ แน่นอนว่ามหาอำนาจที่มีพลังเหล่านี้ หนีไม่พ้นสหรัฐ ชาติตะวันตก หรือแม้กระทั่งจีนและรัสเซีย เป็นต้น 

ขณะที่ “อำนาจอ่อน” ฟังดูอาจขัดหู เพราะคำคุ้นชินจะเป็นศัพท์แสงภาษาอังกฤษอย่าง Soft Power ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักรัฐศาสตร์ “โจเซฟ เนย์” แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดคิดค้นขึ้นมาราวปี 1990 ทว่า ซอฟท์ พาวเเวอร์ อำนาจที่จับต้องไม่ได้ แต่กลับมีพลังมหาศาล และเป็นอาวุธที่แสดงศักยภาพของประเทศ เพื่อต่อกรได้ในหลายมิติ 

สหรัฐฯเป็นประเทศที่ครบเครื่อด้วย Hard Power และ Soft Power ซึ่งอย่างหลังแน่นอนมีขึ้นมานับร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระแสผ่านแฟชั่นแบรนด์ดังต่างๆ การสร้างสรรค์คอนเทนท์ภาพยนตร์ฮอลีวู้ดกอบโกยเงินทั่วโลก รังสรรค์เพลงดังไปสู่คนฟังมากมายมหาศาล เป็นต้นื

ย้อนกลับมามอง “เอเชีย” ญี่ปุ่นสร้าง ซอฟท์ พาวเวอร์แผ่ขยายในภูมิภาค พอๆกับฮาร์ด พาวเวอร์ แต่ยุคนี้หลายคนอาจหลงลืมซอฟท์ พาวเวอร์จากแดนซามูไรไปบ้าง เพราะมีพลังอำนาจอ่อนจากชาติอื่นค่อยๆมีอิทธิพล และผงาดในเวทีโลกมากขึ้น 

ญี่ปุ่น สร้างซอฟท์ พาวเวอร์ในตลาดโลกไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนมังงะ การ์ตูนอนิเมะ เพลง ซีรี่ส์ ฯ ซึ่งปัจจุบันยังครองความเป็น “ผู้นำ” ในภูมิภาคเอเชีย 

ทว่า นาทีนี้ ตัวอย่าง “ซอฟท์ พาวเวอร์” ที่กำลังทรงพลังและแผ่อิทธิพลขยายไปยังทุกพื้นี่ทั่วโลก หนีไม่พ้นHallyu” หรือ Korean wave-กระแสเค-ป๊อป ของเกาหลีใต้ ที่ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากประเทศกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติเพื่อหลุดพ้น “ความยากจน”

ซอฟท์ พาวเวอร์ ไทย อยู่ตรงไหนในเวทีโลก?

ราวปี 1990 ที่เกาหลีใต้พยายามสร้างกลไก ขับเคลื่อน Hallyu ให้ทัดเทียมนานาประเทศ สิ่งที่หว่านเมล็ดพันธุ์ไว้หลายปี วันนี้ผลิดอกออกผลให้ประเทศเก็บเกี่ยว กอบโกยเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมหาศาล ตัวอย่างซอฟท์ พาวเวอร์ ที่ทรงพลัง ทำรายได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ ได้แก่ ศิลปินวง BTS ทำรายได้หลัก “หมื่นล้านบาท” หากเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิต ส่งออกสินค้าต่างๆ ถือป็นมูลค่าไม่น้อย แต่เม็ดเงินดังกล่าวมาจาก ศิลปินไม่กี่ชีวิต แม้ทีมงานเบื้องหลังอีกมาก แต่เป็นการทำเงินที่แตกต่างกันมาก 

ล่าสุด ต้องยกให้ Squid Game ซีรี่ส์ดังที่ออกอากาศบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ “เน็ตฟลิกซ์” สร้างสถิติมากมาย รายงานจาก Bloomberg รายงานจำนวนผู้ชมทะลุ 130 ล้านคนทั่วโลก การเข้าถึงผู้ชม 111 ล้านครัวเรือน ภายใน 1 เดือน หลังออกอากาศเมื่อ 17 กันยายนที่ผ่านมา แซงหน้า Bridgerton ที่เข้าถึงคนดู 82 ล้านครัวเรือน ใน 28 วันแรก

