การประชุม COP26 จุดเริ่มต้นยุคแห่งพลังงานสะอาด
การประชุม COP26 สิ่งที่น่าจับตาคือ การร่วมมือกันของ 2 ประเทศมหาอำนาจ อย่าง สหรัฐฯ และ จีน ทำให้การประชุมครั้งนี้เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งการใช้พลังงานโลก ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด
1 พ.ย. 2021 ที่ผ่านมาเป็นวันแรกของการเริ่มประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ครั้งนี้จัดขึ้นที่เมือง Glasgow ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นการประชุมที่มีผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วมประชุม และร่วมแสดงจุดยืนที่มีต่อปัญหาด้านสภาพอากาศที่เกิดขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้มีความคาดหวังอย่างมากว่าผู้นำของโลกจะมีมาตรการใหม่ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งเน้นที่จะให้ความร่วมมือตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) การประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร จะมีผลต่อทิศทางการใช้พลังงานของโลกอย่างไร ทุกท่านสามารถหาคำตอบได้จากบทความฉบับนี้
ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ข้อที่ 6 จุดเริ่มต้นสู่ยุคพลังงานสะอาด
ดูเหมือนว่าการประชุมในครั้งนี้จะมีวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ “ข้อตกลงปารีส ข้อที่ 6” ซึ่งว่าด้วยเรื่องการดำเนินความร่วมมือระหว่างรัฐภาคี (cooperative implementation) เพื่อเพิ่มความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีไฮไลท์สำคัญคือ การซื้อ-ขาย เครดิตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ ประเทศใดที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ประเทศเหล่านั้นก็จะมีเครดิตและสามารถขายเครดิตนั้นให้กับประเทศที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงเป็นแรงจูงใจให้แต่ละประเทศพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายให้ได้เร็วที่สุด ถ้าหากนานาชาติเห็นพ้องต้องกันที่จะทำตามข้อตกลงปารีส ข้อที่ 6 จะเป็นการผลักดันให้แต่ละประเทศทั่วโลกทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้า ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น หรือยุติการใช้พลังงานจากถ่านหิน และเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดแทน เรียกได้ว่าการประชุมในครั้งนี้จะเป็นใบเบิกทางไปสู่ยุคพลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้
ผู้นำทั่วโลกเห็นพ้องหยุดตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือการที่ผู้นำโลกมากกว่า 105 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นเจ้าของผืนป่ารวมกันกว่า 85% ของโลก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 33 ล้านตารางกิโลเมตร เห็นพ้องหยุดตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 โดยครอบคลุมไปถึงการอนุรักษ์และเร่งฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศบนบกอื่นๆ ทั้งนี้ยังได้มีการเปิดตัวข้อริเริ่มทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายในการหยุดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งรวมถึงการทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนกลุ่มชนพื้นเมืองผู้พิทักษ์ผืนป่า และการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ 12 ประเทศ รวมถึงอังกฤษให้คำมั่นว่าจะร่วมขับเคลื่อนกองทุนสาธารณะวงเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2021-2025 เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการต่อต้านไฟป่าและฟื้นฟูผืนดินที่เสื่อมโทรม จุดนี้บ่งบอกถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาร่วมกันระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน และจะร่วมแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน
ทิศทางการใช้พลังงานของโลกจะเปลี่ยนไป
สิ่งสำคัญที่จะทำให้นานาประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้นั้น คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงาน ซึ่งปัจจุบันสาเหตุหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกคือ การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินราวๆ 70% ของการผลิตไฟฟ้าในประเทศ
ล่าสุด ปธน. สี จิ้น ผิง ก็ได้รับรู้ถึงปัญหานี้ จนได้มีการสั่งหยุดการทำงานของเหมืองถ่านหินขนาดเล็กในประเทศ จนเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานในประเทศ แต่นั่นก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ส่วนในระยะยาวการใช้พลังงานของโลกจะต้องถูกเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และจะมีทิศทางสอดคล้องกับทวีปยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้พลังงานจากฟอสซิลลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือราวๆ 37% ของการผลิตไฟฟ้า โดยมีการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน (Renewables Energy) ขึ้นมาทดแทนในสัดส่วนสูงถึง 38% โดยหลักๆ มาจากการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น ถึงเกือบ 2 เท่า จากปี 2015
ภาพแสดงรูปแบบการใช้พลังงานของประเทศจีนและทวีปยุโรป
กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดจะได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในระยะยาว
เมื่อเราเริ่มเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานค่อนข้างชัดเจนแล้ว ก็จะสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่ากลุ่มธุรกิจใดจะได้ประโยชน์ในระยะยาวหลังจากนี้ ซึ่งก็คงหนีไม้พ้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ อย่างเช่น จีน สหรัฐฯ และ ยุโรป หรือธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ที่ปัจจุบันมีต้นทุนต่ำลงกว่าอดีตมาก จนทำให้การเข้าถึงเป็นไปได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งธุรกิจแบตเตอรี่ ที่มีแนวโน้มเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์การเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมๆ กันทั่วโลก โดยระหว่างการประชุมครั้งนี้สังเกตุได้ว่ากองทุน ETF ที่มีธีมการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ตอบรับการพูดถึงในระดับนานาชาติ และเรายังคงมองว่าปี 2021 นี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของธุรกิจเหล่านี้เท่านั้น
ภาพแสดงผลตอบแทนกองทุน ETF ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
จากการประชุม COP26 นี้ เราได้เห็นการร่วมมือกันของ 2 ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ และ จีน ที่ได้ให้คำมั่นในการประชุมว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อชะลอภาวะโลกร้อน แม้ว่าทั้งคู่จะมีความขัดแย้งกันในเรื่องการเมือง อีกทั้งยังได้เห็นผู้นำมากกว่า 100 ประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาโลกร้อนซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ และต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม ซึ่งนั่นถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันระดับนานาชาติ ทำให้เรามองว่าการประชุมครั้งนี้เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งการใช้พลังงานของโลก ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากฟอสซิลแบบดั้งเดิมกลายเป็นพลังงานสะอาดโดยพร้อมเพรียงกันทั่วโลก
ที่มา: Bloomberg, cnn, ukcop26.org, ETF.com & cnbc
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว