‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ สุดรอบเกือบเดือนครึ่ง ที่32.89บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ สุดรอบเกือบเดือนครึ่ง ที่32.89บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าขึ้นในรอบเกือบ1เดือนครึ่งจากดอลลาร์ อ่อนค่า แรงกำไรทองคำและฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้าแต่ยังต้องระวังความผันผวนไร้ปัจจัยใหม่หนุน มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(9พ.ย.) ที่ระดับ 32.89 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในรอบเกือบ1เดือนครึ่ง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.05 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากปัจจัยหนุนทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์, โฟลว์ขายทำกำไรทองคำ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเข้ามาเก็งกำไรแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนหุ้นกลุ่ม Reopening 

 

 

 

 

อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนเงินบาทในระหว่างที่อาจอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก เงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าหลุดระดับ แนวรับที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่าอาจเป็นระดับ Stop Loss ของผู้เล่นต่างชาติ ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนมีการปรับสถานะถือครองและหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เร็วในระยะสั้น

เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่รีบแข็งค่าขึ้นไปมาก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ โดยเฉพาะปัจจัยการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น และเชื่อว่า การแข็งค่าของเงินบาทหลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ จะทำให้ผู้นำเข้าบางส่วนเข้ามาแลกเงินดอลลาร์ ทำให้ เงินบาทอาจหาแนวรับใหม่ได้ในช่วง 32.80 บาทต่อดอลลาร์

ความหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศษฐกิจที่ดีขึ้น หลัง Pfizer ประกาศผลการวิจัยยา PAXLOVID ที่สามารถลดความเสี่ยงการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้ถึง 89% รวมถึง รายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด ยังช่วยหนุนให้ ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด+0.09% นับเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2017 ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.07% 

อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างรอประเมินทิศทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟดในสัปดาห์นี้ รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพุธ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยง

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงราว -0.24% จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนบางส่วน เพราะโดยรวมแล้ว ผลประกอบการของบริษัทยังออกมาดีกว่าคาด และผู้เล่นในตลาดก็มีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนพฤศจิกายน ที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 18.3 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เรามองว่า ในระยะสั้น ดัชนี STOXX50 มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้างตามแรงขายทำกำไร ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยเชิงเทคนิคัลที่ดัชนีปรับตัวชนแนวต้าน ทั้งนี้ การย่อตัวลงของตลาดหุ้นยุโรปจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปได้ เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจและผลประกอบการยังมีแนวโน้มที่ดี

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มขายทำกำไรบอนด์ออกมาบ้าง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่างปรับตัวลดลง หลังจากบรรดาธนาคารกลางหลักต่างย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยล่าสุด แรงขายทำกำไรบอนด์ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปีสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 4bps สู่ระดับ 1.48% อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ได้สะท้อนว่า ขาขึ้นของบอนด์ยีลด์ได้จบลงแล้ว โดยบอนด์ยีลด์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการทยอยถอนสภาพคล่องจากตลาดผ่านการลดคิวอีของบรรดาธนาคารกลาง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์(DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 94.05 จุด หลังจากผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจากเดิมที่เคยมองไว้ ณ กลางปีหน้า เป็นช่วงไตรมาสที่ 3 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกลดสถานะถือครอง ตามสภาวะตลาดการเงินที่ยังกล้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และแนวโน้มการไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 1,825 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีโอกาสขึ้นไปทดสอบโซนแนวต้านในกรอบ 1,830-1,840 ซึ่งเราเชื่อว่า จะเห็นผู้เล่นทยอยขายทำกำไรราคาทองคำมากขึ้นในช่วงระดับราคาดังกล่าว 

สำหรับวันนี้ ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตา แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี อาจชะลอลงสู่ระดับ 20 จุด เช่นกัน (ดัชนี > 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า) จากปัญหาด้าน Supply Chain ที่ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ การขาดแคลนวัตถุดิบรวมถึงราคาสินค้าต้นทุนที่แพงขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกัน ปัญหาเงินเฟ้อก็อาจกดดันให้ฝั่งผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลงได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นมุมมองนโยบายการเงินจากผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึงประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังล่าสุด ทั้งสองธนาคารกลาง ต่างส่งสัญญาณไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจรวมถึงมุมมองของผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึงประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองของประธานเฟด Powell ต่อแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่ในช่วงคืนก่อนหน้า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ยังมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจต้องรอการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงานและมองว่าปี 2023 อาจมีความเหมาะสมต่อการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าจะเป็นปีหน้า