‘ผยง’กรุงไทย ชี้ ประเทศไทยในอนาคต เผชิญ 4โจทย์ ‘ที่ไม่เหมือนเดิม’

‘ผยง’กรุงไทย ชี้ ประเทศไทยในอนาคต เผชิญ 4โจทย์ ‘ที่ไม่เหมือนเดิม’

กรุงไทยชี้ เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด หลังจมกับโควิด-19 นานเกือบ2ปี ชี้ประเทศไทยในอนาคต มี4 ประเด็น ที่ไม่เหมือนเดิม ‘เสี่ยงขึ้น เปราะบางขึ้น เก่งขึ้น พร้อมขึ้น” แนะ 5 เอาตัวรอดรับโลกใหม่

          นายผยง ศรีวณิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงาน Better Trade Symposium 2021 หัวข้อ “Warp…to the future” ที่จัดขึ้นโดยEfinancthai.com ว่า สิ่งที่เป็น Big Surprise สำหรับปี 2564 คือการฟื้นตัวที่รวดเร็วของเศรษฐกิจโลก ซึ่งดีกว่าที่ธุรกิจต่างๆ ได้วางแผนหรือคาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่สินค้าสำคัญๆ ขาดแคลนไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลน Chips สำหรับอุปกรณ์ Electronics การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ไปจนถึงการขาดแคลน Commodities เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาของสินค้าหลายชนิดทั่วโลกแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั้งๆ ที่ไม่นานมานี้ธนาคารกลางทั่วโลกยังพยายามแก้ปัญหาเงินฝืดกันอยู่  

      ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพด้านบวกที่สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจคราวนี้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว  สถานการณ์โควิด-19    

       คลี่คลายขึ้นจากการเร่งวัคซีนโควิดโดยมีประชากรทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็มราว 50% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้ราว 5.5-6.0% ในปีนี้ และโตต่อเนื่องที่ 4.0-5.0% ในปี 2565 (IMF, OECD, World Bank) 

        อย่างไรก็ตาม ภาพด้านลบยังมีอยู่ ดังที่นางคริสตาลินา กอร์เกียวา ผู้อำนวยการของ IMF ได้กล่าวไว้ว่า 

      “เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแต่ก็ยังมีอาการ‘เดินเซ’ เพราะการบาดเจ็บจากผลของโรคระบาด เรายังไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้คล่องแคล่ว

      ราวกับมีก้อนหินอยู่ในรองเท้าของเรา” Think Tank อย่าง IMF, World Bank, OECD, UN ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะยังไม่ฟื้นคืนสู่แนวโน้มก่อนโควิดได้ภายในช่วง 3 ปีจากนี้ และจะเป็นผู้วิ่งไล่ตามกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 

      สำหรับประเทศไทยนั้น ก็อยู่ในกลุ่มผู้วิ่งไล่ตามเช่นกัน ดัชนี Global Covid-19 Index (GCI) ในด้านการฟื้นตัว หรือ Recovery index อยู่ในลำดับที่ 87 จากทั้งหมด 180 เขตเศรษฐกิจ องค์กรต่างๆ

      อาทิ ADB, World Bank, IMF, และสำนักวิจัยในประเทศ ประเมินว่า GDP ของไทยในปี 2564 จะขยายตัวประมาณ 1% หรือน้อยกว่านั้น ซึ่งต่ำมากเทียบกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ราว 5.5-6.0% ในปีนี้

      ส่วนปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ไม่เกิน 4.5% อยู่เกือบรั้งท้ายในอาเซียน และยังมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดได้ช้ากว่าเพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศ

     ซึ่งมีเหตุผลสำคัญมาจาก โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่โลกปัจจุบันนี้ไม่เหมือนเดิม และในอนาคตก็อาจจะไม่กลับไปเหมือนเดิม

       ดังนั้นทุกคน คงเห็นภาพตรงกันว่าโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และทำให้โลกอนาคตมีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น เป็นโลกที่หลายๆ อย่าง “ไม่เหมือนเดิม”

      สำหรับประเทศไทยในโลกอนาคต มี 4 ประเด็นที่ผมมองว่าเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า “ไม่เหมือนเดิม” ได้แก่ เสี่ยงมากขึ้น เปราะบางขึ้น เก่งขึ้น และพร้อมขึ้น

      ประเด็นแรก โลกอนาคตมีความเสี่ยงมากขึ้นโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า Economic Model ของเราที่อาศัย connectivity และ mobility สูงนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอีกฝั่งของโลกสามารถมาถึงเราได้ภายในชั่วพริบตา

       นอกจากภัยจากโรคติดต่อแล้ว Experts ก็มองว่าภัยธรรมชาติอันเกิดจาก climate change ก็จะมี Global impact อย่างรวดเร็วไม่ต่างกัน

       นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจาก Cyber Crime ในรูปแบบต่างๆ กัน ที่อาจสร้างความสูญเสียทั่วโลกได้มากถึง 2.65 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2031 จาก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2021 ความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

      โดยเฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งความเสี่ยงแต่ละด้านล้วนแล้วแต่สามารถสร้างผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทย 

      ประเด็นที่สอง โลกอนาคตมีความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแบบ K-shaped recovery ทำให้มีกลุ่มประเทศหรือกลุ่มคนที่เดิมเปราะบางอยู่แล้วยิ่งถูกซ้ำเติมจากภาวะวิกฤตนี้

      เช่น กลุ่มประเทศรายได้น้อยที่เข้าถึงวัคซีนได้น้อยหรือมีข้อจำกัดด้านการคลัง หรือกลุ่มแรงงานเปราะบางที่ไม่สามารถปรับทักษะเข้าสู่การทำงานในโลกหลังโควิดได้

       ซึ่งความเปราะบางคนกลุ่มหนึ่งจะกระทบเป็นลูกโซ่และลดทอนความเข้มแข็งของคนกลุ่มที่เข้มแข็งกว่าได้เช่นกัน

        เศรษฐกิจของไทยเองก็กำลังเผชิญกับ K-shaped recovery ครัวเรือนมีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 90% ของจีดีพี

      ขณะที่ลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินมียอดหนี้รวมกันกว่า 2 ล้านล้านบาท

       อย่างไรก็ตาม โลกใบใหม่ก็ยังมีมุมไม่เหมือนเดิมที่เป็นบวก นั่นคือ

     ประเด็นที่ 3 เราเห็นโลกอนาคตที่เก่งขึ้น คนและองค์กรกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ลองผิดลองถูกและปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดและเอาชนะกับภาวะวิกฤตนี้ให้ได้

     เช่น UNESCAP ได้เปิดเผยว่า วิกฤตโควิดส่งผลให้ผู้สูงอายุในเอเชียใช้เทคโนโลยีต่างๆ  เพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในช่วงล็อคดาวน์ระหว่างโควิดมากขึ้น และยังมีงานวิจัยของประเทศอื่น

    เช่น เม็กซิโก ที่ชี้ว่าผู้สูงอายุมี digital literacy ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่ในไทยพบว่าประชาชนมีการปรับใช้และคุ้นชินกับโลก Digital อย่างมาก

      สะท้อนจากธุรกรรม Mobile banking ปี 2563 ที่พุ่งขึ้นมากถึง 81% ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 68% (yoy) 

      นอกจากนี้ การทำ digital transformation รวมถึงการเปลี่ยนโมเดลการทำงานไปสู่ flexible work ขององค์กรธุรกิจอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง โดยยังสามารถมี productivity ที่มากกว่าเดิมอีกด้วย 

      ประเด็นสุดท้าย เราเห็นโลกใบใหม่ที่พร้อมขึ้น ซึ่งผมขอเรียกว่า “agile ecosystem” ที่จะนำเราไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐที่กล้าที่จะปลดล็อคข้อจำกัดจนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็น digital government และลดกระบวนการที่ล้าสมัยออกไป

      นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจะนำโครงสร้างพื้นฐานด้านธุรกรรมเงินบาทดิจิทัลซึ่งภาคการเงินของไทยได้เตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดีมาก่อนหน้า

      เช่น ระบบสวัสดิการของรัฐ หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบโครงการคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกัน targeted ตรงกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ 

      สำหรับประชากรหลายสิบล้านคน ทำให้ทั้งผู้เล่นในตลาด consumer และ regulator มีความพร้อมมากขึ้นในการต่อยอดนวัตกรรมที่มีประโยชน์เหล่านี้ และสร้างเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต   

    4 ประเด็นของโลกใบใหม่ข้างต้น  ได้ชี้ให้เราเห็นถึงทั้งปัจจัยที่ธุรกิจต้องเฝ้าระวัง และโอกาสที่ควรจะคว้าไว้เพื่อให้สามารถเติบโตและแข่งขันภายใต้บริบทโลกใหม่นี้

      และ หากจะมองข้ามช็อตไปในอนาคต หรือ The next era ของทิศทางการดำเนินธุรกิจ มองว่าผู้ที่จะก้าวไปเป็น winner ในอนาคตได้นั้น จะต้องตีโจทย์แห่งการเติบโต หรือ GROWTH 5 ข้อต่อไปนี้ให้ออกเพื่อที่จะแข่งขันหรืออยู่รอดภายใต้บริบทโลกใหม่นี้ให้ได้  

       ข้อแรกคือ G - Green economy หรือ โตอย่างไรในยุค Green economy? การแก้ปัญหาโลกร้อนกำลังกลายเป็น Top Agenda ของโลก ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ต่างหันหัวเรือมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Carbon neutrality ภายในปี 2050-2060 ตามข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขณะที่ประเทศไทยเตรียมที่จะประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2065 

       พร้อมทั้งชูแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สอดรับบริบทใหม่เหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้เห็นการปรับเปลี่ยนนโยบายขับเคลื่อนประเทศ ทิศทางการลงทุน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องตามมาอีกมากมาย

      ในช่วงสัปดาห์นี้ เราต้องติดตามการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติปี 2564 หรือที่เรียกว่า “COP26” ว่าแต่ละประเทศจะแสดงจุดยืนและประกาศแผนยุทธศาสตร์เพิ่มเติมหรือไม่

      ธุรกิจที่จะเป็น winner ต้องมีแผนที่จะ leverage บนเทรนด์ Green economy ที่กำลังมาแรงนี้ ชัดเจนที่สุดคือเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่จะต้องเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า

   โดย IEA ประเมินว่าหากจะให้โลกบรรลุเป้าหมาย net-zero emissions ได้นั้น จำเป็นต้องลงทุนในโครงการพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างน้อยปีละ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030 หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ เช่น Chevron, Exxon Mobil, Apple, Microsoft, Amazon และ McDonald's ได้แสดงเจตนารมณ์กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่มุ่งสู่ Net zero emission อย่างชัดเจน 

       สำหรับประเทศไทย เราเห็นการขยับตัวของผู้เล่นรายใหญ่เข้าสู่เทรนด์ Green economy อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเกี่ยวกับ EV หรือพลังงานสะอาด

     นอกจากนั้น ยังมีโอกาสทางธุรกิจสำหรับ SMEs อาทิ การทำ Solar-Corporate PPA ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำการลงทุนผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ธุรกิจติดตั้ง Solar Rooftop ภาคครัวเรือน

      ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ ขณะที่ภาคเกษตรและอาหารสามารถเปลี่ยนไปผลิตอาหารที่ทำมาจากพืชเป็นหลัก (Plant-based Food) ส่วนธุรกิจเคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์สามารถยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

