วิจัยกรุงศรี แนะแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ช่วยลดติดเชื้อโควิด-19
วิจัยกรุงศรี มองว่าการใช้มาตรการที่แตกต่างกันสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาจากแต่ละประเทศจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ดีขึ้น เนื่องจากแต่ละประเทศมีความสามารถและมีความเสี่ยงในการควบคุมการระบาดที่ต่างกัน และช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19
วิจัยกรุงศรี ระบุว่า การท่องเที่ยวถือเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องเผชิญความยากลำบากจากวิกฤติโควิด-19
โดยเฉพาะจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สัญญาณฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในบางภูมิภาคจึงทำให้ประเทศไทยต้องเริ่มหันมาพิจารณาคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ วิจัยกรุงศรีมองว่าการใช้มาตรการที่แตกต่างกันสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาจากแต่ละประเทศจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ดีขึ้น เนื่องจากแต่ละประเทศมีความสามารถและมีความเสี่ยงในการควบคุมการระบาดที่ต่างกัน
การแบ่งกลุ่มประเทศขึ้นกับทั้งประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงของการระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว ประโยชน์ที่ได้รับสะท้อนรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่ความเสี่ยงของสะท้อนจากการติดเชื้อและความสามารถควบคุมโรคของแต่ละประเทศ วิจัยกรุงศรีเสนอว่าควรแบ่งประเทศออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว กลุ่มสีเหลือง กลุ่มสีส้ม และกลุ่มสีแดง โดยกลุ่มสีเขียวประกอบด้วยประเทศที่มีความเสี่ยงการนำเข้า การระบาดของโควิด-19 ต่ำและเป็นตลาดท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้มาก มาตรการที่ใช้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศจากกลุ่มนี้จึงควรมีความเข้มงวดน้อยที่สุด นอกจากนี้ รายชื่อประเทศและมาตรการที่ใช้ควรถูกนำมาพิจารณาทุก 14 วัน เพื่อให้สามารถปรับให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงทั่วโลกทำให้หลายประเทศเริ่มคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด
โดยเฉพาะมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ การเปิดให้รับประทานอาหารในร้าน การอนุญาตจัดงานที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และการเปิดการเดินทางในประเทศ การคลายล็อกดาวน์เหล่านี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวและช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศกลับมาเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดที่สูงขึ้นอีกครั้ง
ดังนั้น การจัดการและหาจุดสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการดำเนินการคลายความเข้มงวดของมาตรการในระยะต่อไป
โดยเฉพาะการเปิดประเทศเพื่อรองรับการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง จากบทความเปิดประเทศไทยอย่างไรให้พ้นภัยเศรษฐกิจและโควิด-19 ที่วิจัยกรุงศรีศึกษาขั้นตอนการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ในคราวนี้เราจะวิเคราะห์ความเสี่ยงและเสนอแนะแนวทางในการเปิดประเทศของไทย เพื่อเตรียมการเริ่มต้นรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกสูญเสียรายได้อย่างหนักเป็นเวลาเกือบสองปี แม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในบางภูมิภาค
องค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ประเมินว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกหดตัวมากถึง 60-80% จากวิกฤติการระบาดของโควิด-19
ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรีที่ใช้ข้อมูล Google Search ในการวิเคราะห์กิจกรรมการท่องเที่ยวโลกและไทย โดยจากข้อมูลความถี่ของการค้นหาเว็บไซต์เกี่ยวกับการจองที่พัก (Agoda, Expedia และ TripAdvisor)
พบว่า กิจกรรมการท่องเที่ยวโลกลดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 และเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวได้ประมาณ 50% ของระดับก่อนการระบาด (รูปที่ 1) มีแรงหนุนจากการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และในยุโรป (รูปที่ 2)
ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยยังคงซบเซาจากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศที่เข้มงวด สัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในบางภูมิภาคทำให้ประเทศไทยต้องเริ่มพิจารณาและเตรียมตัวหาขั้นตอนในการเปิดรับนักท่องเที่ยวในอนาคตเพื่อชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป
รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญของไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ในปี 2019 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.06 ล้านล้านบาท คิดเป็นถึง 20% ของมูลค่าเศรษฐกิจประเทศไทย มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.8% ต่อปีในช่วง 2017-2019 นักเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 39.8 ล้านคน
โดยตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ จีน กลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศยุโรป ที่มีสัดส่วน 27.6%, 26.8%, และ 16.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด (รูปที่ 3) และเมื่อมองในมุมการใช้จ่าย นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและตะวันออกกลางมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงสุดถึง 85,697 และ 81,262 บาท ส่วนรายจ่ายของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 48,487 บาทต่อคน (รูปที่ 4)
รายจ่ายต่อคนของนักท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศบ่งบอกประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเปิดประเทศ
วิจัยกรุงศรีมองว่า ประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยสูงและมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงจะเป็นประเทศที่เราควรพิจารณาเปิดให้เดินทางเข้ามาในประเทศก่อน
