เมื่อ“PayPal”ปรับนโยบายใหม่ ฟังเสียง“ฟรีแลนซ์”ตัวจริงกระทบแค่ไหน?

เมื่อ“PayPal”ปรับนโยบายใหม่ ฟังเสียง“ฟรีแลนซ์”ตัวจริงกระทบแค่ไหน?

ชวนฟังเสียงเรียกร้องจากกลุ่ม "ฟรีแลนซ์" และไทยครีเอเตอร์ในวันที่ “PayPal” ปรับเปลี่ยนนโยบายและระเบียบข้อบังคับใหม่ ส่งผลกระทบต่อช่องทางรับรายได้ของพวกเขาแค่ไหน ทำไมถึงอาจเป็นจุดจบของคนทำงานสายครีเอเตอร์? หาคำตอบไปกับเราที่นี่

จากกรณีที่ “PayPal” แพลตฟอร์มให้บริการด้านการทำธุรกรรมออนไลน์ กลับมาเปิดให้บริการในไทยอีกครั้ง แต่ได้เปลี่ยนเงื่อนไขการใช้งานให้ผู้รับเงินอย่าง “ฟรีแลนซ์ ครีเอเตอร์คนไทย หรือผู้ค้ารายย่อย” ต้องดำเนินการ “เปิดบัญชีแบบธุรกิจ” ซึ่งจะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามกำหนดของประเทศไทย จากค่าธรรมเนียม PayPal ทั้งหมด (รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายภาษี e-Service เมื่อเดือนกันยายน 64 ที่ผ่านมา)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนฟังเสียงสะท้อนจากครีเอเตอร์คนไทย ที่ทำงานและรับรายได้ผ่านทาง “PayPal” เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ใหญ่ขนาดไหน อาจถึงจุดจบของฟรีแลนซ์ประเทศไทยหรือไม่?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

จากกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทีมข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับครีเอเตอร์ไทยรายหนึ่งที่ทำงานเป็น ศิลปินฟรีแลนซ์ (Freelance Artist) เป็นหลัก และใช้ PayPal เป็นช่องทางหลักในการรับค่าจ้างหาเลี้ยงชีพ ซึ่งเขาได้ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

 

  • สาเหตุที่ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ใช้ PayPal รับค่าจ้าง

ปกติแล้วฟรีแลนซ์สายอาร์ตส่วนใหญ่ที่รับงานจากทางต่างประเทศ จะมีงานในลักษณะการออกแบบเกม วาดภาพประกอบ ออกแบบโปสเตอร์ วาดไอเท็มเกม หรือออกแบบตัวละคร เป็นต้น 

โดยศิลปินส่วนใหญ่นิยมใช้ PayPal เป็นช่องทางหลักในการรับเงินค่าจ้าง จากผู้ว่าจ้างชาวต่างชาติ เช่น จากฝั่งยุโรป อเมริกา หรืออังกฤษ เพราะสะดวกและมีการใช้ในหลายๆ ประเทศ ส่วนช่องทางทำธุรกรรมการเงินตัวเลือกอื่นนั้นลูกค้าไม่ได้มีเป็นทางเลือกเสริมให้รับค่าจ้าง

  • ความจริงของ PayPal ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ 

จากที่ PayPal ปรับเปลี่ยนนโยบายให้ผู้ที่มีรายได้และรับค่าจ้างผ่านระบบ PayPal ต้องอัพเกรดจาก “บัญชีทั่วไป” มาเป็น “บัญชีธุรกิจ” อันที่จริงประเด็นนี้ทางบริษัทเคยส่งจดหมายมาแจ้งสักพักแล้ว และทางครีเอเตอร์ก็ได้พยายามปรับตัวกันพอสมควร 

ความจริงแล้วคนทำงานตรงนี้เต็มใจยื่นจ่ายภาษีรายปี ไม่ได้มีปัญหากับเรื่อง “การหักค่าธรรมเนียม” เพราะแม้คนทำงานตรงนี้จะโดนหักภาษีกับทาง PayPal อยู่แล้ว แต่หลายเสียงพูดตรงกันว่า อยากทำให้ถูกต้อง อยากรู้วิธีการที่ชัดเจนด้วยซ้ำ ว่าต้องขึ้นทะเบียนอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้กับผู้ใช้งาน

ข้อควรรู้ : 1. การเสียภาษีกับทาง PayPal มีตั้งแต่การเป็นบัญชีแบบบุคคลอยู่แล้ว ไม่ได้มีเฉพาะผู้ที่ใช้บัญชีธุรกิจเท่านั้น โดยการหักเงินนั้นขึ้นอยู่กับความผันผวนของค่าเงิน ณ ช่วงเวลานั้นที่ทำธุรกรรมการเงิน

2. บัญชี PayPal ในประเทศไทย สามารถพักเงินไว้ในระบบได้ หากพอใจกับค่าเงินช่วงเวลาไหนสามารถถอนเงินออกมาได้ในช่วงนั้น โดยเงื่อนไขของ PayPal ชี้แจงไว้ว่า หากถอนต่ำกว่า 5,000 จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 50 บาทต่อครั้ง ดังนั้นเวลาถอน หากจะให้คุ้มค่าควรถอนมากกว่า 5,000 บาทต่อครั้ง

เมื่อ“PayPal”ปรับนโยบายใหม่ ฟังเสียง“ฟรีแลนซ์”ตัวจริงกระทบแค่ไหน?

