"ดูดเงิน" จากบัญชี รัฐต้องเร่งกฎหมาย
ปรากฏการณ์มีผู้เสียหายถูกหักเงินออกจากบัญชีแบบผิดปกติ จากบัตรเครดิตและบัตรเดบิต สร้างความแตกตื่นในวงกว้าง แทบจะทันทีที่เกิดเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาสั่งการแก้ไขเรื่องนี้ด่วน ด้าน ธปท. ประกาศกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ
ปรากฏการณ์ลูกค้าธนาคารพาณิชย์จำนวนมาก ถูกหักเงินออกจากบัญชีแบบผิดปกติและติดต่อกันหลายครั้ง จากการผูกกับบัญชีธนาคารที่มีบัตรเครดิตและบัตรเดบิต สร้างความแตกตื่นในวงกว้าง วันนี้อยู่ระหว่างการคลี่ปมปัญหาหลังกระแสข่าวเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์
และอาจจะมีข่าวดีในการป้องกันเยียวยา เพราะแทบจะทันทีที่เกิดเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกมาแสดงความเป็นห่วง และสั่งการพิเศษเป็นการด่วน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขะมักเขม้นทำหน้าที่พร้อมชี้แจงตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา
ข้อมูลยอดรวมบัตรที่เข้าข่ายผิดปกติระหว่างวันที่ 1-17 ต.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 10,700 บัตร แบ่งเป็นรายการผิดปกติอย่างละครึ่งๆ ระหว่างบัตรเดบิตและบัตรเครดิต มูลค่าความเสียหายบัตรเครดิต 100 ล้านบาท ส่วนบัตรเดบิตอยู่ที่ 30 ล้านบาท
สมาคมธนาคารไทยระบุว่าเกิดขึ้นจากการที่มิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศ ที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) ทั้งหมดมาจากธุรกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ และเป็นการซื้อขายกับร้านค้าในต่างประเทศที่มีมูลค่าไม่มากนัก
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการสืบสวนสอบสวน จับกุม ปราบปรามภัยทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ พร้อมขยายผลถึงเครือข่ายของผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาแถลงข่าวดูแล รวมถึงแจ้งเตือนภัยที่เกิดขึ้นจากการคุกคามทางไซเบอร์ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการออกร่าง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ
โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการทำธุรกิจออนไลน์ มีการซื้อขาย มีการโอนเงิน ต้องมาจดแจ้งการประกอบธุรกิจกับภาครัฐและมีการยืนยันตัวตน หากแล้วเสร็จคาดว่าสามารถรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นอีก
ที่น่าสนใจ วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ประกาศกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหา มีการยกระดับความเข้มข้นในการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมทั้งธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำและที่มีความถี่สูง
พร้อมรับประกันหากตรวจสอบพบว่าลูกค้าได้รับผลกระทบจากการทุจริต กรณีบัตรเดบิต ลูกค้าจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ ส่วนกรณีบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว นอกจากนี้จะเฝ้าติดตามกิจกรรมจากต่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ
เราเห็นว่าหน่วยงานทั้งหมดข้างต้น มีความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ ผลประโยชน์จึงน่าจะตกอยู่กับคนไทย
อย่างไรก็ตาม ความไม่ประมาทดีที่สุด ระหว่างที่รอกฎหมายใหม่จากดีอีเอส ประชาชนเองก็ต้องช่วยเหลือตนเอง เฝ้าระวังการใช้ธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากประเด็นเรื่องเงินแล้ว ข้อมูลที่รั่วไหลอาจเป็นอันตรายมากกว่า เรื่องนี้ไม่ใหม่ เกิดขึ้นมาก่อนและยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ สถาบันการเงินน่าจะมีมาตรการป้องกันดูแลลูกค้าได้มากขึ้นอีก หน่วยงานรัฐจะทำอย่างไรไม่ให้กฎหมายวิ่งตามหลัง ทุกฝ่ายต้องไม่นิ่งนอนใจ