ก่อน "bitkub" ขึ้นยาน SCBX ย้อนดูเส้นทาง "ท๊อป-จิรายุส" ผ่านอะไรมาบ้าง?
เคียงข่าวดีลยักษ์ เมื่อ SCBX ทุ่ม 1.78 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น "bitkub" เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ใน BITKUB Online ย้อนดูเส้นทาง "ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" ต้องผ่านอะไรมาบ้าง พร้อมถอดบทเรียน ประสบการณ์ ความล้มเหลว กว่าจะปลุกปั้น bitkub ได้อย่างวันนี้
อีกหนึ่งดีลยักษ์แห่งโลกการเงินล่าสุด เมื่อ “SCB” หรือ "SCBX" ประกาศลงทุน 1.78 หมื่นล้านบาท ใน "Bitkub" โดยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด” (Bitkub Online Co., Ltd.) และส่งให้ Bitkub Online ขึ้นสู่ยานแม่ เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร SCBX จนเป็นข่าวใหญ่ในคืนวันที่ 2 พ.ย.64 นั้น
ชื่อของ “Bitkub” โดยการก่อตั้งของ "ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" จึงถูกจับตาอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าย้อนดูการเติบโตในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับจากก่อตั้ง ธุรกิจดาวรุ่งนี้มีรายได้ก้าวกระโดดราว 1,000% ต่อปี
หลังจากสตาร์ทรายได้ที่ ปีแรก (2561) 3 ล้านบาท พวกเขาสามารถปิด ปีที่ 2 (2562) ด้วยรายได้ 33 ล้านบาท และกว่า 300 ล้านบาทในปีที่ 3
ส่วนปีที่ 4 (2564) นั้น นับเฉพาะไตรมาสแรกก็ทะลุ 1,000 ล้านบาทแล้ว โดยจิรายุสเคยให้สัมภาษณ์คาดการณ์ไว้ว่าจะปิดตัวเลขได้ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท ในช่วงสิ้นปี 2564
“ความจริงผิดพลาดมาเยอะมาก ผมไม่ได้เก่ง แต่ทำสิ่งนี้มานาน กว่าทุกคนจะขี่จักรยานเป็นต้องเคยล้ม ผมล้มมาแล้ว แต่ทุกคนไม่เห็นตอนผมล้ม” ถ้อยความหนึ่งจาก จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ก่อตั้ง และ CEO บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564
และกับก้าวต่อไปบนยานแม่ SCBX นั้น จิรายุส ได้เปิดเผยว่า Bitkub ได้เดินมาถึงจุดที่ได้กลายเป็นโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศไทย หรือที่เรียกว่า Digital Economy
“ต่อจากนี้ Bitkub ไม่ได้เป็นเพียงสตาร์ทอัพอีกต่อไป แต่กำลังจะก้าวมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อวงการการเงิน 3.0 ของประเทศไทย ในตอนนี้เราได้พา Bitkub มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก และเพื่อที่จะนำ Bitkub ให้ก้าวไปสู่ระดับโลก พวกเราต้องการพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งมาเป็นกำลังเสริมให้ไปถึงได้เร็วขึ้นอย่างยั่งยืน นั่นเป็นเหตุผลที่เราจับมือร่วมกับ SCBS” เขากล่าว
แต่ท่ามกลางความสำเร็จระดับพุ่งทะยานของ “จิรายุส” ที่กว่าจะปลุกปั้น “บิทคับ” จนมาถึงจุดนี้ได้นั้น น้อยคนที่จะรู้ว่า ที่ผ่านมาเขาก็เคยล้ม เคยเจ๊งจากธุรกิจก่อนหน้ามาแล้ว
ความจริงผิดพลาดมาเยอะมาก ผมไม่ได้เก่ง แต่ทำสิ่งนี้มานาน กว่าทุกคนจะขี่จักรยานเป็น ต้องเคยล้ม ผมล้มมาแล้ว แต่ทุกคนไม่เห็นตอนผมล้ม
เขาเล่าถึงเส้นทางก่อนหน้าจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับ "คริปโตเคอเรนซี" สินทรัพย์ดิจิทัลที่สุดร้อนแรงในวันนี้
"ก่อนที่จะมาประสบความสำเร็จในฐานะ ซีอีโอ 'บิทคับ' เคยทำ 'บริษัท Coins.co.th' (คอยส์ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นบริษัทบิทคอยน์บริษัทแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความผิดพลาดเยอะ เรียนรู้เยอะมากจาก 4 ปีของการทำบริษัทที่ 1
ต่อมาทำบริษัทที่ 2 ในวงการเดียวกันเป๊ะ ทำให้ไปไว ความจริงผิดพลาดมาเยอะมาก ผมไม่ได้เก่ง แต่ทำสิ่งนี้มานาน กว่าทุกคนจะขี่จักรยานเป็นต้องเคยล้ม ผมล้มมาแล้ว แต่ทุกคนไม่เห็นตอนผมล้ม"
และเผยถึงข้อบกพร่องที่ผ่านมา ทำให้เขาได้เรียนรู้ความผิดพลาด ปรับปรุง และไม่ผิดซ้ำ สิ่งเหล่านี้ จิรายุส เปรียบเสมือน "ดอกเบี้ยทบต้น" ในโลกการเงิน ที่มันจะออกดอกผลอย่างคุ้มค่าเมื่อเวลาผ่านไป
"คนที่ทำอะไรมานานๆ จะมีสิ่งที่เรียกว่า 'Compouding' ไม่ใช่แค่เงินที่ทบต้นได้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ความชำนาญ เน็ตเวิร์ก คอนเนคชั่น มาถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า นักลงทุนที่เชื่อมั่น รุ่นพี่ที่ช่วยเหลือเรา มันทบต้นได้เหมือนกัน"
ทักษะที่สำคัญที่สุดในยุคใหม่ที่ขาดไม่ได้ ไม่ใช่ EQ ไม่ใช่ IQ แต่คือ 'AQ' ที่มาจากคำว่า Adaptability Quotient คือความสามารถในการปรับตัว
นอกจากนี้ จิรายุส ยังเล่าว่า "ทักษะที่สำคัญที่สุดในยุคใหม่ที่ขาดไม่ได้ ไม่ใช่ EQ ไม่ใช่ IQ แต่คือ 'AQ' ที่มาจากคำว่า Adaptability Quotient คือความสามารถในการปรับตัว ความสามารถที่จะ unlearn สิ่งเก่า และ relearn สิ่งใหม่ ให้ได้ ไม่ยึดติดกับสิ่งเก่าๆ เพราะโลกของเราเปลี่ยนไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ
เช่น บริษัท บิทคับ คือบริษัทที่ใหม่มากๆ อยู่ในวงการที่ใหม่มาก และไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราจะไม่ชอบคนที่ยึดติดกับการทำงานเดิมๆ ในอนาคต ซีอีโอที่เก่งไม่ใช่ซีอีโอที่รู้เยอะ แต่เป็นซีอีโอที่ถามคำถามที่ถูกต้อง จะเป็นซีอีโอที่เก่งในอนาคต"
อ้างอิง : รายการ "CEO Style" ของ "กรุงเทพธุรกิจ"