ปตท.สผ.ชี้ราคาน้ำมันสมดุลที่ 70-80 ดอลลาร์ ลุยเจรจาแหล่งเอราวัณ
ปตท.สผ.มองราคาน้ำมันสมดุลควรอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แง้มเจรจาเข้าแหล่งเอราวัณสำเร็จก่อนสิ้นปี เผยแผนสำรองเพิ่มกำลังการผลิตแหล่ง "อาทิตย์-บงกช" พร้อมเพิ่มเป้าขายปิโตรเลียมปี64 เป็น 417,000 บาร์เรล ดันยอดขายปี 65 โต 7% ใช้เทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอน 25% ปี2030
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความท้าทายในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน สำหรับทิศทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในขณะที่โลกเรากำลังฟื้นตัวจะค่อยๆ เร่งอัตราการผลิตขึ้นมา ขณะนี้ อยู่ที่กว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มองว่าโอเปกจะพยายามบาร์ลานซ์ราคาน้ำมันอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำหรับการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการแหล่งเอราวัณ ตามกำหนดจะต้องเข้าพื้นที่วันที่ 24 เม.ย.2564 ซึ่งก่อนสิ้นปีนี้จะสรุปเป็นภาพที่ชัดเจน โดยขณะนี้ ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลได้ตามแผน แม้บริษัทจะยอมรับเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานปัจจุบันแล้วก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แต่ก็ได้ประสานงานกับผู้ซื้อและหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะพยายามเร่งการลงทุนในแหล่งอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอ เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตที่หายไปบางส่วน
“การเข้าพื้นที่ แหล่งเอราวัณยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งผู้รับสัมปทานเดิมต้องเข้ามารื้อถอน ไม่น่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ ระหว่างนี้จะเพิ่มกำลังผลิตจากแหล่งอื่นมาทดแทน อาทิ โครงการแสงอาทิตย์ คาดว่าจะผลิตก๊าซฯได้เพิ่ม 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่แหล่งบงกช จากเดิมกำหนดไว้ที่ 700 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 850 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน”
สำหรับโครงการในประเทศเมียนมมา ปตท.สผ.ยังคงดำเนินโครงการสำรวจและผลิตในประเทศเมียนมา เพื่อส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการในประเทศมาเลเซีย ขณะนี้ เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการมาเลเซีย–แปลงเอช ตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุต ตามเป้าหมาย ส่งผลให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/2564
นอกจากนี้ ยังค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการซาราวัก เอสเค 410 บี (แหล่งลัง เลอบาห์) โครงการซาราวัก เอสเค 417 (หลุมโดกง-1) โครงการซาราวัก เอสเค 405 บี (หลุมซีรุง-1) และโครงการซาราวัก เอสเค 438 (หลุมกุลินตัง-1) และยังคงเดินหน้าสำรวจในแหล่งอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยวางแผนพัฒนาโครงการในประเทศมาเลเซียในรูปแบบกลุ่มโครงการ (Cluster development) รวมถึงการใช้อุปกรณ์การผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนโครงการในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ โอมาน แปลง 61 ที่เสร็จสิ้นการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 20% ในไตรมาส 1/2564 ปัจจุบันสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทที่ 69,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ โครงการในระยะสำรวจที่สำคัญ คือ โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1, อาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา และวางแผนเจาะหลุมสำรวจ
นอกจากนี้ โครงการในทวีปแอฟริกา มีความคืบหน้าที่สำคัญในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โดย ปตท.สผ. ได้เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนอีก 24.5% จากบริษัท ซีนุค เป็น 49% โดยมีโซนาแทรค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของแอลจีเรีย เป็นผู้ร่วมลงทุนหลัก 51% ปัจจุบัน คาดว่าจะเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ในปี 2565 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ปตท.สผ. ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณขายปิโตรเลียมปี 2564 เป็น 417,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากไตรมาส 2 ที่ตั้งไว้ 412,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากโครงการในต่างประเทศ โดยคาดการณ์ราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ประมาณ 5.7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และตั้งเป้ารักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ประมาณ 28-29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ประมาณ 70-75% ของรายได้จากการขาย และตั้งเป้ายอดขายปี2565 โต 7%
อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.ได้วางแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยเน้น 3 เรื่องหลัก คือ 1. สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะเน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ ปตท.สผ.มีความชำนาญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง โดยจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20% ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS) ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน 25% ปี 2030
2. ลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) 3 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี, ธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ, พลังงานหมุนเวียน จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ โดยล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด และบริษัท ฟิวเจอร์เทค โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต ที่คาดว่าจะเพิ่มรายได้ 20% ใน 15 ปีข้างหน้า
3. ลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งมุ่งสู่พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และ การกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมถึงพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต เช่น พลังงานไฮโดรเจน