ผ่าโครงสร้างธุรกิจ "โตชิบา" หากแตกกิจการเป็น 3 ยูนิต
ส่องโครงสร้างธุรกิจปัจจุบันของ “โตชิบา” (Toshiba) กลุ่มบริษัทข้ามชาติรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น หลังมีแผนแตกกิจการเป็น 3 หน่วยธุรกิจภายใน 2 ปี เพื่อฟื้นจากวิกฤติรุมเร้าช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โตชิบา แบรนด์ญี่ปุ่นที่คุ้นหูคนไทย อาจถึงคราวต้อง “เปลี่ยนแปลง” อีกครั้ง หลังโฆษกบริษัทโตชิบา เปิดเผยกับรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (8 พ.ย.) ว่า บริษัทมีแผนแตกธุรกิจเป็น 3 บริษัทอย่างเร็วที่สุดในปี 2566 หวังกอบกู้วิกฤติกรณีอื้อฉาวและภาวะขาดทุนต่อเนื่อง
3 หน่วยธุรกิจนี้ จะโฟกัสไปที่โครงสร้างพื้นฐาน, อุปกรณ์ไอที (ดีไวซ์) และชิพประมวลผล คาดว่าจะจดทะเบียนแยกธุรกิจแล้วเสร็จภายใน 2 ปีข้างหน้า
แผนแตกกิจการของโตชิบา ถูกมองว่าเป็นการลดแรงกดดันจากบรรดาผู้ถือหุ้นกิจกรรม (activist shareholders) ซึ่งปัจจุบันเป็นฐานนักลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นที่กำลังดิ้นรนรายนี้
อย่างไรก็ตาม โตชิบาเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ทางเลือกในการแตกกิจการ “อยู่ระหว่างการพิจารณา” แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ
“เราจะประกาศโดยทันที หากเราได้ข้อสรุปการตัดสินใจใด ๆ ที่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ” ทัตสึโระ โออิชิ โฆษกโตชิบากล่าว
ก่อนหน้านี้ นิกเคอิ สื่อธุรกิจญี่ปุ่น รายงานทำนองเดียวกัน และว่า โตชิบาอาจจะประกาศผลการตัดสินใจเรื่องแยกธุรกิจในวันศุกร์นี้ (12 พ.ย.) เมื่อมีการรายงานผลประกอบการ แต่ไม่ได้อ้างอิงแหล่งข่าว จึงยังต้องรอดูว่าจะเกิดขึ้นจริงในวันนั้นหรือไม่
- วิกฤติยักษ์ใหญ่จับปลาหลายมือ
ปัจจุบัน บรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ซึ่งมีธุรกิจหลากหลายตั้งแต่โรงไฟฟ้าไปจนถึงเครื่องใช้ภายในบ้าน ต่างเคยเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของประเทศ ขณะที่โตชิบาก็เป็นหนึ่งในบริษัทดาวเด่น และการแตกกิจการของบริษัทใหญ่ระดับนี้ ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในญี่ปุ่น
ที่ผ่านมา โตชิบาประสบความยากลำบากจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Conglomerate discount ซึ่งเพจ Money Works ระบุว่า หมายถึงหุ้นของบริษัทที่หันมาทำกิจการหลายอย่างจะซื้อขายที่มูลค่าต่ำกว่าเดิม องค์กรที่เป็นยักษ์ใหญ่ (conglomerate) ตลาดจะให้มูลค่าถูกกว่าหุ้นที่ทำธุรกิจเดียว เพราะส่วนใหญ่บริษัทจะมีความชำนาญเฉพาะด้าน ถ้าขยายขอบเขตมากเกินไปอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้
เมื่อดูจากประเภทธุรกิจที่โตชิบาดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันถือว่าหลากหลายมาก ไล่ตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และระบบคมนาคม ไปจนถึงการผลิตลิฟต์ เครื่องปรับอากาศ ฮาร์ดดิสก์ และชิพประมวลผล
