กรมวิชาการเกษตร เปิด พิพิธภัณฑ์ กล้วยหายาก

กรมวิชาการเกษตร เปิด พิพิธภัณฑ์ กล้วยหายาก

กรมวิชาการเกษตร ตามหาพันธุ์กล้วยโบราณหายากสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติตามพระราชดำริ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส

“ขอให้รวบรวมพันธุ์กล้วยหายาก ตามรายชื่อพันธุ์กล้วยที่มีอยู่ในสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไว้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”   จากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 23  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 

เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการตามหาพันธุ์กล้วยพื้นเมืองโบราณหายากภายใต้โครงการการอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยโบราณตามพระราชดำริโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส (ศวพ.นราธิวาส) กรมวิชาการเกษตร และ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

นายปฎิวุฒิ  บุญเรือง นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) นราธิวาส และทีมปฏิบัติการได้เริ่มต้นจากการค้นคว้าข้อมูลรายชื่อพันธุ์กล้วยที่มีอยู่ในสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฯ และตามหนังสือโบราณ พบหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือจังหวัดยะลามีรายชื่อพันธุ์กล้วยจำนวน 12 พันธุ์ ได้แก่

กรมวิชาการเกษตร เปิด พิพิธภัณฑ์ กล้วยหายาก

 พันธุ์ปีแซ กาปา พันธุ์ปีแซ ซูซู พันธุ์ปีแซ ยะลอ  พันธุ์ปีแซ  กูกู กูดอ  พันธุ์ปีแซ ลือเมาะ มานิ  พันธุ์ปีแซ กาลอ  พันธุ์ปีแซ อาปอ  พันธุ์ปีแซ ยะรี บอยอ  พันธุ์ปีแซ ตาปง พันธุ์ปีแซ  สะราโต๊ะ พันธุ์ปีแซ สะรือเน๊ะ  และพันธุ์ปีแซ อาเนาะ อาแย 

กรมวิชาการเกษตร เปิด พิพิธภัณฑ์ กล้วยหายาก

โดยหลังจากค้นพบรายชื่อกล้วยโบราณดังกล่าวแล้วได้สอบถามเกษตรกรในท้องถิ่นและประกาศประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลแล้วจึงได้ลงพื้นที่สำรวจ ตามหาและรวบรวมพันธุ์กล้วยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา

การตามหาพันธุ์กล้วยโบราณพบปัญหาความซับซ้อนชื่อของพันธุ์กล้วย  โดยในหนังสือโบราณแจ้งชื่อของพันธุ์กล้วยไว้เป็นชื่อภาษาไทยและมีภาษายาวีกำกับ แต่เนื่องภาษายาวีตั้งแต่ปี 2468 กับภาษายาวีในยุคปัจจุบันมีภาษาพูดที่ต่างกันทำให้การหาข้อมูลมีความยากเพิ่มขึ้น   

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ตามหาพันธุ์กล้วยโบราณทั้ง 12 พันธุ์ดังกล่าว ศวพ.นราธิวาส ได้ค้นพบพันธุ์กล้วยที่คนทั่วไปไม่รู้จักในประเทศไทยอีกจำนวนมาก  โดยสามารถค้นหารวบรวมและจำแนกพันธุ์กล้วยจากการสำรวจในครั้งนี้ได้ทั้งหมดจำนวนถึง 39 พันธุ์  ซึ่งในจำนวนนี้มี 10 พันธุ์ที่มีรายชื่อตรงกับพันธุ์กล้วยในบันทึกที่เก็บรักษาไว้ที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนาฯ และหนังสือโบราณ ได้แก่ กล้วยตะเภา กล้วยนม กล้วยหอม กล้วยเล็บม้า กล้วยเล็บมือนาง  กล้วยตานี  กล้วยนิ้วจระเข้  กล้วยร้อยหวี กล้วยขนม และกล้วยเตี้ย ขาดเพียง 2 พันธุ์เท่านั้นที่ยังตามหาไม่พบในขณะนี้คือกล้วยลูกไก่และกล้วยอะไร 

กรมวิชาการเกษตร เปิด พิพิธภัณฑ์ กล้วยหายาก

ศวพ.นราธิวาสได้นำพันธุ์กล้วยโบราณหายากทั้ง 10 พันธุ์ตามพระราชดำริและพันธุ์กล้วยพื้นเมืองอื่นๆ ที่ค้นพบนำมาปลูกรวบรวมไว้ภายในพื้นที่งานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 2.1 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์  ขยายพันธุ์  และเป็นแหล่งเรียนรู้กล้วยพื้นเมืองหายากตามพระราชดำริไม่ให้สูญหายให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป

รวมทั้งยังได้ขยายพื้นที่แปลงรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองไว้ในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาสพื้นที่ 2 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม อนุรักษ์ และสำรองพันธุ์อีกพื้นที่หนึ่ง โดยนำเอากล้วยทั้ง 36 พันธุ์และกล้วยที่นำมาจากศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัยอีก 70 พันธุ์ มาปลูกรวบรวมไว้เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าไปเรียนรู้พันธุ์กล้วยพื้นเมืองที่หลากหลายของประเทศไทย

            กรมวิชาการเกษตร เปิด พิพิธภัณฑ์ กล้วยหายาก

“เราใช้พื้นที่ 2 ไร่ 2 งานจัดทำในลักษณะเป็นสวนสวยงามรวบรวมพันธุ์กล้วยโบราณสำหรับให้เดินชมตลอดระยะทาง  เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่สามารถหาชมได้เฉพาะที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ แห่งเดียวซึ่งใน 14 จังหวัดภาคใต้หรือในภาคอื่นๆ ยังไม่มี  ใครที่สนใจอยากจะศึกษาเรียนรู้พันธุ์กล้วยพื้นเมืองโบราณหายากที่มีให้ชมมากที่สุดสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ล่วงหน้า

 หากมาเป็นหมู่คณะจะมีบริการรถลากพร้อมผู้นำชมบรรยายให้ฟังถึงลักษณะความโดดเด่นของพันธุ์กล้วยโบราณแต่ละพันธุ์ที่ศวพ.นราธิวาสได้ติดตามค้นหา  รวบรวมอนุรักษ์และขยายพันธุ์ไว้สำเร็จตามพระราชดำริที่ทรงได้พระราชทานไว้