หุ้นถุงมือยาง STGT หมดเสน่ห์แล้วหรือยัง?
บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และอันดับ 3 ของโลก โดย STGT เพิ่งจะเข้ามาโลดแล่นในตลาดหุ้นไทยได้ไม่นานราวๆ 1 ปี เรียกว่ามาพร้อมกับโควิดก็คงไม่ผิด
โดยลงสนามซื้อขายวันแรก เมื่อ 2 ก.ค. 2563 เปิดเทรดที่ 55.25 บาท เพิ่มขึ้น 62.5% จากราคาไอพีโอ 34 บาท จากนั้นราคาหุ้นค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาต่อเนื่อง ตามแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส หลังมียอดออเดอร์ถุงมือยางหลั่งไหลมาจากทั่วโลก
จนราคาหุ้นขึ้นไปทำจุดสูงสุดของปี 2563 ที่ 94.50 บาท เมื่อวันที่ 29 ต.ค. จากนั้นในช่วงปลายปีเริ่มมีการปรับฐานลงมา หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ขณะที่การพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้ามากขึ้น
ต่อมาบริษัทประกาศแตกพาร์จากราคาหุ้นละ 1 บาท เหลือ 0.50 บาท โดยเริ่มซื้อขายวันแรกด้วยราคาพาร์ใหม่เมื่อ 5 ม.ค. 2564 ถือว่าออกสตาร์ทได้ดี ราคาหุ้นเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง หลังเกิดการระบาดระลอกใหม่จากเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งรอบนี้สถานการณ์ดูรุนแรงยิ่งกว่าเดิม จนต้องล็อกดาวน์รอบใหม่
หนุนหุ้น STGT ขึ้นไปทำออลไทม์ไฮรอบใหม่ที่ราคาพาร์ใหม่ 49 บาท (หากคิดเป็นราคาพาร์เก่าอยู่ที่ 98 บาท) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. แต่จากนั้นราคาหุ้นเริ่มเปลี่ยนทิศอีกครั้ง หลังการฉีดวัคซีนครอบคลุมขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มองกันว่าถุงมือยางอาจไม่ได้จำเป็นเท่ากับช่วงที่เกิดการระบาดแรกๆ
นอกจากดีมานด์ที่ชะลอตัวลงแล้ว ในฝั่งซัพพลายมีกำลังการผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หลายบริษัทในต่างประเทศที่ก่อนหน้านี้ต้องปิดโรงงานเพราะโควิดระบาดหนัก กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ทำให้ราคาถุงมือยางทั้งโลกเริ่มปรับตัวลดลง
โดยผลประกอบการงวดล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,532.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 4,404.8 ล้านบาท แต่ลดลง 37.7% จากงวดไตรมาสก่อนที่ 7,280.1 ล้านบาท เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของราคาถุงมือยาง โดยราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,531 บาทต่อพันชิ้น หรือ 46.7 ดอลลาร์ ลดลง 32.5% จากไตรมาสก่อน ตามราคาถุงมือยางในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง
ราคาถุงมือยางที่ปรับตัวลดลง กลายเป็นปัจจัยหลักที่กดดันธุรกิจของ STGT การเติบโตของรายได้กำไรอาจไม่ได้ร้อนแรงเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาหุ้นค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง เรียกว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเทียบกับช่วงที่ขึ้นไปพีคสุดๆ
และทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า ตกลงแล้วจุดสูงสุดของบริษัท ทั้งผลประกอบการและราคาหุ้นได้ผ่านพ้นไปหรือยัง? STGT ยังน่าสนใจยังมีเสน่ห์อยู่หรือไม่? หรือ บริษัทจะปรับตัวอย่างไร? ล้วนแต่เป็นสิ่งที่นักลงทุนอยากรู้
หากดูจากมุมมองของนักวิเคราะห์ ต้องบอกว่าเสียงยังแตก มีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยบล.ทรีนีตี้ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ระบุว่าเริ่มเห็นสัญญาณที่ทรงตัวของราคาถุงมือยาง เชื่อว่าราคาน่าจะต่ำสุดแล้วในเดือน ธ.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ได้ปรับประมาณการกำไรปี 2564-2565 ลงเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท และ 9 พันล้านบาท ตามลำดับ จากสมมติฐานราคาถุงมือยางที่ปรับลดลง
ส่วนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนำ “ถือ” มองว่าราคาถุงมือยางในไตรมาส 4 ปี 2564 จะลดลงอีก 25% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรยังเป็นขาลงอีกไตรมาส ขณะที่ฝั่งอุปสงค์ลดความร้อนแรงลงจากพัฒนาการของวัคซีนและยารักษาโควิด ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ของอุตสาหกรรม
ด้านบล.เคทีบีเอสที แนะนำ “ขาย” จากราคาขายถุงมือยางในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง ตามกำลังการผลิตถุงมือยางโลกที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 30-35% ในปี 2565 ขณะที่การพัฒนายาต้านไวรัสโควิดเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อราคาขายถุงมือยาง ส่งผลให้ EPS ปี 2565 ปรับตัวลดลง 60% โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่า valuation ของ STGTจะยังคงเทรดที่ discount ไปจนกว่าจะเห็นราคาขายถุงมือยางกลับเข้าสู่ดุลยภาพ