ผู้ว่าฯ ธปท.ยัน ให้ความสำคัญป้องกัน-รับมือภัยไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล
"เศรษฐพุฒิ" ชี้ความเสี่ยงภัยไซเบอร์ทวีจำนวน-หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ยืนยัน ธปท.ให้ความสำคัญกับการยกระดับเพื่อป้องกันและรับมือภัยไซเบอร์ของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Bangkok FinTech Fair 2021: Shaping Digital Finance in the New Decade หัวข้อ “A New Decade of Opportunities” ว่า สำหรับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งด้านภัยไซเบอร์และการหลอกลวงที่ทวีจำนวนและความหลากหลายของรูปแบบมากขึ้น ธปท. จึงยังคงให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถให้การป้องกันและรับมือกับภัยไซเบอร์ของผู้ประกอบการทางการเงินอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ใช้บริการในการระวังป้องกันตัวเอง
โดย ธปท.มองการปรับตัวของภาคการเงินในทศวรรษนี้ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เราจะเห็นในภาคการเงินไทย ส่วนที่ 2 คือ การดำเนินงานของ ธปท. ในการสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าว ทั้งในแง่การปรับตัวของ ธปท. เอง และในแง่แนวทางของ ธปท. ที่จะวางภูมิทัศน์หรือ Landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป ส่วนที่ 3 คือ ภาพอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปที่ทำให้ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการทางการเงินได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
นอกจากการปรับตัวของ ธปท. ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงแล้ว ธปท. จะดำเนินการใน 3 แนวทางสำหรับสร้างภูมิทัศน์หรือ Landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป หรือที่เรียกกันภายในว่า 3 Open แนวทางที่ 1 หรือ Open แรก คือเรื่องของ Open, Shared and Interoperable Infrastructure ได้แก่ การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม โดยต้องเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่สามารถเข้ามาต่อยอดบริการทางการเงินได้ และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน ประเด็นนี้เป็นเรื่อง Open Infrastructure
นอกจากนี้ ต้องมีการ Share Infrastructure เพื่อลดต้นทุน และทำให้ Infrastructure ที่สร้างขึ้นมา Interoperable หรือสามารถเชื่อมโยงกันได้ ตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน ด้านการชำระเงิน หรือที่เรียกว่า “Smart financial and payment infrastructure for business” ที่จะเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจ การรับส่งใบแจ้งหนี้ การชำระเงินและการชำระภาษี พร้อมใบเสร็จรับเงิน ให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการตรวจสอบข้อมูล การจ่ายและรับเงินได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วลดความผิดพลาดและโอกาสเกิดการทุจริต รวมทั้งนำไปต่อยอดได้ เช่น ใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อขอสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ขณะเดียวกัน การพัฒนาเงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC ก็จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบการเงินของเราในอนาคต เพิ่มทางเลือกสำหรับประชาชนและธุรกิจให้สามารถเข้าถึงเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยได้ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่างๆ และ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการหลากหลายประเภทนำไปพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติมได้ และยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ ธปท. ร่วมผลักดัน เช่น Digital ID ภายใต้ NDID Platform เพื่อใช้ยืนยันตัวตนสำหรับธุรกรรมในภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และภาครัฐ
โดยเป็นที่น่ายินดีว่า มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งาน NDID แล้วเกือบ 2 ล้านราย ในอนาคต ธปท. จะร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในการผลักดันให้มีการใช้งาน Digital ID อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนา Digital ID สำหรับนิติบุคคลในระยะต่อไป
อ่านข่าว : ‘แรนซัมแวร์’ ป่วน!! เติบโต 1000% ต่อปี องค์กรธุรกิจถูกโจมตีระนาว
แนวทางที่ 2 หรือ Open ที่ 2 คือเรื่องของ Open Environment ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเท่าเทียมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมจากผู้เล่นทุกประเภท โดยจะปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อทั้งการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิมและการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ กำกับดูแลเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ หรือ Risk Proportionality
รวมถึงการปรับปรุง Regulatory Sandbox ของ ธปท. ให้ยืดหยุ่น เปิดรับนวัตกรรมของผู้เล่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมสามารถเข้าทดสอบได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระที่ผู้ประกอบการต้องติดต่อกับผู้กำกับดูแลหลายราย
แนวทางที่ 3 หรือ Open ที่ 3 คือเรื่อง Open Data คือ การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นทิศทางที่ทุกประเทศกำลังเดินหน้าไป สำหรับในภาคการเงินไทย การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำถูกต้องในการวางนโยบาย การบริหารความเสี่ยง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ การเปิดให้เข้าถึงข้อมูลสะดวกขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยี APIs ที่มีมาตรฐานร่วมกัน จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมของการมีข้อมูล และเพิ่มประโยชน์จากการใช้ Digital Footprint ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันที่บริการอย่างแท้จริง โดยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ ซึ่งในการเชื่อมโยงข้อมูลทางการเงินเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรฐานและแนวทาง
ในการใช้งานร่วมกัน ปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับภาคธนาคารกำลังดำเนินการเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล Bank Statements เพื่อให้ลูกค้านำข้อมูลการเงินของตนเองไปขอใช้บริการอื่นๆ เช่น การขอสินเชื่อ หรือการยืนยันฐานะกับหน่วยงานอื่นได้สะดวกมากขึ้น และจะขยายไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลอื่นๆ ในระยะต่อไป โดย ธปท.จะร่วมกับผู้ประกอบการภาคการเงินกำหนดมาตรฐานและทิศทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการเงินเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรข้อมูลร่วมกันอย่างชัดเจน