ไม่มีอะไรในกอไผ่? ‘อากู๋ ไพบูลย์-ทายาท’ ขายหุ้น GRAMMY บิ๊กล็อต 52%
หุ้น “GRAMMY” สร้างความน่าสนใจ เมื่อวานนี้(18 ต.ค.64) ได้ทำการซื้อขายบนกระดานใหญ่หรือ “บิ๊กล็อต” 10 รายการ จำนวน 426.77 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 52.05% รวมมูลค่า 6,102.87 ล้านบาท
ทั้งนี้ แกรมมี่ ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัว “ดำรงชัยธรรม” ได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยการโอนหุ้นที่กลุ่มผู้ถือหุ้นดังล่าวถืออยู่ให้แก่ “บริษัท ฟ้า ดำรงขัยธรรม จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มดังกล่าว เพื่อเป็นการปรับครงสร้างการถือหุ้นภายในครอบครัวดำรงชัยธรรม และ “รองรับการกำกับดูและธุรกิจของครอบครัว” ในระยะยาว
การโอนหุ้น GRAMMY ทำให้บริษัท ฟ้า ดำรงขัยธรรม เข้ามาถือหุ้นใน GRAMMY คิดเป็น 52.05% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท และบริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
ส่วนการถือหุ้นก่อนและหลังการปรับโครงสร้าง กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมยังคงถือหุ้นในบริษัท แต่จะถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท ฟ้า ดำรวชัยธรรม และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมบริษัทแต่อย่างใด
สำหรับรายละเอียดการถือหุ้นก่อนและหลัง เป็นดังตารางด้านล่าง
แหล่งข่าวจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายในครอบครัวครั้งนี้ เปรียบเสมือนการ “แบ่งมรดก” ให้กับทายาท จากเดิมทั้ง “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” แม่ทัพใหญ่ผู้ปลุกปั้นแกรมมี่ ถือหุ้นสัดส่วนใหญ่สุด 47.91% ขณะที่บรรดา “ทายาท” ถือหุ้นกันคนละเล็กละน้อย
“คุณไพบูลย์หวงหุ้นยิ่งกว่าอะไร การปรับโครงสร้างครั้งนี้ ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารบริษัทด้วย”
ขณะที่บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำกัด ซึ่งเป็นโฮลดิ้งของครอบครัว “ดำรงชัยธรรม” ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 โดยมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แน่นอนว่ารายชื่อคณะกรรมการ ประกอบด้วย อากู๋และลูกๆ ครบ “ไพบูลย-ฟ้าใหม่-ระฟ้า-อิงฟ้า-ฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม”
++ได้เวลา “ทายาท” เคลื่อนธุรกิจ
แม้การโอนหุ้นบิ๊กล็อต บริษัทจะแจงว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอำนาจบริหาร แต่ที่น่าสนใจ นี่เป็นการขยับตัวของตระกูล “ดำรงชัยธรรม” ในการวางแนวทางกำกับกิจการครอบครัว ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ที่น่าจับตาคือการ “ผ่องถ่าย” ธุรกิจให้บรรดาทายาท ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ สานต่อแกรมมี่อย่างไร การ “วางมือ” ของผู้ปลุกปั้นอย่าง “อากู๋ ไพบูลย์” จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะเป็นเวลาหลายปีที่ผู้กุมบังเหียน ไม่ปรากฏกายต่อหน้าสื่อมวลชนมากนัก เว้นมีงานใหญ่ เช่น กลางปี 2563 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ออกมาถกปัญหาเรื่อง “เรียงช่องทีวีดิจิทัล”
ขณะที่ทายาท ต่างตบเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจตามรอย “อากู๋” เรียบร้อยแล้ว ที่โดดเด่นและเห็นกันบ่อยๆ คือ “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” รับบทเป็นแม่ทัพกลยุทธ์ธุรกิจมิวสิค ส่วน “ระฟ้า ดำรงชัยธรรม” ดูแลด้านการตลาดให้กับกลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด(มหาชน) ทำงานเคียงบ่าเคียงเคียงไหล่ “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” เป็นเวลาหลายปี เรียกว่าเหมือนได้ “กุนซือ” ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำธุรกิจทีวี เพื่อมุ่งสู่การเป็นคอนเทนท์โปรวายเดอร์ อย่างที่ “อากู๋” หมายมั่นไว้
ดังนั้น การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จึงต้องตามต่อว่า “ภายใน” องค์กรจะมีการเขย่าการทำงานอะไรอีกบ้าง โดยเฉพาะการทำงานของทายาท รวมถึงการกำกับดูแลธุรกิจครอบครัวในระยะยาวจะมีอะไรเป็น “ข้อปฏิบัติ” และข้อห้าม ตามคัมภีร์ธุรกิจครอบครัว
++“อาณาจักรเพลงเบอร์ 1”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” คือค่ายเพลงอันดับ 1 ของเมืองไทย ทำตลาดเข้าสู่
ทศวรรษที่ 4 ปัจจุบันมีศิลปินในเครือจำนวนมาก ยิ่งกว่านั้น ผลงานเพลงที่ถูกสร้างสรรค์จากอดีตถึงปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 เพลง หรือครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 60% ของตลาดเพลงในประเทศไทย
“แกรมมี่” ผ่านช่วงเติบโต และเผชิญสารพัดความเปลี่ยนแปลง เฉพาะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจทำเงินกว่า 8,000 ล้านบาท แต่ต้องประสบภาวะ “ขาดทุน” หนึ่งในตัวแปรที่กระเทือนธุรกิจ หนีไม่พ้นกระแส “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ยิ่งกว่านั้นคือการเลือกประมูลทีวีดิจิทัลราคาแสนแพงมาไว้ในมือ 2 ช่อง อย่างจีเอ็มเอ็ม 25 และช่องวัน 31 ที่บริษัทถือหุ้นอยู่
ทั้งนี้ ช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา รายได้บริษัทค่อนข้างหดตัว แต่บางปีพลิกมี “กำไร” บ้าง ขณะที่ปี 2563-2564 เป็นอีกปีที่บริษัทต้องเจอวิกฤติโควิดเหมือนทั้งโลก กระทบผลการดำเนินงาน
การเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ทำให้ช่วงปี 8 ปีที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีการ “ผ่าตัด” องค์กรหลายด้าน โดยทำอย่างเข้มข้นจะอยู่ในปี 2557-2558 ทั้งปรับตัวในการทำ “ธุรกิจเพลง” ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ยังทำเงินสูงสุดราว 50% ของบริษัท ต้องทรานส์ฟอร์มไปสู่การหารายได้ใหม่ๆบนโลกออนไลน์ ดิจิทัล
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการปรับโครงการลงทุน ซึ่งอดีตแกรมมี่ เข้าไปถือหุ้นบริษัทย่อยยิบยับหลาย 10 บริษัท เช่น ธุรกิจหนังสือ ซีเอ็ดยูเคชั่น ธุรกิจอีเวนท์ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ฯ ปัจจุบันองค์กรลีนลงมาก มีการถือหุ้นในธุรกิจสำคัญอย่าง “เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์” หรือช่องวัน31 ร่วมทุนกับพันธมิตรในธุรกิจที่มองว่าเป็นขุมทรัพย์ในอนาคต จึงถือหุ้นใน “โรจูคิส” เป็นต้น
วันนี้ภารกิจของแกรมมี่ ไม่เพียงสร้างการเติบโตต่อ แต่คือการ “ฟื้นกำไร” ให้กลับมาแตะระดับ 1,000 ล้านบาท จากอดีตแกรมมี่เคยทำกำไรสูงสุดที่ 700 ล้านบาท เมื่อปี 2551 ส่วนปี 2563 โควิดเล่นงานบริษัททำให้ต้อง “ขาดทุน” กว่า 175 ล้านบาท ส่วนปี 2564 ที่มีกำไร เพราะเกิดจากรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม