ทิพยประกันภัย ย้ำเงินกองทุนแกร่ง พร้อมรับโอนลูกค้าประกันโควิดของเอเชียฯ
"ทิพยประกันภัย" ย้ำเงินกองทุนแกร่ง คาร์เรโช 263% และ ประกันภัยโควิดมีทำประกันภัยต่อต่างประเทศมากกว่า 50% แจงการรับโอนย้ายลูกค้าประกันโควิดของเอเชียประกันภัย ย้ำให้ความคุ้มคร่องรักษาพยาบาลโคม่า ไม่ใช่เจอจ่ายจบ ยันไม่เป็นภาระต่อบริษัท พร้อมช่วยเหลือประชาชน
นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TIPH) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัทเป็น 1 ใน 13 บริษัทประกันวินาศภันที่เข้าร่วมโครงการโอนความคุ้มครองลูกค้าเอเชียประกันภัย ที่ถือประกันภัยโควิดและยังไม่สิ้นความคุ้มครองจำนวน 7.7 แสนคน ซึ่งมีหลายฝ่ายทั้งลูกค้าและผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวนหนึ่ง มีความวิตกกังวลเกี่ยวกรณีดังกล่าวว่า บริษัทจะได้รับผลกระทบจนเกิดปัญหาตามมาหรือไม่นั้น
บริษัทขอยืนยันว่า กรมธรรม์ประกันภัยโควิดของลูกค้าเอเชียประกันที่เปลี่ยนหรือโอนย้ายมาทำนั้น จะเป็นเงื่อนไขความคุ้มครองประกันภัยโควิด ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอาการโคม่า วงเงินความคุ้มครอง 300,000 บาท เบี้ยประกัน 300 บาทต่อปี ไม่ใช่ความคุ้มครองเจอจ่ายจบแต่อย่างใด อีกทั้งลูกค้าเอเชียประกันภัยต้องมีแสดงเจตจำนงค์เปลี่ยนหรือโอนเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนหรือโอนย้ายมาอัตโนมัติทั้งหมด
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ประกันภัยโควิดของลูกค้าเอเชียประกัน จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระและไม่ส่งผลกระทบฐานะการเงินของบริษัทอย่างใด แต่บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่เข้าร่วมโครงการความช่วยเหลือดังกล่าวของคปภ. เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าเอเชียประกันภัย ช่วยคลายความกังวลให้กับประชาชาชน และช่วยลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยในภาพรวม
นายสมพร กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุน(คาร์เรโช) อยู่ที่ 263% ประเมินว่า บริษัทยังคงมีสถานะเช่นนี้ไปได้จนถึงสิ้นปีนี้ ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ขึ้นมา มั่นใจว่าจะไม่กระทบแต่ฐานะการเงินของบริษัทแต่อย่างใด และบริษัทประเมินว่า หากลูกค้าประกันภัยโควิดของเอเชียประกันภัยกว่า 7.7 แสนคน โอนย้ายมาทำประกันภัยโควิดของบริษัทในโครงการ ที่คุ้มครองเฉพาะการเสียชีวิตและโคม่า บริษัทยังสามารถรองรับได้ทั้งหมด
"ความคุ้มครองโคม่าในนิยามคงไม่ใช่หมายถึง ติดเชื้อแล้วไปอยู่ไอซียูแล้วได้รับความคุ้มครอง แต่ส่วนใหญ่โคม่าในที่นี้จะเป็นภาวะก่อนการเสียชีวิตตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่รองรับประชาชนจุดนี้จึงไม่กระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด"
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีการรับประกันภัยโควิดทั้งสิ้น 5 ล้านกรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันราว 2.5 พันล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมแล้วกว่า 5 หมื่นราย คิดเป็นจำนวนเงินราว 2 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทไม่มีการขายประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบมาตั้งแต่แรก และปัจจุบันเหลือเพียงการขายประกันภัยโควิดคุ้มครองการเสียชีวิตโคม่า เพียง 2 แผน ได้แก่ แผนความ คุ้มครอง 300,000 บาท เบี้ยประกัน 300 บาท และความคุ้มครอง 5 แสนบาท เบี้ยประกัน 500 บาท
นอกจากนี้ การรับประกันภัยโควิดของบริษัท ได้มีการทำประกันภัยต่อต่างประเทศ (รีอินชัวรันส์ ) ไว้มากกว่า 50% ถือว่าเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก และบริษัทมีการคำนวณความเสี่ยงการรับประกันภัยโควิดอย่างแม่นยำและมีการปรับเงื่อนไขได้ตรงกับสถานการณ์ ดังนั้นรีอินชัวรัส์จึงยังมีความมั่นใจที่สนับสนุนต่อไป ทำให้บริษัทไม่มีความกังวลในวิกฤติครั้งนี้และพร้อมที่จะให้ความคุ้มครองอยู่เคียงข้างประชาชน
ประกอบกับความเสี่ยงการรับประกันภัยอื่นๆ ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ ซึ่งในส่วนของบริษัทอัตราความเสียหายของประกันภัยอื่นๆ ลดลงเฉลี่ย 3% ถือว่าค่อยข้างมาก ช่วยบาลานซ์ความเสียหายได้ดี
ขณะเดียวกันบริษัท ประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศ เชื่อว่าหลังจากนี้คงจะมีความรุนแรงไม่มาก เท่ากับช่วงที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลมีประสบการณ์รับมือการระบาดที่ผ่านมาแล้ว รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ต่างได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และเข็มสองไปแล้วจำนวนมาก รวมถึงการเริ่มฉีดเข็มสาม ทำให้ความเสี่ยงในการรับประกันภัยโควิดแบบความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลหรือโคม่า หรือกรณีไม่เข้ารักษา มีความเสี่ยงเคลมสินไหมลดลง ขณะที่บริษัทไม่มีการขายความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าในอนาคตมีการระบาดกระลอกใหม่ บริษัทก็ยังอยู่ในภาวะรองรับได้
“เราประเมินอัตราค่าสินไหมประกันภัยโควิดของบริษัทกรณีเลวร้ายสุด ไม่เกิน 3 พันล้านบาท จากปัจจุบันจ่ายสินไหมแล้ว 2 พันล้านบาท เพราะเราไม่มีเจอจ่ายจบ ขณะที่จากสถิติอัตราความเสียหายประกันภัยโควิดของอุตสาหกรรม พบว่า เฉพาะค่ารักษาพยาบาลหรือโคม่าอยู่ที่ 100-120%เท่านั้น เมื่อเทียบกับแบบ เจอจ่ายจบ พุ่งถึง 300-400 % และหากมีการระบาดระลอกใหม่ซึ่งแบบเจอจ่ายจบยังมีความคุ้มครองอยู่จะสิ้นสุดในช่วงมี.ค.ปีหน้า ดังนั้นมีโอกาสที่ค่าสินไหมประกันภัยโควิดทั้งระบบจะพุ่งแตะ40,000 ล้านบาท จากค่าสินไหมรอบนี้ปัจจุบันคาดว่าใกล้ถึง 30,000 ล้านบาท”