     เช่น เม็ดพลาสติกหมุนเวียน และบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนเหล่านี้มีมาตรการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐ เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่ครอบคลุมธุรกิจ BCG กว่า 50 ประเภทกิจการย่อย ตัวอย่างโครงการที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว

      เช่น โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด โดยนำลำต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น

       ภาคธุรกิจไม่สามารถนิ่งนอนใจกับเทรนด์ของ Green economy เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตจะกลายเป็นมาตรฐานที่เข้มงวดในอนาคต  จีนและยุโรปจัดตั้ง Emissions Trading Scheme (ETS)

       ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนแห่งชาติเพื่อให้เกิดราคากลางของมลพิษ ยุโรปเตรียมเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) 

      ซึ่งจะเริ่มนำร่องบังคับใช้กับ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า ในปี 2023 นี้แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการทั่วโลกรวมถึงไทยต้องปรับตัวในที่สุด 

       ขณะที่ภาคการเงินก็ต้องปรับตัวในมิตินี้เช่นกัน เห็นได้ว่ามีนวัตกรรมทางการเงิน อาทิ การระดมทุนผ่าน Green Bond 

      ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการสูงในหมู่นักลงทุน ดังจะเห็นได้จากในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ที่มี Green bond ออกใหม่ทั่วโลกมากถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

       ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยก็เตรียมที่จะยกเรื่อง Green economy เป็นหนึ่งในเรื่องที่จะผลักดันในมิติของ ESG

      ข้อสองคือ RO - Reopening Thailand หรือโตอย่างไรในยุคที่ประเทศกลับมาเปิดแต่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม? 

       เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้างขึ้น หลังจากในช่วงเกือบ 2 ปีที่เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยซบเซาลงมากเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เราเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึงปีละเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท

      ซึ่งคิดเป็น 10% ของ GDP อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศครั้งนี้ อยู่บนสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเดิม

       นั่นคือ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ การเดินทางแบบหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์อาจฟื้นตัวช้า ขณะที่หลายประเทศยังไม่อนุญาตให้ประชาชนมีการเดินทางระหว่างประเทศมากนัก

      โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเคยเป็นฐานนักท่องเที่ยวรายใหม่ของไทย ทำให้กว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวเทียบเท่าก่อนเกิดโควิด-19 นั้น ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี 

      ดังนั้น  มาตรการในการรับมือและโมเดลธุรกิจเพื่อรองกับการเปิดประเทศจึงต้องไม่เหมือนเดิม ธุรกิจท่องเที่ยวที่จะเป็น winner ควรเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวที่เน้นเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ

      โดยเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น หลังจากในช่วง 2 ปีก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2561-62) แม้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละเกือบ 3% แต่พอมองลึกลงไป กลับพบว่าการใช้จ่ายต่อคนต่อวันกลับหดตัวลงเฉลี่ยปีละ 2% 

      ภาคธุรกิจจึงควรออกแบบประสบการณ์ในการท่องเที่ยวใหม่ที่มุ่งหวังเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น และยืดระยะเวลาพำนักให้นานขึ้น (Long stay)

       เช่น Medical & wellness tourism นอกจากนั้น เราควรใช้โอกาสนี้ในการดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและรอที่จะใช้จ่าย เช่น นักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา หลังพบว่าอัตราการออมเงินของคนอเมริกันในปี 2563 และ 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 15% เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากระดับก่อนโควิด-19 (ข้อมูลจาก McKinsey และ Federal Reserve Bank of St Louis) ทำให้หลังจากนี้จะเห็นกำลังซื้อจากการท่องเที่ยวมากขึ้น

      นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องปรับตัวในบริบทใหม่ของการเปิดประเทศแล้ว ธุรกิจส่งออกไทยก็ต้องปรับตัวมากเช่นกัน เนื่องจากมีความท้าทายจากปัญหา Supply chain disruption และปรับตัวให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคที่ Supply chain โลกจะสั้นลง 

