“ซีพี”เซ็นเอ็มโอยูรับเยียวยา ลุยบริหาร "แอร์พอร์ตเรลลิงก์"
“ซีพี-รฟท.” ลงนามเอ็มโอยูเข้าบริหารแอร์พอร์ตลิงก์เต็มตัว 24 ต.ค. หลัง ครม.อนุมัติเยียวยาผลกระทบโควิด เร่งสรุปข้อเสนอผ่อนชำระค่าสิทธิบริหาร 1 หมื่นล้านบาท 6 ปี เผยจ่ายงวดแรก 10%
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือไฮสปีด เทรน ไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 นำมาสู่การแก้ปัญหาเพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ดำเนินการได้ต่อเนื่องไม่สุดในวันที่ 24 ต.ค.2564
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ร.ฟ.ท.และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เรื่องการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 หลังจาก ครม.เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิดให้กับคู่สัญญา ซึ่งจะทำให้การเดินรถไฟฟ้าในช่วงรอยต่อของการรับมอบพื้นที่โครงการดำเนินการได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เอ็มโอยูฉบับดังกล่าวจะทำให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด สามารถเข้าบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ต่อจาก ร.ฟ.ท.ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.เป็นต้นไป หลังจากคู่สัญญาได้ยื่นข้อเสนอขอเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นชอบในหลักการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่ต้องชำระทั้งจำนวน 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.2564
รวมทั้งหลังจากนี้ ครม.มอบหมายให้ ร.ฟ.ท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เข้าดำเนินการแก้ไขบนหลักการไม่ให้การเดินรถไฟฟ้าสะดุดและส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งในกรณีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะต้องดำเนินให้เรียบร้อยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอ ครม.
นอกจากนี้ การยื่นขอเยียวยาผลกระทบของเอกชนคู่สัญญาดังกล่าว บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด แจ้งความประสงค์เข้าบริหารโครงการในวันที่ 24 ต.ค.2564 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน โดยยื่นข้อเสนอขอผ่อนผันการชำระเงินค่าสิทธิบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ออกไป 3 เดือน และขอปรับรูปแบบการจ่ายจากเดิมที่ต้องชำระทั้งจำนวน 10,671 ล้านบาท ขอผ่อนผันเป็นการแบ่งชำระ 10 งวด ในระยะเวลา 10 ปี
ทั้งนี้ ก่อนที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จะเข้าบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จะต้องชำระค่าสิทธิบริหารส่วนหนึ่งภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 และมีการกำหนดเบื้องต้นที่ 10% ของจำนวนเงินทั้งหมด โดยหลังจากการลงนามเอ็มโอยูแล้ว คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สกพอ.เป็นประธาน) จะพิจารณารายละเอียดของการชำระเงินที่เหลือหลังจากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ร.ฟ.ท.เป็นประธาน)
สำหรับข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พิจารณาให้มีการชำระ 6 งวด จากข้อเสนอของเอกชนคู่สัญญาที่เสนอมา 10 งวด โดยการชำระ 6 งวด และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่ต้องชำระเพิ่มเติมจะทำให้เอกชนคู่สัญญาต้องชำระตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 11,705 ล้านบาท สูงกว่าวงเงินเดิม 1,034 ล้านบาท
“การแบ่งชำระงวดที่เหลือยังเป็นข้อเสนอที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ต้องมาพิจารณาสรุปไปพร้อมกับการแก้ไขสัญญาที่การรถไฟฯ สำนักงานอีอีซีและเอกชนคู่สัญญาต้องไปสรุปรายละเอียด”
นอกจากนี้ การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.และ สกพอ.ร่วมกันดำเนินงานโดยเร็ว เพื่อให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เกิดปัญหาในส่วนของการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 โดยทาง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญา มีหนังสือหารือผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งผลกระทบเกิดขึ้นจริงจากเหตุสุดวิสัยของภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ เอกชนได้ขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยา โดยขอขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการ และการขยายระยะเวลาโครงการ
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายไม่อาจคาดการณ์ได้ก่อนลงนามในสัญญา และมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงจึงมีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์ แก่เอกชนคู่สัญญาและแนวทางดำเนินการระหว่างกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นด้วยกับหลักการและมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ตามสัญญาร่วมลงทุนที่จะถึงกำหนดชำระวันที่ 24 ต.ค.2564 เนื่องจากโควิด-19 นั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงิน
ดังนั้น กพอ.จึงได้มอบหมายให้ รฟท. , สกพอ. และคณะกรรมการกำกับดูแลฯ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอ ครม.
รวมทั้งเรื่องดังกล่าวเป็นมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยถ้าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวระหว่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนอาจทำให้การบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ต้องหยุดให้บริการหลังจากวันที่ 24 ต.ค.2564 และอาจส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชนในวงกว้าง นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังต้องแบกภาระการขาดทุนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ ร.ฟ.ท.และจะสร้างความเสียหายต่อโครงการอื่นของภาครัฐ