“ททบ.5” เปลี่ยนหมายเลขช่อง เสียคนดูเพราะเลขหรือเป็นทีวีเพื่อความมั่นคง?
ททบ.5 ประกาศดีเดย์เปลี่ยนหมายเลขช่องจาก เลข 1 เป็นเลข 5 ทำให้ผู้ชมที่ต้องการรับชมคอนเทนท์ของทางช่อง จะต้องกดหมายเลขใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ เรทติ้งดิ่ง ผู้ชมเสียโอกาสดูรายการดีมีประโยชน์ เพราะจำเลขช่องไม่ได้
ส่วนเหตุผลของการเปลี่ยนหมายเลขช่องครั้งนี้ พลเอกรังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ. 5 ) ให้เหตุผลว่า ททบ. 5 เป็นทีวีดิจิทัลประเภท “ทีวีบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคง” และได้ใช้หมายเลข 1 ในกลุ่มของทีวีดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
ทว่าการออกอากาศที่ผ่านมา ยังพผู้ชมยังเกิดความคลาดเคลื่อนในการเข้าถึง โดยยังเข้าใจแบบเดิมคือ หากต้องการรับชมรายการของ ททบ. 5 ต้องกดหมายเลข 5 ส่งผลให้ฐานผู้ชมของ ททบ. 5 ลดลง ผู้ชมเสียโอกาสในการรับชมรายการที่ดีและมีประโยชน์ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ชมสามารถจดจำเลขหมายของช่องได้อย่างแม่นยำพร้อมการคงอัตลักษณ์ของสถานีไว้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ททบ. 5 จึงได้ยื่นขอเปลี่ยนหมายเลขช่อง จากหมายเลข 1 เป็นหมายเลข “5” ต่อบอร์ด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2564
ปัญหาการหาช่องไม่เจอถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคดูทีวีจากความคุ้นชินของรายการที่ชอบ รวมถึงบางคนนิยมเปิดแช่ไว้เป็นเพื่อน สำหรับผู้ชมที่ต้องการรับชมรายการดีจากช่องโปรดของตัวเอง หลายบ้านที่หาช่องไม่เจอ หรือหาเจอยาก อาจแก้ปัญหาด้วยการเขียนช่องต่าางๆกำกับไว้ใกล้ตัว แต่หากหาช่องยาก หาไม่เจอ กดเจอช่องไหนทิ้งไว้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่
ขณะปัจจัยสำคัญและเป็นความท้าทายของทีวีสาธารณะคือข้อจำกัดด้าน “คอนเทนท์” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดึงคนดู เพราะหากช่องทีวีดิจิทัลขาดคอนเทนท์ระดับเทพหรือ Killer Content ย่อมยากที่จะได้ eyeball จากผู้บริโภค เพราะปัจจุบัน “ทางเลือก” ในการเสพสื่อมีมากมาย โดยเฉพาะจากออนไลน์ แพลตฟอร์มต่างๆที่ชิงเวลาคนดูทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่มากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเสพเพลงผ่าน Youtube Joox Spotify ดูหนัง ซีรี่ส์ผ่าน Netflix Viu WeTV Disney+ Hotstar เป็นต้น
สำหรับทีวีสาธารณะแบ่งประเภทใบอนุญาตประกอบการได้ 3 ประเภท บทบาทหน้าที่แตกตต่างกันไป ได้แก่ 1.เพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศานา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ สุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน 2.เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ และ3.เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน กระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่ให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น
เมื่อเนื้อหาที่ต้องนำเสนอสู่สายตาประชาชนหวือหวา วาไรตี้ตอบจริตคนดูไม่ได้ ย่อมเป็นธรรมมดาที่ “เรทติ้ง” หรือความนิยมจะลดลงตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ ททบ.5 ที่เผชิญปัญหาคนดูน้อยลง เพราะบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเหลืออยู่ 18 ช่อง จากเดิม 24 ช่อง เจอวิบากกรรมเดียวกัน เมื่อ “เรทติ้ง” ต่ำเตี้ยกว่าในอดีตอย่างมาก หลักๆเป็นผลจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่ยังส่งผลให้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคปรับชมจาก “จอแก้ว” ไปสู่จออื่นๆบนอินเตอร์มากขึ้นนั่นเอง
สำหรับ ททบ.5 เป็นหนึ่งในทีวีสาธารณะของไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล เรทติ้งของช่องเรียกว่า “รั้งท้าย” โดยจำนวนผู้ชมน้อยมากอยู่ระดับ 0.016-0.028 (ณ ครึ่งปีแรก 2564 : TV Digital Watch อ้างอิงนีลเส็น)
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงหมายเลขช่องของ ททบ.5 จากเลข 1 ไปเป็นเลข 5 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดยในวันดังกล่าวโทรทัศน์ทั้งระบบดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และเครื่องรับสัญญาณ จะทำการอัพเดทข้อมูลใหม่อัตโนมัติ หากผู้ชมยังไม่สามารถรับชมได้ สามารถทำการตั้งค่าใหม่ด้วยการกดเลือกเมนู “ตั้งค่า” และ “ค้นหาสัญญาณอัตโนมัติ” ก็จะสามารถรับชมรายการได้ทันที