เอสเอฟฯ ชี้โรงหนังฟื้นตัวเร็ว ลุ้น 1 พ.ย.ปลดล็อก “เคอร์ฟิว”
บรรยากาศธุรกิจโรงภาพยนตร์มีความหวัง ฟื้นตัวต่อเนื่อง คอนเทนท์หนังฟอร์มยักษ์ดึงคนเสพความบันเทิงนอกบ้าน แต่เคอร์ฟิวยังเป็นตัวแปรส่งผลต่อรอบฉายน้อย เอสเอฟ ซีนีมา ลุ้นเปิดเมือง ปลดล็อกเคอร์ฟิว หนังทำรอบมากขึ้น
ถูกล็อกดาวน์ 158 วัน สำหรับโรงภาพยนตร์ในพื้นที่สีแดงเข้ม พอคลายล็อกให้กิจการกลับมาเปิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา บรรยากาศโรงหนังคึกคักขึ้นมา แรงส่งสำคัญคือคอนเทนท์ “หนังฟอร์มยักษ์” ที่่ตบเท้าเข้าฉายจนคนดูอาจไล่ดูไม่ทัน เป็นปัญหาที่มีความสุข(Happy Problem)
แม้โรงหนังกลับมาเปิดให้บริการ แต่ปัจจุบันยังติดล็อกมาตรการ “เคอร์ฟิว” การห้ามรับประทานป๊อปคอร์น เครื่องดื่มในโรงหนังจึงมีผลต่อธุรกิจบ้าง แต่โดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดี
พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ทันทีที่โรงหนังเปิดให้บริการ ผู้บริโภคกลับมาใช้บริการหนาตา โดยเฉพาะวันหยุด และวันที่หนังฟอร์มยักษ์เข้าฉายทั้ง Black Widow เจมส์ บอนด์ No Time to Die , เช่น 13 ตุลาคมที่ผ่านมา คนดูแน่นขนัดจนถึงเก้าอี้แถวหน้า
นอกจากนี้ พฤติกรรมคนดูยังใช้บริการโรงหนังพรีเมี่ยมมากขึ้น เนื่องจากโรงมีพื้นที่สำหรับเว้นระยะห่างทางสังคมค่อนข้างมาก เพื่อป้องกันตัวเองจากไวรัส ส่วนการซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ นอกจากใช้ออนไลน์เพิ่มอย่างมีนัยยะ ลดการสัมผัส แต่ยังมีการจอตั๋วล่วงหน้ากันมากขึ้น เช่น จองวันพุธ ดูวันอาทิตย์ เพื่อวางแผนการใช้ชีวิตนอกบ้านให้คุ้ม รวมถึงอาจมีข้อจำกัดจำนวนที่นั่ง การไปทำธุรกรรมจองตั๋วที่สาขาอาจหมด พลาดดูคอนเทนท์โปรด เป็นต้น
“วิกฤติโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงหนังถูกปิดให้บริการ 158 วัน ซึ่งยาวนานที่สุดตั้งแต่เราทำธุรกิจโรงหนังมา แต่เมื่อกลับมาเปิดให้บริการ ตลอดระยะเวลา 18 วันที่ผ่านมา ผลตอบรับจากคนดูดีมาก และเราเตรียมความพร้อมทั้งด้านสุขอนามัย ทำแคมเปญ Comeback to Cinema ดึงผู้ชม หนังฟอร์มใหญ่เข้าฉายอย่างต่อเนื่องจนดูไม่ทัน และเป็นแฮปปี้ พร็อบเบลม แต่ภาพรวมถือว่าค่อนข้างดี"
เมื่อธุรกิจโรงหนังพึ่งพาคอนเทนท์ ภาพยนตร์ดี โดนใจคนดู ช่วงโค้งสุดท้ายปี 2564 ยังคงมีหนังใหญ่จ่อคิวเข้าฉายต่อเนื่อง เช่น Fast & Furious 9 หนังไทยอย่าง ร่างทรง เป็นต้น ทว่า หนังเพียบ โรงหนังพร้อม แต่อีกปัจจัยที่มีผลต่อการฉายภาพยตร์ คือ “เคอร์ฟิว” ซึ่งล่าสุดจะมีการลดเวลาลงจากเดิม 22.00-03.00 น. เป็น 23.00-03.00 น. ทำให้โรงหนังต้องเกาะติดเพื่อปรับตารางฉายให้เหมาะสม
ตอบโจทย์คนดู และไม่เพียงเคอร์ฟิว ที่มีผลต่อรอบฉาย แต่หนังฟอร์มยักษ์ที่ “ยาว” ขึ้น เป็นอีกตัวแปรด้วย
ทั้งนี้ แต่ละวันเอสเอฟฯ สามารถฉายหนังได้เฉลี่ยราว 3 รอบเท่านั้น โดยรอบแรกจะอยู่ราว 11.00 น. และรอบสุดท้ายอยู่ที่ 17.00-18.00 น. หากเวลาให้บริการขยายเพิ่ม หลังลดเวลาเคอร์ฟิว จะเริ่มเห็นรอบฉายดึกขึ้นช่วง 19.00 น.
นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ที่ยังระบาด อีกกฎเหล็กที่โรงหนังต้องเจอ คือมาตรการห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ลูกค้ามีการแสดงความเห็นกับทางโรงหนังถึงการบริโภคอาหารที่ร้านอาหารได้ แต่กลับทานป๊อปคอร์น เครื่องดื่มในโรงหนังไม่ได้ แต่บริษัทต้องแสดงป้ายสัญลักษณ์ และให้พนักงานทำความเข้าใจกับลูกค้าต่อเนื่อง
วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ นโยบายรัฐจะเปิดประเทศ พิมสิริ คาดว่าบรรยากาศจะยิ่งเอื้อต่อธุรกิจโรงหนัง และหวังมาตรการ “เคอร์ฟิว” จะช่วยปลดล็อกให้ทำรอบฉายได้มากขึ้น
ปัจจุบันการทำธุรกิจโรงภาพยนตร์มีความท้าทายยิ่งขึ้น แต่งานวิจัยตลาดมากมาย ระบุว่าผู้บริโภคมีความต้องการใช้ชีวิตนอกบ้านดังเดิม และธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังเป็นหนึ่งในคำตอบที่สนองไลฟ์สไตล์การเสพความบันเทิงของผู้บริโภคด้วย
“หลังคลายล็อก ธุรกิจโรงภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งหมวดที่มีการฟื้นตัวเร็ว ผู้บริโภคกลับมาดูหนังเหมือนเดิม โดยที่ทุกคนยังคงระวังตัว แต่ปีนี้โรงหนังถูกปิดยาวมีผลต่อยอดขายตั๋วอย่างแน่นอน ขณะที่มองข้ามช็อตไปปี 2565 ทิศทางหนังฟอร์มยักษ์ยังแข็งแกร่ง และพร้อมต่อคิวเข้าฉายอีกเพียบ หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาถูกเลื่อนไปค่อนข้างมาก และภายใต้บริบทธุรกิจทีเปลี่ยนไป สตรีมมิ่งเข้ามามีบทบาท แต่ค่ายหนังต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับการนำคอนเทนท์มาฉายที่โรงหนังเป็นลำดับแรก โจทย์ของเอสเอฟฯ ต้องทำการบ้านหนักเพื่อหากลยุทธ์ สร้างประสบการณ์ให้คนดู”