       ในวันนี้เราเริ่มเห็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเวียดนาม ตัวเลขส่งออกของเวียดนามในปี 2563 โต 6.9% ขณะที่ไทยติดลบ 5.9% ส่วนตัวเลขล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ก็พบว่าส่งออกเวียดนามโตเกือบ 22% สูงกว่าตัวเลขของไทยอยู่พอสมควร 

       ธุรกิจส่งออกที่จะยังเป็น winner จะไม่ใช่แค่ผู้รับจ้างผลิตแต่จะต้องมีส่วนในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ผ่านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น

      นอกจากนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างแต้มต่อให้กับภาคการส่งออกของไทย โดยการเข้าเจรจาหรือทบทวนข้อตกลงทางการค้าเสรีกับคู่ค้าต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือเรียกสั้นๆ ว่า CPTPP เพื่อไม่ให้ภาคการผลิตและบริการไทยเสียเปรียบประเทศอื่น ๆ หลังจากปัจจุบันไทยเรามีการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งสิ้น 13 ฉบับ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 63% ของการค้าระหว่างประเทศของไทย 

     ข้อสาม คือ W – Work and Workforce of the future หรือ โตอย่างไรในยุคที่โลกของงานเปลี่ยนไป?

      ธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนหลังโควิด จะต้องให้ความสำคัญกับพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร และตระหนักถึงกลยุทธ์ด้าน HRD (Human resource development) และ HRM (Human resource management) ที่มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปจากนี้  

      ในด้าน HRD นั้น องค์กรชั้นนำของโลกหลายแห่งได้ริเริ่มกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรของตนให้มีทักษะทีทันโลกอยู่เสมอ

      เช่น บริษัท Accenture ได้ลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญในปี 2021 ด้านการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรโดยการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนใน classroom และผ่านระบบดิจิทัล

     ส่วนบริษัท Amazon ก็ได้ริเริ่มโปรแกรม Upskilling 2025 initiative โดยหนึ่งในนั้นมีโปรแกรมฝึกฝนทักษะของพนักงาน ด้านระบบหุ่นยนต์และMecha-tronic 

      ซึ่งพนักงานที่ผ่านโปรแกรมดังกล่าวจะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ World Economic Forum ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 Automation จะทำให้เกิดความต้องการทักษะงานใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และAlgorithm 97 ล้านตำแหน่ง และแนวโน้มของ digital transformation ขององค์กรธุรกิจทั่วโลก ยิ่งทำให้ตำแหน่งงานที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงเป็นที่ต้องการมากขึ้น

       เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Big Data ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กรให้ทันกับความต้องการของโลกอนาคตเป็นความท้าทาย และจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจที่จะก้าวขึ้นมาเป็น winner 

       ในด้าน HRM แนวโน้มที่สำคัญคือ รูปแบบการทำงานในองค์กรได้ถูกพลิกโฉมไปสู่รูปแบบใหม่ หลายองค์กรได้ปรับใช้ระบบ hybrid work ที่ผสมผสานการทำงานจากที่ทำงานกับนอกสถานที่จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่

      โดยการสำรวจของ McKinsey พบว่า 52% ของพนักงานองค์กรต้องการทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible work model) หลังการแพร่ระบาดของโควิด ล่าสุด PwC ได้มีนโยบายให้พนักงานกลุ่ม client services ราว 4 หมื่นคนของสำนักงานในสหรัฐอเมริกาสามารถทำงานแบบ 100% remote working จากที่ไหนก็ได้ในอเมริกา

       ดังนั้น บริษัทที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตต้องมีกระบวนการที่ดีที่สามารถสร้าง Productivity จากพนักงานให้ได้มากกว่าเดิม ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

      ขณะที่ตอบรับกับความต้องการของ workforce ในเรื่องของ flexible work ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตเราจะเห็นรูปแบบการทำงานแบบไร้พรมแดน (Boundary-less working) ที่ทำให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จาก Talent ที่อยู่ในประเทศอื่นให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้สงครามแย่งชิงหัวกะทิ (Talent war) เข้มข้นมากขึ้น

       ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางดังกล่าว ทั้งเพื่อเก็บรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่องค์กร และเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว 

    ข้อสี่ คือ T – Technology driven หรือ โตอย่างไรในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด? 

