เปิดประเทศบูม “เศรษฐกิจ” ความท้าทายใหม่ฟื้นพิษโควิด
1 พ.ย.นี้ ไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านช่องทางอากาศแบบไม่ต้องกักตัวตามการประกาศนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากนี้มีเวลาไม่ถึง 10 วัน ที่จะเตรียมรับการประเทศและการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
สำหรับเงื่อนไขสำคัญของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ การเดินทางมาจากกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ โดยมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ และมีผลการฉีดวัคซีนครบโดสจะเดินทางไปแต่ละจังหวัดในประเทศไทยได้
"สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้ทุกคนกลับมาทำมาหากินกันได้ปกติอีกครั้งเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และรัฐบาลพูดเสมอว่ามีความมั่นใจและตั้งใจที่จะเปิดเมืองอีกทั้ง ทั้งยังมีเมืองต้นแบบที่จังหวัดภูเก็ตอยู่แล้ว ในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์
สำหรับการจะเปิดเมืองแต่ละจังหวัดเป็นเรื่องที่รัฐบาลสนับสนุนหากมีความพร้อมจริง โดยจะเห็นว่าโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ มีการจองถึงข้ามปีถึงเดือน ก.พ.2565 มากกว่า 700,000 คืนแล้ว จึงมองว่าต่อจากนี้ หากทุกคนร่วมมือกันเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ประมาทและมีการฉีดวัคซีน จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นแน่นอน
รวมทั้งหากประเมินจากโครงการการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ พบว่าจากจำนวนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการติดโรคโควิดที่แพร่ระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติกับคนไทยเลย ดังนั้น ขอให้มั่นใจและร่วมเดินหน้าพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย เพื่อนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนและรักษาการจ้างงาน โดยใช้โอกาสนี้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยจากสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน
ทั้งนี้ แต่ถ้าคนในประเทศมีการจัดเลี้ยงแบบไม่ระวังตัวก็อาจจะเกิดการแพร่ระบาดเชื้อได้อีก เพราะคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวอาจเกิดการแพร่ระบาดได้ แต่ปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อด้วยอุปกรณ์ตรวจ ATK ก่อนเข้างาน จึงทำให้คลายกังวลลงไปได้เยอะ ดังนั้น การที่ทุกคนต่างระมัดระวังตัวมากขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากวัคซีน โดยถ้าย้อนไปเดือน เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ที่มีวัคซีนไม่มากแต่เรายังสู้และผ่านมาได้
ส่วนการเปิดเมืองหลังจากนี้จะให้เมืองที่มีความพร้อมศึกษาโมเดลของโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งใช้รูปแบบความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล หน่วยงานรัฐ จังหวัด ผู้ประกอบการและประชาชน ดังนั้น การเปิดเมืองจะต้องให้ทุกคนในจังหวัดหารือกันทุกมิติที่จะได้รับผลกระทบ โดยกำหนดกฎกติกาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การดูแลนักท่องเที่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไม่ให้นักท่องเที่ยวมาติดเชื้อในประเทศไทย
ดังนั้น จึงต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรคนไทยเพื่อ ให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง และสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งก่อนที่จะเข้าไทยจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดเช่นกัน และเมื่อต่างฝ่ายต่างปลอดภัยก็ไม่น่ากังวลอะไร
นอกจากนี้ สถานที่บริการต่างๆ อาทิ สถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร จะต้องมีกฎเกณฑ์เดียวกันและอยู่ในมาตรฐาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและผู้ประกอบการต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือต้องแสดงตนถึงการผ่านหลักเกณฑ์ ในขณะที่โรงแรมต้องดูแลผู้เข้าพักตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น การรายงานตัว การระบุรายชื่อผู้เข้าพัก
"เราต้องทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความสะดวกสบายเมื่อมาประเทศไทย อย่าให้เหมือนอยู่ในสถานที่กักกัน และถ้าเมืองไหนทำได้ก็เปิดได้"
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เดินหน้าเปิดอีก 5 พื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในวันที่ 1 พ.ย.2564 ได้แก่ กรุงเทพฯ จังหวัดเชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน) จังหวัดเพชรบุรี (อ.ชะอำ) และจังหวัดชลบุรี (เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขก่อน วันที่ 1 พ.ย.นี้ จังหวัดที่กำหนดต้องไม่พบการติดเชื้อโควิดใหม่ที่เป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่และมีความรุนแรงจนสร้างความกังวลสูงอีกรอบ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เพราะแม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนิยมเดินทางไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทะเลหรือภูเขาของประเทศ แต่ก็ต้องเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ อย่างน้อย 1 รอบ
สำหรับข้อกังวลการเกิดคลัสเตอร์ใหม่นั้น ถ้าทุกคนไม่ประมาทก็ไม่น่ากังวล ซึ่งทางการสิงคโปร์ได้กล่าวไว้ว่าทุกคนมีอาวุธประจำกาย มีหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ แต่ถ้าประมาทไม่ยอมใส่หน้ากากหรือไม่ล้างมือจะทำให้โควิด-19 หมุนเวียนกลับมาอีกครั้ง
สถานการณ์ในไทยที่สังเกตได้ชัดเจนช่วงนี้ คือ จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง ซึ่งอาจทำให้คนไทยประมาทในการป้องกันตัว และอาจดูเหมือนไม่กลัวการรักษาตัว ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จึงควรให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดก่อน แต่ถ้าป้องกันตัวเต็มที่แล้วติดเชื้อก็ต้องสร้างความมั่นใจว่าฉีดวัคซีนแล้วสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลดลง
“กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มคนสูงอายุ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มที่ยังอยู่ในขั้นตอนการรักษา โดยที่ผ่านมามีการติดเชื้อจากคนในครอบครัวจากคนอายุน้อยคนอายุมาก ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงอย่าเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกที่เปิดหน้ากากและใช้ชีวิตร่าเริงปกติ เพราะเขาอาจสูญเสียคนสูงอายุและมีโรคประจำตัวไปแล้ว แต่ไทยเราไม่เสียหายขนาดนั้นอย่าเลียนแบบ ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา”
สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกระยะเวลาเกือบ 2 ปี ถือเป็น "ความท้าทายใหม่" ที่เกิดขึ้น โดยการจะเอาชนะความท้าทายนี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และสถานการณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลจะจัดหาวัคซีนให้ได้ 180 ล้านโดส ภายในปี 2564 พร้อมกับเจรจาจัดหายาสำหรับผู้มีอาการหนักให้เพียงพอ และตั้งเป้าปี 2565 จะจัดหาวัคซีนเพิ่ม 150 ล้านโดส เพื่อเป็นบูสเตอร์และสำรองเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน
“ผมเชื่อมั่นว่าไทยจะก้าวไปสู่การพลิกโฉมประเทศไปสู่สังคมในบริบทใหม่ ที่จะสอดคล้องกับลักษณะของประเทศไทยในอนาคตซึ่งจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลขอยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวผ่านและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มาต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีเพื่อเสริมสภาพคล่องและการแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงได้ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้
ส่วนความมั่นคงของประเทศไทยไทยนั้น Fitch Ratings และ S&P Global Ratings ได้ทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ดีและมีเสถียรภาพ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพยายามเปิดประเทศให้ได้อย่างเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศ