ตลาด ‘เวียดนาม’ ฐานเติบโต ‘เบริล8พลัส’

ตลาด ‘เวียดนาม’ ฐานเติบโต ‘เบริล8พลัส’

ด้วยจุดเด่น !เป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ของโลกยุคเทคโนโลยี "เบริล8พลัส " หรือ BE8 ผู้ประกอบการที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation ของบริษัทชั้นนำ เช่น Salesforce, Google, MuleSoft, และ Tableau

อาจจะเป็นหนึ่งใน “ปัจจัยบวก” ทำให้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)วันแรก (8 พ.ย.2564) ราคาเปิดอยู่ที่ 26 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 160% จากราคาไอพีโอ 10 บาทต่อหุ้น   โดย BE8 แบ่งธุรกิจออกเป็น 1.งานบริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และพัฒนาเทคโนโลยี (Strategy and Technology Consulting) ซึ่งบริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และพัฒนาเทคโนโลยี เริ่มตั้งแต่การวางแผนร่วมกับลูกค้าในการวางทิศทางและกลยุทธ์การทำ Digital Transformation และดำเนินการออกแบบระบบ พัฒนาระบบ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของพนักงานในองค์กร

2.งานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี (Technology Support Service) ซึ่งงานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี จะประกอบด้วยการขายสิทธิในการใช้ใบอนุญาตการใช้ซอฟต์แวร์ ตามจำนวนผู้ใช้งาน (User) และระยะเวลาที่ตกลงกัน จากซอฟต์แวร์ที่บริษัท ได้รับสิทธิในการเป็นตัวแทนจำหน่าย (Reseller Partner) หรือเลือกใช้ในการติดตั้งให้แก่ลูกค้า รวมถึงงานบริการหลังการติดตั้ง เช่น การให้บริการดูแลและบำรุงรักษา (Maintenance) และงานสนับสนุนด้านอื่นๆ

“อภิเษก เทวินทรภักติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8 ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า หลังเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นแล้ว บริษัทมีแผนนำเงินระดมทุนสร้างการเติบโตจาก“3 ส่วน” คือ “ขยายตลาดต่างประเทศ” วางงบลงทุนไม่เกิน 25 ล้านบาท สะท้อนผ่านการลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยปี 2565 บริษัทจะมุ่งเน้นขยายตลาดในเวียดนามมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมีลูกค้าในเวียดนามแล้วประมาณ 10 ราย หลักๆ เป็นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคาร (แบงก์) , อีคอมเมิร์ซ , ค้าปลีก (รีเทล) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าประเทศเวียดนามเป็น “โอกาส” ในการเติบโตของบริษัท เนื่องจากปัจจุบันตลาดเวียดนามถือเป็นตลาดที่มี “ความต้องการของลูกค้า” หรือ Blue Ocean เนื่องจากเวียดนามในเรื่องของ Digital Transformation ยังช้ากว่าเมืองไทย ขณะที่เมืองไทยมีการปรับตัวเรื่องดังกล่าวมากว่า 5-6 ปีแล้ว ประกอบกับประเทศเวียดนามเน้นลงทุนด้านดิจิทัลสูงเป็น “2 เท่า” ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

“ตลาดเวียดนามถือเป็นความโชคดีของเรา เนื่องจากเวียดนามเพิ่งเน้นลงทุน Digital Transformation 1-2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เราจะนำความเชี่ยวชาญในการทำตลาดลูกค้าในเมืองไทยไปเจาะตลาดในเวียดนาม โดยเฉพาะใน 5 กลุ่มธุรกิจ เช่น แบงก์ , ประกัน , อีคอมเมิร์ซ (ค้าปลีก) , แฟคตอริ่ง (Factoring) , พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น”

“ลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์” วางงบลงทุนไว้ไม่เกิน 25 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์(โปรดักส์) ของตัวเองมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ประกอบกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองทำให้อัตราการทำกำไร หรือ “มาร์จินระดับสูง” โดยเบื้องต้นบริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในเมืองไทยเป็นหลักก่อน

และ “ลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจหรือธุรกิจอื่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจ” ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตร หรือ การซื้อกิจการ (M&A) วางงบลงทุนไว้ประมาณ330 ล้านบาท ซึ่งมีแผนจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสเข้าไปลงทุนในบริษัทอื่นๆ โดยบริษัทมองโอกาสที่จะร่วมได้กับทุกธุรกิจ ทั้งประกันก็น่าสนใจ และยังสามารถทำ M&A กับเทคโนโลยีที่มีโปรดักส์เป็นของตัวเอง และกับโปรดักส์ที่น่าสนใจก็เป็นโอกาสโตผ่าน M&A ได้

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 25% กำไรโตมากกว่าปีก่อน รายได้ก็มาจากการพัฒนาระบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และเทคโนโลยีเซอร์วิส การให้เช่าสิทธิใช้ซอฟต์แวร์ ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนก็จะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากขึ้น เนื่องจากมีมาร์จินที่ดีกว่า และการขยายตลาดไปต่างประเทศ

”เราวางแผนสร้างรากฐานการให้บริการ Digital Transformation แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ให้มีความแข็งแกร่ง และก้าวทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่เป็นของบริษัทขึ้นมาเอง ตลอดจนการร่วมทุนทางธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ”

สำหรับกรณีมีการขายหุ้นผ่านกระดานซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ (Big Lot) ให้แก่ นักลงทุนแนว VI อย่าง “สถาพร งามเรืองพงศ์” ราว 4% ในราคา IPO ที่ 10 บาทต่อหุ้นอนาคตยังไม่มีแผนขายหุ้นบิ๊กล็อตเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ท้ายสุด “อภิเษก” บอกไว้ว่า ที่ผ่านมา เรานำเสนอการให้บริการที่ตอบสนองกับลูกค้าทุกอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก เพื่อก้าวสู่ผู้นำการทำ Digital Transformation แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์