อสังหาเร่งแก้กำลังซื้อติดหล่ม ชงธปท.ตั้ง‘กองทุนที่อยู่อาศัย’
“อธิป พีชานนท์” แนะแบงก์ชาติเร่งปลุกอสังหาฯ ชงตั้งกองทุนที่อยู่อาศัย ช่วยค้ำประกันคนกู้ไม่ผ่าน หวังปลุกกำลังซื้อตกหล่มนาน 2 ปี ยอดปฎิเสธสินเชื่อพุ่งสูงดับโอกาสมีบ้าน
นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง หลังปลดล็อกแอลทีวีออกไป 1 ปี เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ธุรกิจอสังหาฯ มีมูลค่าสูง 8-9 แสนล้านบาทต่อปี มีผลต่อการจ้างงานรวม 2.8 ล้านคน โดยนำเสนอ 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ซื้อบ้านสำหรับคนมีรายได้น้อยน้อย สามารถใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านกลไกของธนาคารรัฐ หรือธนาคารทั่วไป เชื่อว่าจะกระตุ้นและจูงใจผู้ซื้อที่อยู่อาศัย หรืออยากสร้างบ้าน
2.กลุ่มคนที่ซื้อบ้านแต่กู้ไม่ผ่านเพราะยอดปฎิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์เรต) อยู่ในอัตราสูงมาก แก้ปัญหาในต่างประเทศจะใช้วิธีตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยหรือ mortgage fund เหมือนกับที่รัฐบาลมีกองทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อรับประกันหนี้ของเอสเอ็มอี เป็นการช่วยคนที่กู้ไม่ผ่านโดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการรับประกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในส่วนต่างที่อาจกู้ไม่ได้ จะทำให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีโอกาสซื้อที่อยู่อาศัย
“จากเดิมคนอาจไม่เคยมีปัญหารายได้มาก่อนแต่พอมีโควิดรายได้ลดลงแต่ในอดีตเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้อย่าง แอร์โฮสเตส นักบิน จึงอยากให้ ธปท.ครีเอท mortgage fund ขึ้นมาสนับสนุน จะทำแค่ชั่วคราวภายใน 2 ปีระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว หรือจะมี mortgage Insurance ก็ได้”
หาก ธปท.ผลักดันให้มี mortgage fund และ mortgage Insurance จะทำให้ผู้ขอสินเชื่อกู้ผ่านได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันยอดปฎิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 40% หากมีการโอนมูลค่า 8 แสนล้านบาทต่อปีเท่ากับว่า เม็ดเงินจำนวน 3 แสนล้านบาทที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจะหายไป หรืออาจใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินเข้ามาช่วยตั้งวงเงินขึ้นมากระตุ้นกำลังซื้อที่ตกหล่มในช่วงวิกฤตินี้เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้
3.ความไม่ Consistency ของธนาคาร ยกตัวอย่าง ขณะนี้ยอดถึงเป้าหมายแล้วธนาคารบางแห่ง “อันปลั๊ก” เพราะหากปล่อยสินเชื่อต่อต้องรับเป้าหมายการเติบโตของปีถัดไปสูงขึ้น หาก ธปท. เข้าไปกำกับดูแลให้เกิดความต่อเนื่องไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรธนาคารต้องปล่อยกู้ มิเช่นนั้นกลายเป็นว่าหาธนาคารที่ปล่อยโพสต์ไฟแนนซ์ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ยากขึ้น โดยใช้วิธีการปฏิเสธแบบสุภาพว่า “ตรวจแล้วไม่ผ่าน” แม้จะปลดล็อกแอลทีวี แต่ก็ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร
4.ผู้ซื้อต่างชาติที่มาซื้อคอนโดมิเนียมต้องการกู้เงินภายในประเทศไทยแต่เดิมไม่มีสิทธิกู้ แต่หากถ้าธนาคารตรวจสอบเครดิตในต่างประเทศ และมีความสามารถ ตรวจสอบได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา
“แต่เราอย่าปล่อยแอลทีวีเขาเท่ากับคนไทยให้ระดับ 60-70% น่าจะพอแล้ว ธนาคารก็ปลอดภัยด้วย ลูกค้ากลุ่มนี้เก็บเงินดาวน์มากหน่อย วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินภายในประเทศ”