ฮาวทู ‘ซื้อของออนไลน์’ จากต่างประเทศ แบบไหนปลอดภัย ไม่ต้องกลัวโดน ‘โกง’

ฮาวทู ‘ซื้อของออนไลน์’ จากต่างประเทศ แบบไหนปลอดภัย ไม่ต้องกลัวโดน ‘โกง’

เปิดทริค "ซื้อของออนไลน์" ใน "ต่างประเทศ" ให้ "ปลอดภัย" ในการชำระเงิน และไม่ตกเป็นเหยื่อแม่ค้าย้อมแมวขายของ "ไม่ตรงปก"

การ “ซื้อของออนไลน์” กลายเป็นทางเลือกหลักที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้บรรดานักช้อปในช่วงโควิด-19  โดยเฉพาะ "การซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศ" ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองผ่านสมาร์ทโฟน เรียกได้ว่าแค่นิ้วสัมผัสก็ได้รับของจากอีกฟากโลกส่งตรงถึงหน้าประตูบ้าน

ความง่ายในการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์เหล่านี้ ทำให้หลายคนมองข้ามความอันตรายที่อาจแฝงมากับความสะดวกสบายเหล่านี้ ทั้ง "ภัยทางการเงิน" และการย้อมแมวสินค้าที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะฉะนั้นก่อนที่จะสั่งซื้อของจากต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดี และทำความเข้าใจหลายๆ เรื่อง ก่อนเริ่มต้นซื้อขายโดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

 

  •  ก่อนซื้อ 

- ทำการบ้านเรื่องการสั่งของออนไลน์จากต่างประเทศก่อนซื้อจริง ก่อนจะซื้ออะไรจากต่างประเทศอาจจะต้องเสียเวลาในการทำความเข้าใจแพลตฟอร์มกันสักนิด ตั้งแต่ภาษาที่ใช้เพราะบางแพลตฟอร์มไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในเมนูการใช้งาน

นอกจากนี้ยังควรอ่านเงื่อนไขในการช้อปออนไลน์ก่อนใช้งาน เพื่อจะได้รู้ขั้นตอนการสั่งซื้อ วิธีการจ่ายเงิน การแจ้งข้อผิดพลาดระหว่างการใช้งาน การตรวจรับสินค้า นโยบายการขอคืนเงินหรือสินค้า เมื่อไม่ได้รับสินค้า หรือสินค้ามีปัญหา

- ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้า ในกรณีที่ไม่ได้ซื้อสินค้าจากร้านค้าเจ้าของแบรนด์โดยตรง ควรตรวจสอบผู้ชายให้ละเอียดก่อนซื้อ เช่น ดูจากรีวิวผู้ซื้อหลายๆ แหล่ง ลองพูดคุยสอบถามกับคนขาย และดูการให้คะแนนร้านค้าประกอบก่อนตัดสินใจ หรืออาจเลือกซื้อผ่านแอพพลิเคชั่น หรือผู้ขายที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เช่น แอพพลิเคชั่นทางการ เพื่อลดโอกาสการถูกโกงแบบจับมือใครดมไม่ได้ สำหรับคนที่ไม่เคยสั่งมาก่อน หรือเป็นมือใหม่ที่ลองสั่งครั้งแรกอาจเริ่มต้นจากการสั่งจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อทดลองระบบการใช้งาน

- ตรวจสอบรายละเอียดสินค้า สินค้าไม่ตรงปก เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ผู้บริโภคต้องเจอเมื่อสั่งซื้อสินค้าต่างจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าอย่าลืมเช็คขนาด สี ลวดลาย หรือจำนวนชิ้นของสินค้าให้แน่ใจ เลี่ยงร้านที่ให้ข้อมูลไม่ละเอียดพอต่อการตัดสินใจ เพราะอาจได้สินค้าไม่ตรงตามความต้องการ

  •  ระหว่างซื้อ 

- เลี่ยงใช้ฟรี WI-FI สาธารณะที่ไม่รู้ที่มาที่ไปในขณะซื้อของออนไลน์

- ซื้อของผ่านอุปกรณ์ส่วนตัวเท่านั้น จะช่วยป้องกันการดักขโมยข้อมูลจากมิจฉาชีพได้

- ตรวจสอบข้อมูลในการรับสินค้า ได้แก่ ชื่อ-สกุล ที่อยู่และเบอร์ติดต่อของเราในการจัดส่งให้ถูกต้อง