ขณะที่ต้นทุนของ Squid Game ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับซีรี่ส์ฟอร์มยักษ์อื่นๆที่ผลิตป้อนเน็ตฟลิกซ์ หรือแม้กระทั่งแพตฟอร์มออนไลน์สตรีมมิ่งค่ายอื่น โดยต้นทุนสร้าง Squid Game อยู่ที่ 21.4 ล้านดอลลาร์ หรือราว  715 ล้านบาท จำนวนทั้งสิ้น 9 ตอน  เฉลี่ยต้นทุนสร้างต่อตอนกว่า 2.37 ล้านดอลลาร์ หรือราว 78 ล้านบาท ส่วนซีรี่ส์ฟอร์มยักษ​์และเป็นคลาส A++ ข้ามค่ายอย่าง Game of Thrones ลงทุนหลัก 10 ล้านดอลลาร์ต่อตอน เป็นต้น 

ซอฟท์ พาวเวอร์ ไทย อยู่ตรงไหนในเวทีโลก?

ซอฟท์ พาวเวอร์ แดนโสมทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคดิจิทัล โลกมีประตูบานใหม่ให้ “ไทย” แสวงหาโอกาสไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก หากย้อนมอง “ซอฟท์ พาวเวอร์ไทย” ที่มี อาจโดดเด่นด้านวัมนธรรมอาหารการกิน โดยเฉพาะอาหารริมทาง(Street food) แต่ส่งออกยาก อยากกินต้องดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ  

ขณะที่ประตูการค้าขาย “คอนเทนท์” ให้ปังเหมือนเกาหลีใต้ ไทยอาจยัง “ติดหล่ม” หลายด้าน ทั้งบท วิธีคิด ไปจนถึงติดล็อก “เงินทุน” ที่สร้างละคร ซีรี่ส์แต่ละเรื่องที่ต่ำ อย่างช่องทีวีดิจิทัลท็อปๆ เทงบให้ละครราว 20 ล้านบาทต่อเรื่องเท่านั้น ห่างชั้นเกาหลีใต้มากมายก่ายกอง ยิ่งกว่านั้นคือทุนไทย “ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ” 

เกาหลีใต้นอกจากรัฐวางนโยบายหนุนเอกชนเต็มที่ ยังมีการจัดตั้งกองทุนหลัก 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ จัดสรรงบประมาณ 20-30% แก่เอกชน รวมถึงตั้งบรรษัทการร่วมลงทุนแห่งชาติ(Korean Venture Investment Corp:KVIC) รับบทจัดการกองทุนแทนเอกชน ปัจจุบันมีขนาดกองทุนมูลค่ากว่า 4,100 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินส่วนใหญ่ลงทุนด้านภาพยนตร์ ซีรี่ส์ ดนตรี เป็นต้น 

มองข้ามช็อต ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีทั้ง “แพลตฟอร์มแห่งชาติ” และปั้น Killer Content เพื่อเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สร้าง “ซอฟท์ พาวเวอร์” ไปพร้อมๆกัน แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นได้แค่ฝัน ไกลเกินเอื้อมไปหรือไม่  SPRING NEWS หยิบประเด็น THAILAND PLATFORM ฝันกลางวัน หรือทำได้จริง? พร้อมเชิญกูรูหลากวงการมาถกหาข้อเสนอแนะแก่รัฐ 

  วันที่โลกเทคโนโลยีรุดหน้าเร็ว แพลตฟอร์มดิจิทัลเกิดมากมาย สร้างอีโคซิสเท็มให้ธุรกิจแข็งแกร่ง สร้างแบรนด์ครองใจผู้บริโภคทั่วโลก หากไทยคิดสร้างแพลตฟอร์มเอง ตกขบวนหรือช้าเกินไปไหมเป็นเรื่องน่าคิด วิเคราะห์ 

++เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

ทว่า ปฐม อินทโรดม อุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย หรือกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ฉายภาพความจำเป็นที่ไทยต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งชาติเป็นของตนเอง เพราะวันนี้ “โลกธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่กำลังจะเปลี่ยน” ยิ่งกว่านั้นประชากรในชาติต้องการสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต คิดหลายอย่าง “ล้ำ” กว่าภาครัฐ จึงต้องทำให้เจนเนอเรชั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศรู้สึกมีอนาคตที่ดีกว่านี้ 