      ธุรกิจที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งยุคหลังโควิด จะต้องมี “speed” ของการดูดซับองค์ความรู้และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว เพราะปัจจุบันความเร็วของการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นเป็นแบบ exponential 

     ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใน 10 ปีจากนี้จะเทียบเท่ากับการพัฒนาใน 100 ปีที่ผ่านมาทั้งหมดรวมกัน

      ยิ่งไปกว่านั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมากลับยิ่งเป็นตัวเร่งให้การปรับใช้เทคโนโลยีในภาคธุรกิจเกิดขึ้นเร็วและเป็นวงกว้างขึ้น

       โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล จากผลสำรวจ CEO ทั่วโลกของ PwC ต่อทิศทางแผนการลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า พบว่าอันดับ 1 คือ การลงทุนด้าน Digital transformation โดยเกือบครึ่งหนึ่งของ CEO ระบุว่าตั้งเป้าจะเพิ่มการลงทุนในส่วนนี้อีกอย่างน้อย 10% 

       สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแบบกระจายและใช้ร่วมกัน (distributed infrastructure) 

       เช่น cloud computing จะกลายเป็น hub สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลจากภาคธุรกิจกว่า 75% ภายในปี 2025 หรือแม้แต่ Next generation computing 

      เช่น quantum computing ที่มีความสามารถในการประมวลข้อมูลได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบันถึง 100 ล้านเท่าจะมีมูลค่าการใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2035 (จากการคาดการณ์ของ McKinsey) เป็นต้น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคธุรกิจที่ต้องการเอาชนะคู่แข่ง ไม่ใช่เพียงแค่เลือกใช้เทคโนโลยีที่แพร่หลายอยู่แล้วในปัจจุบัน

      แต่ต้องตื่นตัวก่อนใครในการพิจารณาใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เป็น “next gen” หรือ “next level” 

       การลงทุนวิจัยและพัฒนาจะช่วยสร้างความสามารถขององค์กรและระบบเศรษฐกิจในการดูดซับองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอก และช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว องค์กรธุรกิจที่ลงทุนวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนที่สูง

      ก็จะประสบความสำเร็จเอาชนะคู่แข่งขันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ เช่น Tesla ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.2 หมื่นล้านเหรียญ สูงที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยบริษัทได้ลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็นสัดส่วน เกือบ 3,000 เหรียญต่อรถยนต์ 1 คันที่ขายได้ เทียบกับคู่แข่งอย่างฟอร์ดที่ลงทุนเพียง 1,200 เหรียญต่อรถยนต์ 1 คัน และ General Motors ลงทุน 900 เหรียญต่อรถยนต์ 1 คัน 

      ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในด้านการลงทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่จะต่อยอดสู่อนาคต 

      ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่มาจากการสะสมองค์ความรู้พื้นฐานมาอย่างยาวนาน 20-30 ปี โดย IMF ประเมินว่าหากประเทศเพิ่มงบประมาณการวิจัยพื้นฐานเพียง 1 ใน 3 และรัฐบาลเพิ่มเงินอุดหนุนด้านการวิจัยพื้นฐานให้แก่ภาคเอกชนอีกเท่าตัว ก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพิ่มอีกปีละ 0.2% จากกระแสการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่กล่าวมานั้น จะทำให้เราจะเห็นคลื่นการตื่นตัวด้านการวิจัยและพัฒนาถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

      โดยเมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแผนก่อตั้งกองทุนมูลค่า 1 แสนล้านเยน เพื่อเร่งการวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น 

     ข้อที่ 5 คือ H – Health หรือ โตอย่างไรในยุคที่ “Health is really the new Wealth”? 

