เปิดไทม์ไลน์ นิคมฯ บลูเทค ซิตี้ ดึงลงทุนอุตฯแบตเตอรี่ หนุนเทรนด์ EV
เปิดไทม์ไลน์กว่าจะมาเป็นนิคมฯ บลูเทค ซิตี้ ผ่านปมอีอีซีเปลี่ยนผังเมือง กระทบชาวบ้าน ไม่ผ่านเกณฑ์อีไอเอ ต้องปรับโครงสร้าง สุดท้ายเดือนตุลาคม 64 ได้เซ็นสัญญาจัดตั้ง พร้อมเปิดขายปี 68 เน้นกลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน มีศักยภาพโตตามเทรนด์โลก ยันไม่สร้างมลพิษ
โครงการนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ที่เราได้เห็นชื่อมานานและคาดว่าจะได้เริ่มสร้างตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้ผ่านกาลเวลาถึง 3 ปีเต็ม กว่าจะได้เข้าเซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับการนิคมอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนสีผังเมืองและพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงความกังวัลของชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มากับโรงงานอุตสาหกรรม
ในที่สุด วันที่ 24 ต.ค. 2564 กนอ. ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน กับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และ New S-Curve ดำเนินงานในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็น ผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 67 โดยใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี และจะเปิดขายพื้นที่/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี
ถ้าจะให้ไล่เลียงแล้ว บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด ได้ลุยโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหรรมบลูเทค ซิตี้ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา อย่างเป็นรูปธรรมกันมาตั้งแต่ 31 ต.ค. 2561 โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามกระบวนการศึกษาผลกรทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีชาวบ้านในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกง รวม 9 ตำบล มาร่วมแสดงข้อคิดเห็นราว 480 คน
ซึ่งในขณะนั้น ไม่พบว่ามีชาวบ้านต้องการคัดค้านการจะจัดทำโครงการนิคมฯ ดังกล่าว เนื่องจากบริษัทดับเบิ้ลพีฯ แสดงจุดยืนชัดเจนในการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว และจะไม่เปิดรับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษเข้ามาในพื้นที่ ทั้งยังเสนอผลประโยชน์ที่จะเกิดกับคนในชุมชนเมื่อนิคมฯ เริ่มดำเนินงาน
ทำให้ชาวบ้านบางส่วนคาดหวังถึงการพัฒนาที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนดีขึ้น ทั้งมีโอกาสในการสร้างงาน สร้างอาชีพของลูกหลาน ทั้งได้เยียวยาชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการด้านที่อยู่อาศัย โดยได้พัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่และให้สิทธิในการเช่าอยู่บนเนื้อที่ 50 ตารางวา สำหรับ 1 ครัวเรือน คิดอัตราค่าเช่าวันละ 10 บาทหรือเดือนละ 300 บาท หากผ่อนซื้อจะเก็บในอัตรา 3,000 บาทต่อเดือน ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มผู้เสนอความคิดเห็นฝ่ายที่มีความกังวลว่า โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นจะมีแนวทางการกำจัดของเสียจากนิคมอุตสาหกรรมอย่างไร โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วหมดอายุ และปัญหาการจัดการน้ำที่ใช้ในนิคมฯ เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นทุ่งรับน้ำและระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ทั้งยังมีส่วนที่กังวลด้านปัญหาการจราจร เนื่องจากเส้นทางการคมนาคมเดิมมีความคับแคบ และความกังวลต่อการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน
ทั้งนี้ การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ยังต้องรอแผนการปรับผังเมืองให้มีความชัดเจนก่อน ซึ่งได้เริ่มวางแผนมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย ปรับผังเมืองเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมใหม่และนักลงทุน โดยได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 แห่ง เร่งแก้ผังเมือง โดยมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่นำร่อง
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น กล่าวว่า พื้นที่ส่วนที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อใช้เป็นพื้นที่ลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) จะมีการหารือให้พิจารณาปรับสีผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายลงทุนที่รัฐได้ประกาศไว้
