ฟู้ดดีฮับ ผุดคลาวด์คิทเช่น ชิงขุมทรัพย์ฟู้ดเดลิเวอรี่ แสนล้าน
ฟู้ดเดลิเวอรี่ยังเนื้อหอม เทรนด์เติบโตมาแรงไม่หยุด คาดปี 2567 มูลค่าแตะ 1 แสนล้านบาท พุ่งเกือบเท่าตัวจากปัจจุบัน "ฟู้ดดีฮับ" ปักหมุดเปิดคลาวด์คิทเช่น ต่อยอดธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายวัตถุดิบอาหารทะเลแช่แข็ง สร้างน่านน้ำรายได้ใหม่
การเผชิญวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อยืนหยัดฝ่ามรสุมลูกโต หนึ่งในนั้นคือธุรกิจบริการส่งอาหารถึงบ้านหรือฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่มูลค่าตลาดพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารยึดแพลตฟอร์มมีหน้าร้าน ส่งสินค้าเจาะผู้บริโภค สร้างการเติบโต หนุนหนทางอยู่รอดอย่างยั่งยืน
ชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทย ฟู้ดดีฮับ (FoodDeeHub) ภายใต้กลุ่มบริษัท สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็งระดับพรีเมี่ยมที่คร่ำหวอดในตลาดมา 35 ปี ยังมองการขยายธุรกิจให้มีความหลากหลายหรือ Diversify มากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะปัจจุบันการจะพึ่งพาธุรกิจหลัก(Core business)เดียวแบบเดิมๆ ไม่เพียงพออีกต่อไป แต่บริษัทต้องต่อยอดธุรกิจเดิมเพิ่มคุณค่า ผลักดันการเติบโตต่อไป
กลางปีที่ผ่านมา บริษัทขยายการจำหน่ายอาหารทะเล เนื้อ เบเกอรีแช่แข็ง รวมถึงแพลนท์เบส ผ่านช่องอีคอมเมิร์ซ เพื่อเจาะผู้บริโภครายย่อยหรือB2C มากขึ้น จากเดิมเน้นจำหน่ายวัตถุดิบป้อนลูกค้าภาคธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ห้างค้าปลีก โรงเรียนนานาชาติฯ หรือรูปแบบ B2B เป็นหลัก ซึ่งจากการชิมลางตลาด B2C ลูกค้าให้การตอบรับดี เพราะโควิดผลักดันให้การซื้อสินค้าออนไลน์เติบโต รวมถึงหมวดอาหารทะเลแช่แข็งด้วย
ล่าสุด บริษัทเปิดตัวธุรกิจ ฟู้ดดีฮับ คิทเช่นส์(FoodDeeHub Kitchens) ซึ่งเป็นครัวกลางที่ไม่มีหน้าร้านหรือคลาวด์คิทเช่น เพื่อรับโอกาสทางการตลาดการสั่งอาหารเดลิเวอรี่โตแรง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตลาดปี 2564 จะมีมูลค่า 5.31-5.58 หมื่นล้านบาท เติบโต 18.4-24.4% ราคาเฉลี่ยต่อครั้งเริ่มปรับตัวลดลง 20-25% จากการแข่งขันที่ดุเดือด ยิ่งกว่านั้นพฤติกรรมผู้บริโภคในการสั่งอาหารเปลี่ยนไป ใช้บริการเดลิเวอรี่อย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะหนุนให้มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่แตะ 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2567
“ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ยังเติบโตได้อีก ในฐานะที่บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายวัตถุดิบอาหาร จึงเปิดตัวฟู้ดดีฮับ คิทเช่นส์ เจาะตลาดฟู้ดเดลิเวรีที่คาดว่ายังเป็นเทรนด์อยู่คู่ธุรกิจอาหารของไทยอีกระยะใหญ่”
สำหรับร้านอาหารรูปแบบคลาวด์คิทเช่นใช้พื้นที่น้อยเพียง 230 ตารางฟุต มีพนักงาน 5 คนต่อสาขา ค่ามัดจำสถานที่ราว 30,000 ดอลลาร์ ระยะเวลาขยายสาขาเพียง 2-4 สัปดาห์ เวลาส่งอาหาร 25 นาที เทียบกับร้านอาหารเต็มรูปแบบต้องมีพื้นที่ 2,000 ตารางฟุต พนักงาน 15 คนต่อสาขา ค่ามัดจำสถานที่ 500,000 ดอลลาร์ ระยะเวลาส่งอาหาร 35 นาที ยิ่งกว่านั้นความเสี่ยงในการลงทุนมีสูง
ทั้งนี้ ฟู้ดดีฮับ คิทเช่นส์ ตั้งอยู่ย่านทองหล่อหล่อ พื้นที่ 65 ตารางเมตร ลงทุนเพียง 2 ล้านบาท มีพนักงาน 4 คน เพื่อให้บริการลูกค้า มีจุดเด่นได้เชฟมืออาชีพมากประสบการณ์จากร้านอาหารโรงแรมมารังสรรค์เมนูอาหาร 6 หมวด ได้แก่ พิซซ่า พาสต้า ดงบุริ อาหารไทยทั้งดั้งเดิมและฟิวชั่น สลัดและขนมหวาน รวม 40 รายการ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค
ส่วนช่องทางจำหน่ายสินค้าจะผนึกกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย เน้นทั้งผู้ทีอยู่อาศัย ทำงานในย่านทองหล่อ อโศก รวมถึงบางพื้นที่ในย่านพระราม 4
“คลาวด์คิทเช่นตอบโจทย์สถานการณ์ธุรกิจปัจจุบัน เพราะมีความยืดหยุ่นสำหรับผู้ประกอบการมากกว่าการเปิดร้านอาหารเต็มรูปแบบ เนื่องจากเงินลงทุนต่ำ ใช้พื้นที่น้อย ค่าเช่าพื้นที่ ลงทุนตกแต่งร้าน ค่าสาธารณูปโภคน้ำไฟไม่สูงมากนัก รวมถึงใช้พนักงานไม่มากข้อจำกัดการขยายสาขาน้อย ซึ่งประสบการณ์ในธุรกิจอาหารแช่แข็งที่ยาวนาน จึงมั่นใจจะต่อยอดธุรกิจเจาะลูกค้าได้ ส่วนการขยายสาขาต้องรอดูความสำเร็จร้านแรก แต่มีเป้าหมายจะบุกต่างประเทศด้วย”
สำหรับการขยายธุรกิจครั้งนี้ คาดว่าจะเสริมรายได้ฟู้ดดีฮับราว 10-12 ล้านบาท ภายในปี 2566 ขณะที่รายได้รวมสยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป อยู่ที่ 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปีนี้การส่งออกและจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น แต่ต้นทุนค่าระวางเรือหรือเฟรทพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน โดยเดือนก่อนส่งออกไปยังสหรัฐค่าเฟรทอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์ หรือราว 600,000-700,000 บาทต่อตู้ จากปกติ 100,000 บาทต่อตู้
ชัยพัฒน์ กล่าวอีกว่า การเปิดเมืองวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะจะส่งผลให้ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งปรับตัวดีขึ้น โดย 1 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้าร้านอาหาร โรงแรมหรือฟู้ดเซอร์วิส เริ่มกลับมาสั่งสินค้ามากขึ้น แต่จะเห็นภาวะปกติเมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับการเปิดรับนักท่องเที่ยว และต่างชาติเริ่มเดินทางมาไทย