       หรือ สุขภาพ คือความสมบูรณ์ มั่งคั่ง อีกรูปแบบหนึ่ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผนวกกับพฤติกรรมประชาชนที่ใส่ใจสุขภาพและสุขอนามัยมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการดูแลสุขภาพทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นมาก

       หากมองไปในอนาคตอันใกล้นี้ ความต้องการด้าน Healthcare จะยังเติบโตสูงต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการก้าวสู่สังคมสูงวัยที่เข้มข้นขึ้น 

      โดยในปี 2563 เรามีประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่ราว 9 ล้านคน หรือคิดเป็น 13% ของประชากรไทยทั้งประเทศ ขณะที่ในอีก 30 ปีข้างหน้า UN คาดว่า ผู้สูงวัยในไทยจะเพิ่มเป็น 19.5 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรทั้งหมด ทิศทางเดียวกับภาพรวมทั้งโลกที่คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มจาก 9% เป็น 16%

       ทั้งนี้ UN ประกาศให้ปี 2564-2573 เป็นทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี (Decade of Healthy Aging) 

       โดยจะผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก ร่วมกันให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง 

      แม้สังคมสูงวัยจะสร้างความท้าทายต่อประเทศในแง่การบริหารจัดการงบประมาณ การวางโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายด้านสาธารณสุข การดูแลความเพียงพอของกำลังแรงงาน และการออกแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

      แต่อีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งโอกาสที่จะสร้าง winner ในธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ ธุรกิจผลิตยา วัคซีน สมุนไพร

      ส่วนหนึ่งสะท้อนจากยอดส่งออกถุงมือยางของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

      นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง winner ในธุรกิจบริการเกี่ยวกับสุขภาพ ได้แก่ สถานพยาบาล ศูนย์ดูแล รักษา บำบัดและฟื้นฟูผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 

     นอกจากนั้น ยังมีโอกาสสำหรับธุรกิจหน้าใหม่หรือ Startup ที่นำเสนอมิติใหม่ของวงการสุขภาพและการแพทย์ (MedTech) 

      เช่น Telemedicine หรือบริการแพทย์ทางไกล โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งได้รับความนิยมสูงในช่วงโควิด-19 ระบาด ดังเช่นบริษัทสัญชาติอเมริกาอย่าง “Teladoc Health” 

     ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Telemedicine ผ่าน Application ที่พบว่าในปี 2563 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากถึง 156% (ข้อมูลจาก S&P global) บริการผ่าตัดทางไกล (Remote Surgery) บริการในลักษณะ Real time monitoring และ Preventive care หรือการตรวจตราและเฝ้าระวังสุขภาพผ่าน Application และอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ (Wearable) ที่สามารถเชื่อมต่อซึ่งกันและกันระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

      ซึ่งตอบโจทย์การลดการกระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพิ่มคุณภาพ รวมถึงความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษาโรคของบุคลากรทางการแพทย์

"ผมเชื่อว่าธุรกิจที่ตอบโจทย์ 5 ข้อของ GROWTH ได้จะเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้ในโลกอนาคต และเป็นกลจักรที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่การฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน สามารถที่จะแข่งขันได้อย่างเต็มภาคภูมิในบริบทโลกใบใหม่หลังโควิด ประเทศไทยจำเป็นต้องให้การสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดที่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ซึ่งการแข่งขันไม่ได้หมายถึงจะต้องแข่งกับโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจะต้องแข่งกับตัวเองในทุกๆวัน โดยการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและเป็นแรงกระตุ้นให้เราบรรลุเป้าของการฟื้นฟูประเทศได้ในเร็ววัน และยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตการณ์ในอนาคต และการพัฒนาอย่างยืน"