 

  • ปัญหาที่กระทบผู้ใช้ PayPal คือ ความสับสนเรื่องจดทะเบียน

สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาเพิ่มเติมคือ “จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อย่างไร?” ซึ่งหลายคนกำลังสับสน

หลังจากมีกระแสข่าวเรื่องนี้ออกมา ครีเอเตอร์หลายคนได้ติดต่อสอบถามไปยัง PayPal แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะคอลเซ็นเตอร์ก็ให้ได้แค่ข้อมูลทั่วไป และคาดว่าตอนนี้ บริษัทก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดนัก 

หนึ่งในข้อสงสัยคือ หลายคนไม่แน่ใจว่า งานฟรีแลนซ์ที่ทำ แบบไหนที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์รูปแบบใด เพราะมีทั้ง “แบบบุคคลธรรมดา และแบบนิติบุคคล” 

เพราะถ้าต้องจดทะเบียน บางคนเช่าบ้านหรืออยู่คอนโดมิเนียม ไม่ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง กลุ่มศิลปินหรือคนขายของออนไลน์จึงค่อนข้างลำบากในจุดนี้

ทั้งนี้ครีเอเตอร์ที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็ติดข้อจำกัดเรื่องอายุด้วย ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง หากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นการตัดโอกาสการสร้างงาน สร้างรายได้ ของเยาวชนที่ทุกวันนี้มีศักยภาพที่เก่งเกินอายุ 

นอกจากนั้นหลายคนยังรู้สึกไม่มั่นใจว่า “การจดทะเบียนพาณิชย์” หากทำแล้วจะมีผลดีจริงหรือไม่ ระบบใช้งานได้จริงหรือเปล่า ยังไม่มีใครที่สามารถยืนยันข้อมูลส่วนนี้ได้

 

  • การเคลื่อนไหวของแวดวงครีเอเตอร์ไทยต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของ PayPal กลายเป็นกระแสร้อนแรงมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลานั้น เหล่าครีเอเตอร์คนไทยได้เปิดห้องประชุม “Thai Creator Law & Tax” เพื่อพูดคุยกันทางแพลตฟอร์ม Discord โดยมีคนเข้าร่วมกว่า 2,054 คน และปัจจุบันห้องนี้ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ 

เมื่อ“PayPal”ปรับนโยบายใหม่ ฟังเสียง“ฟรีแลนซ์”ตัวจริงกระทบแค่ไหน?

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาของเหล่าครีเอเตอร์ ในวงสนทนาได้มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายได้เข้ามาร่วมพูดคุยด้วย เสนอแนะดังนี้

1. จดทะเบียนพาณิชย์ตามระเบียบใหม่ของ PayPal ประเทศไทย

ในวงสนทนามีการพูดแนะนำถึงการเตรียมเอกสาร การขึ้นทะเบียน การชำระเงิน การยื่นหักค่าใช้จ่าย และคำแนะนำที่จำเป็นอื่นๆ ด้วย

2. หา “แพลตฟอร์มธุรกรรมการเงิน” ตัวเลือกอื่นในการรับเงิน 

ในส่วนนี้บางแพลตฟอร์มมีข้อจำกัดการทำของงานฟรีแลนซ์ เช่น Payoneer มีกฎว่าห้ามระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding), ห้ามบริจาค (Donate) และห้ามทำงานด้านศิลปะ

ส่วนทางเลือกอื่นๆ อย่าง Accesstrade หรือ Wise ไม่ได้ซัพพอร์ตฐานคนใช้ในประเทศไทย และลูกค้าไม่ได้มีเป็นทางเลือก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ยากต่อการหันไปใช้ตัวอื่น 

ตัวอย่างเช่น ผู้ว่าจ้างประเทศญี่ปุ่นรายหนึ่ง จะมีระบบการจัดการแบบโบราณ ถ้าไม่ใช้ PayPal ก็ต้องเป็นผู้ที่มีบัญชีธนาคารของญี่ปุ่น ซึ่งคนที่อยู่ต่างประเทศจะไปสมัครไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าไม่มีช่องทางนี้รายได้ก็อาจจะหายไป

3. ย้ายไปประเทศที่เป็นมิตรกับศิลปินฟรีแลนซ์

ให้มองหาประเทศที่เปิดกว้างในการทำงานศิลปิน เช่น ไต้หวันเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างในสังคม Art Creator สามารถวาดงานขายได้อิสระ ทุกประเภท เพราะไม่มีเงื่อนไขว่า หากอยู่นอก UN จะไม่สามารถทำได้ หรืออีกคำแนะนำคือไปทำ E-Residence กับประเทศเอสโตเนีย แต่ก็อาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มเติมให้กับทางนั้นด้วย

4. ร้องเรียน PayPal ให้ทบทวนนโยบายใหม่

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเป็นจุดจบของฟรีแลนซ์จริงหรือไม่ ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับว่าทาง PayPal จะมีทางออกที่เป็นข้อสรุปอย่างไรให้ไวที่สุด

การทำธุรกรรมการเงิน ซื้อมาขายไปของคนไทยมีไม่น้อย หากไม่สามารถใช้ PayPal ได้อีก จะตัดโอกาสคนไปจำนวนมาก เพราะลูกค้าหลายรายในโลกนี้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทาง PayPal กันหมด

  • ข้อสรุปของครีเอเตอร์ไทยในวันที่ PayPal ยังไม่มีข้อสรุป

ครีเอเตอร์ไทยหลายท่านให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ไม่ว่าอย่างไรก็อาจจะใช้ PayPal ต่อไปอยู่ดี เพราะลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่สะดวกใช้แพลตฟอร์มนี้ในการทำธุรกรรมการเงิน และแพลตฟอร์มนี้ครอบคลุมทั่วโลกมากกว่า ทั้งยังหวังว่าทาง PayPal จะมีทางออกที่ลงตัวกับทุกฝ่าย และให้คำตอบชัดเจนที่ไม่ช้าเกินไปกว่านี้

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์