ขณะที่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ แนวโน้มการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยอมเสีค่าสมาชิกเสพคอนเทนท์ทั้งหนัง เพลง ฯ ผ่านเน็ตฟลิกซ์ แอปเปิลทีวี สปอติฟาย จูกซ์ ฯ อาจคิดเป็น 10-20 ดอลลาร์ แต่เมื่อรวมกันจากทุกคนดิดเป็นเม็ดเงินมหาศาล 

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วยิ่งขึ้น จากโรคโควิด-19 เป็นปฏิกิริยาเร่งให้ทุกคนหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จากเดิมคาดการณ์ 5 ปี จะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ถูกย่นระยะเวลาเป็น 1 ปี เท่านั้น ตัวอย่างผู้ใหญ่หันมาใช้สมาร์ทโฟนเสพคอนเทนท์จนคล่อง ยิ่งมีเทคโนโลยี 5G ที่จะรองรับอุปกรณ์สื่อสารได้ 1 ล้านชิ้นในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร อนาคต สามารถป้อนคอนเทนท์ผ่าน “สตรีมมิ่ง” ได้อีกมหาศาล เพราะไม่จำกัดแค่บริษัทใหญ่ที่สตรีมมิ่งคอนเทนท์ได้ ผู้บริโภคก็สร้างสรรค์เนื้อหาผ่านออนไลน์ได้เช่นกัน 

มองในแง่เศรษฐกิจบ้าง การพึ่งพารายได้จากทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้มีความสำคัญมากขึ้น และคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็น คอนเทนท์ งานโปรดักชั่น(การผลิตเนื้อหารายการ) หรือมูลค่างานทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆนั่นเอง หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์ม “OnlyFans” สามารถขับเคลื่อนเศรฐกิจได้มากมาย เรียกว่าเป็นแซงธุรกิจดั้งเดิมเก่าๆ ให้ตกขอบไปพอสมควร 

ซอฟท์ พาวเวอร์ ไทย อยู่ตรงไหนในเวทีโลก?

++เจียดงบหนุนเอกชนจริงจัง

นอกจากนี้ ศิลปะ การสร้างซอฟท์ พาวเวอร์ ยังจำเป็นต้องมี แต่การทำสิ่งเหล่านี้รัฐทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างรากฐานอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่ง ให้มั่นคง เพื่อเกิดผลลัพธ์ในระยะยาว    

ทว่า ซอฟท์ พาวเวอร์ของไทย จะหวังพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปั้นแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งชาติเป็นทางเลือกเพื่อใช้เป็นพื้นที่่ปล่อยของ หรือเชื่อมโยงผู้คนบนโลกดิจิทัล แทนการพึ่งพาเพียงโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มออนไลน์ของยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างเดียว 

พันทิป(Pantip) บล็อกดิท(Blockdit) ตัวอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยที่พยายามแทรกตัวในตลาด ซึ่งรัฐควรหันมาส่งเสริมให้แจ้งเกิดอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะการผันงบประมาณที่ใช้ผ่านสื่อออนไลน์ 20% ให้กับแพลตฟอร์มในประเทศ(Local) เพื่อมีเงินทุนไปพัฒนา ยกระดับฟีเจอร์ การใช้งานต่างๆให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ทว่า การสื่อสารของรัฐทุกวันนี้ พึ่งพาแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเป็นหลัก มีการกำหนดตัวชี้วัด(KPI)การมีส่วนร่วม(Engagement) ทำให้ต้องใช้เงินบู๊ทโพสต์ จ่ายเงินค่าโฆษณาต่างๆ สุดท้ายเงินไหลออกนอกประเทศเข้ากระเป๋าเจ้าของแพลตฟอร์มต่างชาติยักษ์ใหญ่โดยปริยาย 

ที่ผ่านมา ไทยมีความพยายามจะปั้น “ไทยฟลิกซ์” ขึ้นมา แต่นโยบายบางอย่างเป็นแค่การ “ประชาสัมพันธ์” ที่ไม่ปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม เป้าหมายจะมีแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งชาติเลยหายเข้ากลีบเมฆและเป็นเพียง “ฝันค้าง” 

“การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ เรามีเอกชนที่เก่งอีกมาก แต่เอกชนทำเองไม่ไหว เพราะเป็นเรื่องใหญ่ รัฐยื่นมือมาช่วยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ขออย่ากระโดดมาทำเองเพื่อแข่งเอกชน วางบทบาทเป็นเรกูเลเตอร์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญของการสร้างแพลตฟอร์ม ต้องมีระบบนิเวศทางธุรกิจหรืออีโคซิสเทมพร้อมรองรับ หากไม่มีโอกาสเกิดแพลตฟอร์มเป็นศูนย์” 

มีแพลตฟอร์ม ต้องเสริมทัพด้วยคอนเทนท์น้ำดีมีคุณภาพ ปฐมพงศ์ ไม่ต้องการให้รัฐ “ตีกรอบ” การสร้างสรรค์เนื้อหารายการที่ต้องอิงกระแสรักชาติ ภูมิใจในศิลปะวัฒนธรรมด้านเดียว แต่ควรโฟกัส “ความสนุก” เพื่อตอบโจทย์คนดูกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น ซีรี่ส์มาแรงอย่าง Squid Game เป็นตัวอย่างเนื้อหาตอบโจทย์ความสนุกได้ดี  

หากรัฐสงเสริมการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งชาติได้จริง ต้องเทงบหนุนการให้ผู้ผลิตคอนเทนท์ด้วย แต่ต้องจัดสรรเงินให้อยู่ถูกจุด เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโต ประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติ

++ใช้งบให้ถูกจุด เลิกเกาะซอฟท์ พาวเวอร์คนอื่น

ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับภาพยนตร์ จีดีเอช ห้าห้าเก้า(GDH559) กล่าวว่า การมีไทยแลนด์แพลตฟอร์ม คอนเทนท์ไทยพร้อมเข้าให้บริการผู้บริโภคหรือไม่ยังตอบยาก เพราะแม่เหล็กที่ดึงเข้ามาใช้เวลาบนแพลตฟอร์มคือคอนเทนท์ โดยเฉพาะ Killer Content หรือเนื้อหาระดับ A++ และต้องไม่มาแค่ 1-2 เรื่อง แต่ต้องมาสม่ำเสมอ นั่นหมายถึง “งบลงทุน” ต้องมาพร้อมบุคลากรมากความสามารถเพื่อผลิตเนื้อหาขั้นเทพให้โดนจริตคนดู ที่สำคัญเงินที่อุดหนุนจะต้องลงไปสู่ผู้ผลิตที่เป็นงานจริงๆ 

นอกจากเงินทุนแล้ว สิ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนท์ต้องการคือ “อิสระ เสรีภาพ” ในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย กลับกันเมื่อกระแส Squid Game ดังพลุแตก หน่วยงานรัฐต้องออกมาปรามไม่ควรดู เพราะห่วงพฤติกรรมเลียนแบบ  

“เราไม่มีซอฟท์ พาวเวอร์ของตัวเอง ต้องไปเกาะซอฟท์ พาวเวอร์อื่นดัง เช่น ลิซ่า รายา รัฐจึงต้องย้อนมองกลับไปว่าใช้เงินถูกที่ไหม”  

ที่ผ่านมาแม้จะมีโครงการดีๆ หนุนเอกชน แต่หลายอย่างทำแล้ว “จอด” ไม่ต่อยอด การผลิตคอนเทนท์วันนี้ด่านแรกในประเทศ การผลิตละครไทย เห็นช่องใหญ่แข่งขันกันมาตลอด หากต้องรับศึกนอก แข่งกับแพลตฟอร์มต่างชาติ คอนเทนท์ดีและสม่ำเสมอคือหัวใจความสำเร็จ 

ซอฟท์ พาวเวอร์ ไทย อยู่ตรงไหนในเวทีโลก?

ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์มีมากมายทั้งจากฝั่งยุโรป และเอเชีย เช่น เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส ฮอทสตาร์ อ้ายฮีอี้ วีทีวี วิว ฯ กลายเป็นประตูบานใหม่ ที่เปิดโอกาสให้คอนเทนท์โปรวายเดอร์ของไทยได้ปล่อยของออกไปสู่สายตาชาวโลก อย่าง เด็กใหม่ ที่ฉายบนเน็ตฟลิกซ์ กระแสตอบรับดีในหลายประเทศ ไม่แค่เอเชีย แต่ไปไกลถึงละตินอเมริกา 