โดยจาก 45 ประเทศที่ทำการศึกษามีนักท่องเที่ยวรวม 38.4 ล้านคนหรือคิดเป็น 96.4% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด พบว่าการเปิดให้นักท่องเที่ยวจากสวีเดน สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ อิสราเอล จีน และรัสเซียเดินทางเข้าประเทศไทยจะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้มากที่สุด
การเปิดรับนักท่องเที่ยวช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงจากโควิดที่เพิ่มขึ้น
วิจัยกรุงศรีสร้างดัชนีความเสี่ยงของการระบาดในแต่ละประเทศ ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงการนำเข้าการระบาดของโควิด-19 (Risk from imported cases)
หากมีการเปิดประเทศ โดยดัชนีความเสี่ยงของการระบาดคำนวณจาก 5 ปัจจัยต่อไปนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อประชากรในช่วง 14 วันที่ผ่านมา (Total number of infections in the last 14 days) แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อ (Infection trend) จำนวนการตรวจหาเชื้อโควิดต่อประชากรในช่วง 7 วันที่ผ่านมา (Total number of COVID-19 tests in the last 7 days) สัดส่วนการเจอเชื้อโควิด-19 (Positive rate)
และสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสต่อประชากร 100 คน (Vaccine coverage per hundred persons) โดยใช้วิธี Principal Component Analysis เพื่อคำนวณดัชนี
ผลการศึกษาซึ่งแสดงในรูปที่ 5 พบว่าประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย
ซึ่งแทนด้วยสีเขียวในแผนที่ ขณะที่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกแทนด้วยสีแดง ซึ่งประเทศส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันออกและทวีปแอฟริกา การเลือกอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเดินทางเข้าประเทศไทยจะช่วยลดการนำเข้าความเสี่ยงของโควิด-19 ได้
ขณะที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ำเป็นอันดับที่ 140 จาก 224 ประเทศทั้งหมดที่นำมาประเมิน เนื่องจากการติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูง การตรวจโควิด-19 ต่ำ และสัดส่วนการตรวจเจอผู้ติดเชื้อสูง
การเปิดประเทศต้องทำอย่างระมัดระวังและเป็นขั้นตอน โดยเลือกใช้มาตรการและความเข้มงวดตามความเสี่ยงของประเทศ
การเลือกเปิดประเทศต้องคำนึงทั้งประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว ดังนั้น วิจัยกรุงศรีจึงใช้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายจ่ายของนักท่องเที่ยวรายคนมาคำนวณ Benefits score
เพื่อสะท้อนประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากประเทศนั้นๆ เดินทางเข้าไทย ส่วนความเสี่ยงจากการระบาดสะท้อนจากความเสี่ยงการนำเข้าการระบาดของโควิด-19
โดยประเทศไทยควรลดความเข้มงวดของมาตรการเดินทางเข้าประเทศให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้สูงและมีความเสี่ยงของการระบาดต่ำกว่าก่อน จากผลการศึกษาในรูปที่ 6 พบว่าประเทศที่ควรอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าประเทศก่อนจะเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มขวาบนของกราฟ
เช่น คูเวต ซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า การจัดกลุ่มประเทศเพื่อหามาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศที่เหมาะสมจะต้องพิจารณาในทั้ง 2 มิติ
คือ ด้านความเสี่ยงและความสำคัญ โดยวิจัยกรุงศรีเสนอว่าควรแบ่งประเทศออกเป็นสี่กลุ่มเพื่อจัดมาตรการที่เหมาะสม
ได้แก่ กลุ่มสีเขียวซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและมีความสำคัญสูง กลุ่มสีเหลือง (ประเทศที่มีความเสี่ยงปานกลาง) กลุ่มสีส้ม (ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง) และกลุ่มสีแดง (ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมากหรือมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยน้อย) การแบ่งกลุ่มสามารถทำได้หลายเกณฑ์ขึ้นกับว่าเรามองปัจจัยใดสำคัญกว่ากันระหว่างรายได้และความเสี่ยง
โดยในการศึกษาชิ้นนี้วิจัยกรุงศรีเสนอการแบ่งกลุ่มประเทศออกเป็นสามรูปแบบ ได้แก่ (1) ให้ความสำคัญทั้งสองปัจจัยเท่ากัน (2) ให้ความสำคัญด้านรายได้มากกว่า และ
(3) ให้ความสำคัญด้านความเสี่ยงหรือสุขภาพมากกว่า โดยรายชื่อประเทศในแต่ละกลุ่มจากการแบ่งทั้งสามรูปแบบสามารถดูจากรูปที่ 7
นอกจากประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว ประวัติการฉีดวัคซีนก็มีผลต่อการเลือกใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศด้วย หากนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศกลุ่มสีแดงและยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน มาตรการที่ใช้จะต้องมีความเข้มงวดสูง
โดยมาตรการที่ใช้รวมถึง (1) หลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดสก่อนการเดินทางอย่างน้อย 14 วัน (2) ผลตรวจ PCR ภายใน 72 ชม.ก่อนเข้าประเทศ
(3) การตรวจและสุ่มตรวจหลังจากเดินทางเข้าประเทศ (4) การลงทะเบียนรายงานตัวตามเวลาที่กำหนด (5) การกักตัวด้วยตัวเอง (6) การห้ามออกนอกเขตที่กำหนดหรือกำหนดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวที่เหมาะสม
และ (7) การกักตัวที่สถานการกักตัวของรัฐหรือเอกชนที่รัฐกำหนด การวิจัยกรุงศรีได้เสนอมาตรการที่อาจนำมาใช้แบ่งตามนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ ตามรูปที่ 8 ทั้งนี้ รายชื่อประเทศในแต่ละกลุ่มและมาตรการที่ใช้ควรถูกนำกลับมาพิจารณาทุก 14 วันเพื่อความเหมาะสมต่อไป
นอกจากการพิจารณาขั้นตอนการคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศแล้ว การควบคุมการระบาดในประเทศและการเร่งฉีดวัคซีนที่รวดเร็วจะช่วยให้ผู้คนและเศรษฐกิจในประเทศสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับมาเปิดประเทศได้เร็วขึ้น
และยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาในประเทศได้ อีกทั้ง การเตรียมรับมือป้องกันทั้งในด้านความพร้อมของระบบป้องกัน ระบบเตือนความเสี่ยงของการระบาดและการเพิ่มความสามารถในการรองรับการระบาดครั้งใหม่ยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการคลายล็อกดาวน์มาตรการเดินทางระหว่างประเทศในระยะต่อไป