สบน.ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 8 หมื่นล้านรุ่น”ออมไปด้วยกัน”ดอกเบี้ยสูง3%
สบน.ออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยสูงสุด 3% เริ่มจำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. 15 พ.ย.นี้
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง จะเริ่มจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” เพื่อนำไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยในครั้งนี้กระทรวงการคลัง ได้เพิ่มวงเงินจำหน่ายเป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ลงทุนทุกกลุ่ม และจ่ายดอกเบี้ยให้ประชาชนทุก 3 เดือน ประชาชนสามารถเลือกลงทุนได้ 2 รุ่นอายุ และซื้อได้ทั้งในวอลเล็ต สบม. บนแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง และธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
รายละเอียดการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมไปด้วยกัน เป็นดังนี้
1. รุ่นออมไปด้วยกันบนวอลเล็ต สบม.จำหน่ายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น วงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน
ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป (ผู้เยาว์จะต้องลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม.บนแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง และไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองเพื่อกรอกเอกสารให้ความยินยอม ณ สาขาธนาคารกรุงไทย สำหรับการซื้อครั้งแรก)
ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท - 10 ล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเป๋าตังเพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่านพร้อมเพย์จากทุกธนาคาร หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทย กับวอลเล็ต สบม. รวมถึงเติมเงินสดด้วย Wallet ID ได้ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา เพื่อเตรียมซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานวอลเล็ต สบม. ได้ที่ Call Center โทร.02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา
2. รุ่นออมไปด้วยกัน จำหน่ายให้แก่ประชาชน และนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่ กระทรวงการคลัง กำหนด วงเงินรวม 70,000 ล้านบาท จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง โดยจะจำหน่ายให้กับประชาชนก่อนนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ตามที่กระทรวงการคลัง กำหนด 2 วัน เพื่อบริหารจัดการใช้บริการ ณ สาขาธนาคารของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ หากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่าย และได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน
โดยวันจำหน่าย วงเงิน และรุ่นอายุ เป็นดังนี้
1) จำหน่ายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น วงเงิน 55,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำหน่ายทั้งในช่องทาง Counter Internet Banking และ Mobile Banking ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
2) จำหน่ายให้แก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ตามที่ กระทรวงการคลัง กำหนด รุ่นอายุ 10 ปี วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.20 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยจำหน่ายเฉพาะช่องทาง Counter ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
ทั้งนี้ วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม.และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง และกระทรวงการคลัง สามารถปรับเพิ่ม/ลดวงเงินทั้ง 2 รุ่นที่จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายได้ตามความเหมาะสม
สบน.ได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และมาตรการ การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไข และวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
ทั้งนี้ ตลอดทั้งปีงบประมาณ สบน.มีแผนจะระดมเงินจำนวน 2.3 ล้านล้านบาท ผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ ออกพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 1.1-1.3 ล้านล้านบาท การทำบอนด์สวิชชิ่ง 1.4 แสนล้านบาท ตั๋วเงินคลัง 5.4 แสนล้านบาท และตั๋วพีเอ็น และเทอมโลน 3.9-5 แสนล้านบาท การออกพันธบัตรออมทรัพย์วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท
ผอ.สบน.ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินตามพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท นั้น ขณะนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินกู้ไว้จำนวน 2.3 แสนล้านบาท ทาง สบน.ได้ทำการกู้ไปแล้ว 1.44 แสนล้านบาท และได้มีการเบิกจ่ายจริงไปจำนวน 1.3 แสนล้านบาท ฉะนั้น ยังมีกรอบวงเงินที่เหลืออีกประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งการกู้เงินส่วนที่เหลือนี้จะเป็นไปตามการพิจารณาโครงการของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้
“ตามแผนการกู้นั้น เราจะกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นสำหรับการกู้เงินจากต่างประเทศด้วย หากว่าระดับสภาพคล่องในประเทศมีการตึงตัว และจะกู้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งตลาดทุนก็เป็นหนึ่งในแหล่งทุนที่เราดูไว้ ขณะที่มีหลายองค์กรเสนอแผนให้เรากู้”
ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 57.89% ส่วนปีงบประมาณ 2565 เราคาดการณ์ว่าหนี้ต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 62%
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์