กลุ่มโตชิบา รายงานว่า มียอดขายสุทธิสำหรับปีงบการเงินล่าสุด (สิ้นสุด 31 มี.ค. 64) อยู่ที่ 3.05 ล้านล้านเยน โดยแต่ละเซ็กเมนต์สำคัญจากทั้ง 6 เซ็กเมนต์สร้างรายได้ประมาณ 2-8 แสนล้านเยน
- ที่มา: Nikkei -
ภายใต้แผนแยกธุรกิจใหม่ โรงไฟฟ้าและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ จะอยู่ใต้บริษัทหนึ่ง และธุรกิจดีไวซ์ รวมถึงฮาร์ดดิสก์จะอยู่ใต้อีกบริษัทหนึ่ง
ขณะที่ธุรกิจชิพประมวลผลคาดว่าจะกลายเป็นบริษัทที่สามภายใต้การดูแลของ “Kioxia Holdings” ผู้ผลิตชิพความจำคอมพิวเตอร์ข้ามชาติของญี่ปุ่น ซึ่งโตชิบาถือหุ้นอยู่ราว 40% แต่ในท้ายที่สุด ธุรกิจชิพอาจเป็นส่วนหนึ่งในบริษัทดีไวซ์ที่แยกออกมาตั้งใหม่ก็ได้
- ฝ่ามรสุมรุมเร้า
การตัดสินใจเรื่องแยกกิจการ (หากโตชิบายืนยันอย่างเป็นทางการ) จะเป็นการยุติช่วงเวลาความเปลี่ยนแปลงอันวุ่นวายอย่างมากของบริษัทโตชิบา ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของเทคโนโลยีล้ำสมัยและอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ปลายเดือน มิ.ย. 2564 กลุ่มผู้ถือหุ้นโตชิบาลงมติปลด โอซามุ นางายามะ ออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารและซีอีโอ หลังเผชิญเรื่องอื้อฉาวและภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง นับเป็นชัยชนะของฝั่งผู้ถือหุ้นกิจกรรมที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบริษัทญี่ปุ่น
ในช่วงนั้น สถานการณ์ของโตชิบาตกอยู่ในภาวะตึงเตรียดจากกรณีที่ 3D Investment Partners ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัทเปิดเผยว่า นางายามะและผู้บริหารบางส่วน กำลังวางแผนกับรัฐบาลในการกดดันบริษัทร่วมลงทุนจากต่างประเทศ
ก่อนการลงมติยังมีการเปิดโปงข้อมูลอื้อฉาวที่สร้างความเสียหายต่อโตชิบา คณะกรรมการสอบสวนอิสระสรุปว่า โตชิบาพยายามขัดขวางกลุ่มผู้ถือหุ้นจากการยื่นข้อเสนอและลงมติตามสิทธิของตน
นอกจากนี้ รายงานการสืบสวนยังลงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัทโตชิบาดึงกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นให้มาแทรกแซงการลงมติของผู้ถือหุ้นด้วย
ขณะเดียวกัน การเปิดเผยเรื่องอื้อฉาวนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากในเดือน เม.ย. มีข้อเสนอเข้าซื้อกิจการจากบริษัทซีวีซี แคปิตอล พาร์ตเนอร์ส กองทุนหุ้นนอกตลาดในอังกฤษ ซึ่ง โนบุอากิ คุรุมาทานิ ซีอีโอของโตชิบาในขณะนั้น เคยเป็นผู้บริหารบริษัทซีวีซีในญี่ปุ่นระหว่างปี 2560-2561 ก่อนที่จะรับตำแหน่งที่โตชิบา
ข้อเสนอนี้สร้างกระแสไม่พอใจอย่างมากให้กับนักลงทุนและมีข้อครหาว่าเป็นการจงใจลดอิทธิพลของบรรดาผู้ถือหุ้นกิจกรรม กระทั่งในที่สุด คุรุมาทานิได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนเดียวกัน แต่ยังยืนกรานว่าไม่รู้เห็นกับการยื่นข้อเสนอซื้อกิจการโตชิบา