กลับกันเมื่อแพลตฟอร์มเหล่านั้นมาบุกตลาดในประเทศไทย คอนเทนท์ไทย(Local) ยังเป็นแม่เหล็กตอบโจทย์ผู้ชมชาวไทยมากสุด แม้กระแสซีรี่ส์เกาหลี จีน หรือฮอลลีวู้ดจะมาแรงก็ตาม 

วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภควันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการบริโภค “สื่อ” หรือแพลตฟอร์ม แต่สิ่งที่่ต้องการเสพยังเป็นคอนเทนท์เช่นเดิม 

“ถ้าคอนเทนท์ไม่ดี แพลตฟอร์มเกิดยาก คอนเทนท์ดีออยู่ไหน คนก็ตามไปดู” 

อย่างไรก็ตาม ซอฟท์ พาวเวอร์ไทยจะเกิดได้ต้องมาจากความตั้งใจ การสร้างสรรค์คอนเทนท์ที่ดี เล่าเรื่องให้คนดูประทับใจ ทำให้เห็นความสามารถของผู้ผลิตอย่างแท้จริง บางเรื่องไม่ต้องอิงวัฒนธรรมไทย เช่น รำไทย มวยไทย ฯ แต่บางครั้งก็ไม่ควร “ด้อยค่า” รากเหง้าเหล่านี้เช่นกัน  

++เอเยนซี่ กองหนุนเปย์ซื้อโฆษณา 

เอเยนซี่ หนึ่งในแรงหนุนที่อาจทำให้ไทยแลนด์แพลตฟอร์มเกิด หากรูปแบบของแพลตฟอร์มเป็นการดูฟรีมีโฆษณาคั่นหรือAVOD: Advertising Video On Demand แบรนด์สินค้าพร้อมเปย์งบอยู่แล้ว มุมมองจาก ธราภุช จารุวัฒนะ นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย(MAAT)

ปัจจุบันเงินโฆษณามูลค่าหลัก “แสนล้านบาท” ต่อปี(อัตราค่าโฆษณายังไม่หักส่วนลดต่างๆ) ถูกจัดสรรปันส่วนไปสื่อต่างๆมากมาย ทั้งทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ รวมถึงอินเตอร์เน็ต ฯ อย่างหลังเอเยนซี่ยินดีเทงบไปให้ราว 2,000 ล้านบาท สู่ไทยแลนด์แพลตฟอร์ม หากเกิดขึ้นจริง 

กลับกันสิ่งที่เกิดขึ้น ปี 2564 สมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย)หรือ DAAT คาดเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลไปสื่ออินเตอร์เน็ตกว่า 22,000 ล้านบาท แพลตฟอร์เฟซบุ๊ก ยูทูป ครองสัดส่วนกว่า 50% ส่วนแพลตฟอร์มรับชมวิดีโอออนไลน์อื่นๆมีสัดส่วน 3% เท่านั้น  

สำหรับการจะแจ้งเกิดแพลตฟอร์มแห่งชาติ ด่านแรกคือการมี “ฮีโร่คอนเทนท์” ที่มีความสม่ำเสมอเพื่อตรึงผู้บริโภคให้ใช้เวลาบนแพลตฟอร์มให้ได้ แต่ปัจจุบันคอนเทนท์ดีถูกจับจอง “ประมูล” แย่งกันตุนไว้ในมือ ซึ่งสะท้อนให้เห็น “ความต้องการตลาดมีสูง”

ขณะเดียวกันเทรนด์การบริโภคสื่อบันเทิงยังขยายตัว ทำให้ตลาดรับชมวิดีโอออนไลน์โลกมูลค่ากว่า 1.69 ล้านล้านบาท จะโตเฉลี่ย 21% ใน 5 ปี หรืออาจโตเร็วกว่าที่คาดการณ์มาก 

“ไทยแลนด์แพลตฟอร์มเริ่มได้ แต่ยากหน่อยเท่านั้น ยังไงก็ต้องเกิด และหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ เพราะต้องไปแข่งกับแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีพลังเงิน พลังความคิด”

ไทยแลนด์แพลตฟอร์มก็ต้องปั้น ซอฟท์ พาวเวอร์ก็ต้องลุย 2 อย่างนี้ ไม่รู้จะได้เห็นอย่างไนสำเร็จก่อนกัน และไม่ต้องถึงเวทีโลก แต่ต้องเริ่มจากในบ้าน(Local) ขยายอิทธิพลสู่ภูมิภาค(Regional) และไต่สู่โลก(Global)ตามลำดับ