เปิดภารกิจสำคัญนายกฯประชุม ครม.สัญจรกระบี่ ตรวจราชการภาคใต้ฝั่งอันดามัน
ส่องภารกิจนายกฯนำทีม ครม.ประชุมสัญจร ภาคใต้ฝั่งอันดามันครั้งแรกในรอบปี ตรวจความพร้อมพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ดันเมืองอันดามันน่าอยู่สมดุล ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานปรับปรุงสนามบินนานาชาติกระบี่ ตรวจความเรียบร้อยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเช่นเกาะพีพี
ระหว่างวันที่ 15 - 16 พ.ย.นีี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีภารกิจในการนำคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ "ครม.สัญจร" ที่จ.กระบี่ โดย ครม.จะใช้โอกาสนี้ในการตรวราชการพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันประกอบไปด้วย จ.ภูเก็ต ระนอง กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล
โดยการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำ ครม.ไปประชุมสัญจรนอกทำเนียบรัฐบาล และถือเป็นครั้งที่สองต่อเนื่องกันที่มีการประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่กลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามันหลังจากครั้งที่ผ่านมาเป็นการประชุมในจ.ภูเก็ตโดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว เยียวยาผลกระทบของผู้ประกอบการจากผลกระทบที่ได้รับจากโควิด-19
สำหรับการประชุม ครม.สัญจร จ.กระบี่ในครั้งนี้ รัฐบาลได้มีการวางเป้าหมายสำคัญ ศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาของกลุ่มจังหวัด ได้แก่ ความสวยงามและสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี "อันดามันเมืองอัจฉริยะและเมืองน่าอยู่ ( Andaman Smart and Livable City)"
การประกาศพื้นที่ "Tourism Sandbox" ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบระดับโลกการเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งและการท่องเที่ยวกับอินเดียและกลุ่มประเทศ "BIMSTEC" รวมถึงเป็นแหล่งเพาะปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลต่าง ๆ และแหล่งการทำประมงที่สำคัญของประเทศ โดยมีศักยภาพในการยกระดับการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรและประมงเพื่อเป็นรายได้ของกลุ่มจังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนา ดังนี้ "ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเน้นคุณค่า และเกษตรแนวใหม่เพื่อสังคมแห่งความสุขและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน"
อ่านข่าว : “ผู้ว่าฯ ตรัง” จ่อชง ครม.สัญจร 4 โครงการ 498 ล.ฟื้นพะยูน ปรับปรุงบ่อน้ำร้อน
และมีประเด็นการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่
1.ฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ประกอบการ บุคลากรด้านการท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่องอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)
2.สนับสนุนและพัฒนาการท่องเที่ยวเน้นคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3.ส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนและเกษตรสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ
4.พัฒนาสังคมและความมั่นคงที่ยั่งยืนในทุกมิติ
การตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับประเด็น ดังต่อไปนี้
1.การส่งเสริมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย Smart Entry ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ การบริหารจัดการ การรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยง Sandbox อื่น ๆ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในรูปแบบ New Normalและ Next Normal เป็นต้น
2.การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและคุณภาพระดับโลก การพัฒนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรม การเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตเกษตร ประมงและปศุสัตว์ ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม และความต้องการของท้องถิ่น
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการลงตรวจราชการในสถานที่สำคัญในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันเพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการในหลายพื้นที่ได้แก่
1.ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดกระบี่ที่อยู่ระหว่างการขยายสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเติม โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
2.ศูนย์พัฒนาประสิทธิภาพการให้ความช่วยเหลือและสร้างความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ดำเนินการโดยความร่วมมือขององค์การบริหรส่วนจังหวัดกระบี่และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรและอาสาสมัคร ให้มีความรู้และทักษะการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหรือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า OTOP อันดามัน (ANDAMAN OTOP SHOP) ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองกระบี่ เป็นอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงของกลุ่มจังหวัดอันดามันทั้ง 6 จังหวัด
4.ชุมชนท่องเที่ยวบ้านคลองหรูด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือจุด Check in แห่งใหม่ของจังหวัดกระบี่ โดยมีลักษณะในเชิงกายภาพเดิมเป็นคลองน้ำจืดสายเล็กๆ คล้ายกับป่าพรุ และ สืบเนื่องจากการก่อสร้างฝายน้ำล้นบริเวณกลางลำคลอง เพื่อชะลอน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งและนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำประปาส่งผลให้สภาพคลองและป่าพรุ ได้เปลี่ยนเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่
5.อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 47 ของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกของภาคใต้ มีความสวยงามตามธรรมชาติและมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก อาทิ อ่าวมาหยา เกาะพีพีเล เกาะพีพีดอน หาดไร่เลย์ หาดนพรัตน์ธารา อ่าวนาง และสุสานหอย 75 ล้านปี ทั้งนี้ อุทยานฯ ได้เตรียมความพร้อมพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางบกและทางทะเล ในการเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ รวมถึงการกำกับดูแลบริการเรือนำเที่ยวบริเวณท่าเทียบเรือด้านหลังอาคารที่ทำการและแนวชายหาดของอุทยาน และการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและป้องกันอุบัติภัยทางทะเล เปิดศูนย์ประจำพร้อมเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ได้กำหนดมาตรการคุมเข้มป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโควิด 19 อาทิ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และการเข้าร่วมโครงการ SHA Plus ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ของอุทยานจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน พร้อมทั้งต้องสแกนหมอชนะในแหล่งท่องเที่ยว
6.ท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในจังหวัดตรัง เรือส่วนใหญ่เป็นเรือท่องเที่ยวที่เดินทางจากหาดปากเมงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในหมู่เกาะทะเลตรัง จากการใช้งานท่าเรือมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้เกิดสภาฬชำรุดทรุดโทรม กระทรวงคมนาคมโดยกรมเจ้าท่า จึงได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเจ้าไหมในการศึกษาออกแบบปรับปรุงท่าเรือปากเมง เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก มั่นคง ปลอดภัย
โดยคาดว่าในปี2564 นี้ หลังปรับปรุงท่าเรือฯ แล้วเสร็จ จะมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 67,000คนต่อปี เป็น 90,000 คนต่อปี ทั้งนี้คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวพร้อมต้อนรับการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดตรังและกลุ่มจังหวัด อันดามัน ภายในเดือนพ.ย.นี้