ซึ่งตลอดปี 2562 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีการประชุมหารือการกำหนดพื้นที่ใช้ประโยชน์ 3 จังหวัดในอีอีซี จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีนิคมฯ บลูเทค ซิตี้ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญซึ่งกำลังเป็นที่จับตาว่า จะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อกิจการอุตสาหกรรมได้หรือไม่ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สีเขียว ทั้งยังมีการทำการเกษตรอยู่และถูกต่อต้านจากประชาชนบางส่วนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม สกพอ. ให้ความเห็นว่า การแก้ไขให้พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ลงทุนด้านอุตสาหกรรมได้ จะต้องมีเงื่อนไขในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้พื้นที่ขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ที่มีการกันหรือต้องอยู่ห่างจากพื้นที่อ่อนไหว
นอกจากนี้ การจัดทำผังมืองใหม่ปัจจุบันนี้จะไม่ได้พิจารณาเพียงสีของพื้นที่เท่านั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ให้เป็นการจัดทำผังเมืองยุคใหม่ ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน แต่สามารถนำพื้นที่มาพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในเดือน พ.ค. 2562 ได้มีการประกาศร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่อีอีซีออกมาให้เห็น เปลี่ยนพื้นที่สีเขียวเพื่อการเกษตรเป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อการอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้พื้นที่ระยะห่างจากริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง 200 เมตร เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ห้ามตั้งสิ่งปลูกสร้าง ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม แต่สร้างอาคารอื่นได้ตามที่กำหนดไว้
ทำให้นิคมฯ บลูเทค ซิตี้ มีเนื้อที่ลดลงจาดเดิมมี 2,000 ไร่ ลดเหลือ 1,200 ไร่ จึงต้องมีการปรับผังนิคมอุตสาหกรรมเล็กน้อยเพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่การตั้งโรงงาน ปรับให้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเป็นพื้นที่สีเขียวภายในนิคม และเปลี่ยนไปสร้างส่วนที่ไม่ใช่โรงงานผลิต ตั้งศูนย์วิจัยพัฒนา และศูนย์การเรียนรู้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
จนกระทั่ง วันที่ 9 ธ.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ วันที่ 10 ธ.ค. 2562
การประกาศครั้งนั้นทำให้นิคมฯ สามารถเดินหน้าลงทุนได้อย่างชัดเจน แล้วดำเนินการต่อหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องตามแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ที่จะต้องมีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเสนอไปให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เห็นชอบ และหลังจากนั้นถึงจะมายื่นขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ ดังนั้น โครงการดังกล่าวคงยังไม่สามารถจัดตั้งเป็นนิคมฯ ได้ภายในปีนี้ และการลงทุนจะเกิดได้จริงคงไม่ตํ่ากว่า 1-2 ปี
โดยนิคมฯ บลูเทค ซิตี้ เน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง กิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA: Environmental Impact Assessment) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว
นิคมฯ แห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 1,181.87 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 831 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 70.32 พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคประมาณ 204.16 ไร่ คิดเป็น 17.31% และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนประมาณ 146.42 ไร่ คิดเป็น 12.13% ของพื้นที่ทั้งหมด หากมีการลงทุนเต็มพื้นที่แล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในนิคมฯ ประมาณ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานประมาณ 8,300 คน
นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานผู้บริหารโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทเป้าหมายคือกลุ่มนักลงทุนด้านพลังงาน อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออน นอกเหนือจากนั้นยังมีพันธมิตรที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนสำรอง (Spare Parts) ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา
ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นการใช้พลังงานทางเลือกที่มีแนวโน้มเป็นที่สนใจของคนจำนวนมากขึ้น ตรงกับแผน Business Model ที่วางไว้ ว่าจะมีการเติบโตด้านพลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน เนื่องจากยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง ขณะนี้ทางบลูเทคซิตี้ ได้มีลงทุนด้านการวิจัยและกลุ่มสตาร์ทอัพให้มีพัฒนาการผลิตพลังงานสะอาด
"ตอนนี้ประเทศไทยยังคงต้องเรียนรู้เรื่องแบตเตอรี่ที่มีความซับซ้อนจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ อีกทั้งพื้นที่นิคมฯ ในจ.ฉะเชิงเทรามีความอ่อนไหวเรื่องคุณภาพอากาศ"
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการขนส่งสาธารณะคือ รถเมล์ไฟฟ้าให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งในปี 2564 นี้ได้ส่งมอบรถเมล์ไฟฟ้าแล้ว 120 คัน คาดหวังให้วิ่งทั่วพื้นที่ซึ่งขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐด้วย