ส่องหุ้นรับอานิสงส์รัฐทุ่ม 5.4 หมื่นล้าน เพิ่มกำลังซื้อประชาชน
"หุ้นค้าปลีก" เฮ! หลังรัฐบาลทุ่ม 5.45 หมื่นล้านบาท กระตุ้นกำลังซื้อประชาชนส่งท้ายปี บล.เอเซีย พลัส ยก "CPALL-HMPRO" ดาวเด่น ส่วนบล.โนมูระ พัฒนสิน เชียร์ "TNP-KK" ด้านบล.เคทีบีเอสที แนะซื้อ TNP
รัฐบาลยังคงเดินหน้าช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยการประชุม ครม. นัดล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังต่อไปนี้
1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเงินให้อีก 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค. 2564
2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเงินให้อีก 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค. 2564
3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เพิ่มเงินให้อีก 1,500 บาทต่อคน ในเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2564
4. โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพิ่มวงเงินสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ของรัฐจำนวน 3,000 บาทต่อคน ให้แก่ผู้ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จำนวนไม่เกิน 1,000,000 คน โดยมีผลกับวงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย. 2564
ทั้งนี้ จากมาตรการที่ออกมาล่าสุด คาดว่าจะมีหุ้นหลายตัวที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการดังกล่าว
โดยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า มาตรการต่างๆ ข้างต้นจะช่วยเสริมภาพการฟื้นตัวหุ้นกลุ่มค้าปลีกที่ล้วนฟื้นตัวจาก จุดต่ำสุดใน 3Q64 และจะดีขึ้นใน 4Q64 ต่อเนื่องไปถึงปี 2565 ซึ่งบางหุ้นได้ปรับตัวขึ้นสะท้อนความคาดหวังเชิงบวกไปบ้างแล้ว สะท้อนจากผลตอบแทนปัจจุบันเทียบช่วงวันที่เริ่ม Lockdown 12 ก.ค. 2564 พบว่า หุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกประกอบด้วย MAKRO (+32.8%), COM7 (+9.4%), CPALL (+7.9%), CRC (+5.23%)
โดยในกลุ่มดังกล่าว ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ CPALL ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 70.50 บาท จากแนวโน้มกำไรปี 2565 ฟื้นตัว 65% สูงเป็นลำดับต้นของกลุ่ม และเพิ่มขึ้นอีก 18% ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นค้าปลีก บางส่วนที่ราคายัง Laggard เช่น HMPRO (+2.2%), BJC (-1.5%), SPVI (-4.8%), DOHOME (-8.8%) แต่มีความน่าสนใจในเรื่องการฟื้นตัวเช่นกัน โดยปัจจัยขับเคลื่อนที่ ฝ่ายวิจัยเห็นแต่ละบริษัท มีดังนี้
HMPRO ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 16.00 บาท แนวโน้มการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว ยอดขายสาขาเดิม MTD ต.ค. 2564 กลับมาเติบโตได้ในระดับ 10%yoy ขณะที่การฟื้นตัวต่อเนื่อง 16.4% และ 14.1% ปี 2565-2566 มาจากทุกแรงหนุนทั้งยอดขาย, ธุรกิจพื้นที่เช่าและมาร์จิ้น รวมถึง ระยะถัดไปจะได้ผลบวก หากรัฐพิจารณานำนโยบายช้อปดีมีคืนกลับมาใช้อีกครั้ง
SPVI ราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 8.08 บาท และ ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 8.80 บาท ยอดขายหลังจาก iPhone 13 เปิดตัวเติบโตชัดเจน ขณะที่การขายสินค้า iPad ในสาขา U Store ยังเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนยอดขาย MTD ต.ค. 2564 ที่สูงกว่าช่วง ต.ค. 2563 ทั้งเดือน และเช่นกันระยะถัดไปจะได้ผลบวกชัดเจนหากรัฐพิจารณานโยบายช้อปดีมีคืนอีกครั้ง
DOHOME ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 30.70 บาท หุ้นสะท้อนแนวโน้มกำไร 3Q64 ที่อาจต่ำกว่าที่ตลาด แต่จะฟื้นตัวกลับมาใน 4Q64 หลังยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ฟื้นตัวเร็วระดับเกิน 30% ในช่วง MTD ต.ค. 2564 และน่าจะได้อานิสงส์ เช่นเดียวกับ HMPRO หากรัฐออกมาตรการช้อปดีมีคืน
BJC ราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 38.70 บาท และ ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 40.50 บาท ระยะสั้นอาจเน้นการเก็งกำไร แม้ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) 3Q64 มีแนวโน้มทำได้ดี ประเมินลดลงราว 5%-10%yoy เทียบกับ 1H64 ลดลงราว 18%yoy แต่มีความเสี่ยงหักล้างจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติในบรรจุภัณฑ์แก้ว และอลูมิเนียมในบรรจุภัณฑ์กระป๋อง โดยฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างติดตามความชัดเจนแนวทางการบริหารต้นทุนของ BJC เพื่อประเมิน Downside ทั้งนี้ ถ้าผลกระทบต้นทุนจำกัด แนวโน้มการฟื้นตัวกำไรปี 2565 ของ BJC จะเป็นหนึ่งในหุ้นที่ค่อนข้างเด่นลำดับต้นๆ ของกลุ่มที่ 44%
ในภาพรวมแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการเพิ่มวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ รวมถึงความคาดหวังโครงการใหม่ๆ ที่ยังมีอยู่สูง จะช่วยหนุนให้หุ้นค้าปลีกฟื้นตัวได้ต่อ โดยฝ่ายวิจัยเลือก CPALL และ HMPRO เป็นส่วนหนึ่งของหุ้น Top Pick ในพอร์ตจำลองของฝ่ายวิจัย
ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า จากการที่ ครม. เห็นชอบช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะ 3 สำหรับช่วยค่าซื้อสินค้าเพิ่มเติม จำนวน 300 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มเดือนพ.ย. - ธ.ค. นี้ รวมถึง คนละครึ่ง เฟส 3 อีกคนละ 1,500 บาท ถือเป็นปัจจัยบวกต่อร้านที่เข้ารวมโครงการธงฟ้า ได้แก่ TNP และ KK
ส่วนบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า มีมุมมองบวกมากขึ้นต่อหุ้น TNP ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านค้าธงฟ้าที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการเพิ่มกำลังซื้อของรัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ปรับตัวเพิ่มวงเงินเป็น 500 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ 400 บาทต่อเดือน ในช่วงเดือน 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งจะเข้ามาช่วยหนุนรายได้ 4Q64 ให้เติบโต QoQ
เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ประกอบกับเชียงรายเองมีแผนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 ธ.ค. นี้ โดยฝ่ายวิจัยยังคงประเมินกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 189 ล้านบาท (+41% YoY) แนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 6.40 บาท