- ตรวจสอบเอกสารสั่งซื้อ ให้แน่ใจว่าสินค้าตรงตามความต้องการ และต้องเก็บหลักฐานการสั่งซื้อไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง รวมถึงการถ่ายรูปหน้าจอที่เห็นรายละเอียดสินค้าและยอดเงินที่เราจ่ายเก็บไว้อีกรอบหนึ่ง เพื่อเป็นการยืนยันว่าสินค้าที่เราสั่งซื้อตรงกับเอกสารที่ออกมาหรือไม่

- อย่าลืม! ตรวจสอบระยะเวลาในการจัดส่ง แต่ละครั้งว่าใช้เวลาประมาณกี่วัน ช่วงนั้นเราสะดวกรับสินค้าหรือไม่ ทันต่อการนำไปใช้งานหรือเปล่า

  •  "ซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศ" เลือก "จ่ายเงิน" แบบไหนดี ? 

ช่องทางการจ่ายเงินเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากๆ เนื่องจากการซื้อสินค้าออนไลน์ในต่างประเทศอาจมีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะกับสินค้าและเงื่อนไขการใช้บริการจึงเป็นเรื่องที่ต้องมาเปรียบเทียบให้ดี โดยปัจจุบันมีหลากหลายช่องทางที่สามารถใช้ชำระเงินในการซื้อของต่างประเทศได้ โดยแบ่งออกเป็น 5 ทางเลือกหลักๆ

1. จ่ายผ่าน "บัตรเดบิต"

2. จ่ายผ่าน "บัตรเครดิต"

3. การชำระเงินผ่านโซเชียลมีเดีย ที่จะมีผู้ทำหน้าที่เป็น Payment Gateway อีกทีหนึ่ง แล้วให้ผู้ซื้อเลือกจ่ายค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร เป็นต้น 

4. การชำระเงินผ่านตัวกลาง ที่เป็นผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (PayPal) ที่สามารถผูกบัญชีกับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคารได้ 

5. การชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง

"นิตยสารฉลาดซื้อ" เคยเปิดเผยงานวิจัยได้มีการศึกษาลักษณะการใช้จ่ายเงินรูปแบบต่างๆ พบว่าช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน “บัตรเครดิต” มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศไทย

เนื่องจากการจ่ายผ่านบัตรเครดิตต้องใส่หมายเลขบัตรเครดิต รหัส CVV 3 หลักหลังบัตร และรหัส OTP ยืนยันซ้ำ อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ และต้องการเรียกเงินคืน ผู้บริโภคมีสองทางเลือกในการติดต่อ ทั้งการติดต่อผู้ขาย หรือตลาดกลางซื้อขายออนไลน์ เพื่อขอคืนเงิน (refund) โดยตรง

หรือในกรณีที่ติดต่อผู้ขายไม่ได้ หรือผู้ขายปฏิเสธที่จะคืนเงินให้ ผู้ซื้อสามารถติดต่อธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อยื่นเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) โดยธนาคารอาจใช้เวลาในการตรวจสอบและดำเนินการคืนเงินภายใน 45-90 วัน

สำหรับการจ่ายค่าสินค้าในต่างประเทศผ่านบัตรเครดิตก็มีคอนเซ็ปต์ที่เหมือนกันกับจ่ายในประเทศ แต่อาจมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงแต่ผู้ใช้อาจจะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่นความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากเรื่องความปลอดภัยในการกรอกข้อมูลเลขบัตรเครดิตที่สำคัญลงไป 

 

  •  หลังซื้อ 

ควรถ่ายภาพสินค้าที่ได้รับเก็บไว้ ส่วนสินค้าที่อยู่ในพัสดุ ควรถ่ายวิดีโอขณะแกะหีบห่อไว้ด้วย หากสินค้าไม่ครบถ้วน ชำรุด เสียหาย หรือไม่ได้มาตรฐาน จะได้มีหลักฐานประกอบการขอคืนเงิน การเปลี่ยนสินค้า หรือระงับการชำระเงิน

กรณีจ่ายด้วยบัตรเครดิต ทันทีที่ได้รับใบแจ้งยอดบัตรเครดิตมา รีบตรวจสอบว่าตรงกับยอดที่เราใช้จ่ายไปจริงหรือไม่ หากไม่ตรงต้องรีบติดต่อผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารผู้ออกบัตรและแจ้งแพลตฟอร์มที่ซื้อให้ทราบปัญหา เพื่อแก้ไขให้ทันท่วงที

 

ที่มา: