“อาคม”เดินหน้านโยบายดูแลเศรษฐกิจคู่ขนาน มั่นใจจีดีพีปี 65 โต 4%
“อาคม”มั่นใจเศรษฐกิจในปี 65 จะขยายตัวได้ 4% โดยรัฐบาลจะเดินนโยบายคู่ขนานทั้งการดูแลโควิดและฟื้นเศรษฐกิจ เน้นให้เกิดการเติบโตทุกภาคส่วน ระบุ การส่งออกและเม็ดเงินภาครัฐราว 4 ล้านล้านจะหนุนการเติบโตในขณะที่การท่องเที่ยวยังโตไม่เต็มที่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ”ทิศทางการฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 2565”ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและฐานเศรษฐกิจว่า นโยบายของรัฐบาลในการดูแลเศรษฐกิจในปี 2565 คือ การดูแลให้ทุกภาคส่วนมีการฟื้นตัวอย่างทั่วถึง กล่าวคือ ไม่กระจุกตัวในภาคใดภาคหนึ่ง ซึ่งที่เราพูดกันว่า อินคลูซีพ หรือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจะไม่พัฒนาเฉพาะโมเดิร์นเซ็คเตอร์ แต่ในเวลาเดียว เรายังกระตุ้นในส่วนเศรษฐกิจฐานราก เช่น การหนุนให้เอสเอ็มอีได้พัฒนาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย
“ในขณะที่ ภาคท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ในปี 2565 ฉะนั้น คนที่ทำงานภาคท่องเที่ยว อาจไม่ได้กลับมาในภาคท่องเที่ยวทั้งหมด อาจเปลี่ยนอาชีพใหม่ ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลก็ต้องเข้าไปสนับสนุนและดูแลให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง”
เขากล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังพร้อมที่จะสนับสนุนการเติบโตของทุกภาคธุรกิจ เช่น การลงทุนรถอีวี เราก็จะหนุนด้านนโยบายภาษี เพื่อให้มีผู้ผลิตและมีการเปลี่ยนผ่านจากผู้ผลิตที่ใช้ระบบจุดระเบิดเดิมมาสู่ด้วยการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า และ ไม่ลืมว่า ในช่วงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการดูแล โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตัวกลางในการดูแลเรื่องของสภาพคล่องธุรกิจ
มั่นใจจีดีพีปี65โต4%
ทั้งนี้ ในเวลานี้ เราคงจะทราบตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุด ตัวเลขไตรมาสที่สาม ซึ่งในปี 2564 เรายังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องในระลอกที่สองและสาม ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน เพื่อให้มั่นใจว่า พี่น้องประชาชนนั้น จะไม่ได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป
คำถามที่พูดกันมากในเวลานี้ คือ ในปีนี้ เราจะจบด้วยจีดีพีที่เท่าไหร่ ปีหน้าจะเติบโตเท่าไหร่ ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการในปี 2564 ซึ่งคาดการณ์ว่า เนื่องจาก ปัจจัยหลายตัวยังดี รวมทั้ง การเปิดตัวภูเก็ตแซนบล็อก ทำให้เรามั่นใจว่า เศรษฐกิจในปี 2564 นั้น เราจะขยายตัวได้อัตรา 1% ส่วนปีหน้า 4% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจในหลายเรื่อง
เขากล่าวว่า หากเรามองในปี 2565 ซึ่งต้องขอย้อนไปในสิ่งที่เราทำได้ดีในปี 2564 คือ การส่งออกและภูเก็ตแซนบล็อกที่เราเริ่มทดลองและเปิดประเทศอย่างจริงจังในวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า เรากำลังดำเนินนโยบายคู่ขนาน นั่นก็คือ แก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ไปพร้อมกับการทำให้เศรษฐกิจของเราเดินได้
“ถ้าเราจำกันได้ ปีที่แล้ว โดยเฉพาะช่วงปลายปีนั้น สถานการณ์ก่อนหน้านั้น เราก็คิดว่า สถานการณ์จะดีขึ้น แต่กลับเป็นว่า ระบาดอีกครั้ง แต่ช่วงที่จะดีขึ้น เราต้องการแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นกำลังซื้อของภาคประชาชน ซึ่งก็มีมาตรการรัฐออกมาต่อเนื่อง ไม่ว่า ชิมช้อปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศในขณะที่ท่องเที่ยวเราไม่ฟื้นตัวดี”
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2564 นั้น สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายดีนัก เราก็มีมาตการต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่า จะมีเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่วนภาคการส่งออกก็ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง เป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก ซึ่งก็เป็นอานิสงส์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจจากปี 2564
สำหรับปี 2565 นั้น ต้องคิดว่า ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ถ้าจำกันได้ก่อนโควิด-19 เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน และมีรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้ รายได้ 2 ล้านล้านบาท หายไปเกือบหมด แต่เมื่อเริ่มภูเก็ตแซนบล็อก ก็เชื่อว่า หากโควิด-19 คลี่คลาย เรื่องการท่องเที่ยวก็จะมั่นใจมากขึ้น รวมทั้ง การเปิดเมืองให้คนในประเทศเดินทางข้ามจังหวัดได้ ก็จะเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ
ชี้ส่งออก-เม็ดเงินภาครัฐหนุนจีดีพี
นอกจากนี้ สิ่งที่จะปรับตัวได้ต่อเนื่องและจะเป็นประการแรกที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2565 คือ การส่งออก ซึ่งเรามองว่า ยังไปได้ และ ค่าเงินบาทยังสนับสนุน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเราอยู่ในซัพพลายเชนของทั่วโลก และจะเป็นโอกาสต่อเนื่องสำหรับการลงทุนใหม่ จะเป็นกำลังขับเคลื่อนในปีหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอีอีซี เชื่อว่า ภาคส่งออกทำได้ดี
ประการที่สอง คือ เม็ดเงินของภาครัฐยังมีเกือบ 4 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากงบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้านบาท เม็ดเงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีกเกือบ 3 แสนล้านบาท และเม็ดเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจอีกประมาณ 3 แสนล้านบาท รวมแล้วก็ประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท
เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขีดแข่งขัน
ประการที่สาม คือ โครงสร้างพื้นฐาน แม้เราอยู่ในวิกฤตโควิด-19 แต่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มีช่วงขณะเดียวที่เราปิดไซต์ก่อสร้าง ซึ่งเราก็สามารถจำกัดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้ ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะให้ความมั่นใจได้ คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาจากโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนโยบายเรายังต่อเนื่อง ไม่ว่า จะเป็นรถไฟฟ้าในกทม. รถไฟทางคู่ และ รถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการลงทุนพลังงานทดแทนด้วย
ส่วนที่จะเพิ่มเติมด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล ซึ่งเราได้เริ่มแล้วทางด้าน 5G ฉะนั้น ในปี 2565 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะมีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีจาก 5G ซึ่งวันนี้ ไม่ว่า ภาคเศรษฐกิจใดก็ตามก็ล้วนแต่จะเข้ามาอยู่ในโลกดิจิตอลทั้งหมด แม้กระทั่งกระทรวงการคลังเองก็พยายามปรับปรุงให้สะดวกเพื่อลดการเดินทางมาติดต่อของประชาชน
“โครงสร้างพื้นฐานที่เราลงทุนในอีอีซี จะเป็นเครื่องยนต์ที่เป็น new growth ของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยเฉพาะโครงการในอีอีซีที่เราเห็นมี 3 ส่วน คือ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราได้ผู้ชนะการประกวดราคาไปหมดแล้ว ไม่ว่า รถไฟเร็วความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยสนามบินอู่ตะเภานั้น ชัดเจนว่า ในส่วนการก่อสร้างรันเวย์ได้ใช้เงินกู้ ทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและมีแหล่งเงินที่ต่อเนื่อง”
ดันแบงก์รัฐหนุนสินเชื่อเอสเอ็มอี
ประการที่สี่ การลงทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ซึ่งเราคาดว่า จะมีการปรับตัวในปี 2565 มากขึ้น จากการส่งเสริมของภาครัฐ และการตื่นตัวในการทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานในภาคบริการที่มีการเปลี่ยนสายอาชีพใหม่มาเป็นผู้ลงทุนเอสเอ็มอี ซึ่งแหล่งทุนจะมีทั้งแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ
ส่วนอีกเรื่อง คือ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นหัวข้อที่พูดกันในทุกเวทีการประชุมของโลก ซึ่งพูดกันว่า ในปี 2050 การลดก๊าซเรือนกระจกนั้น จะต้องเหลือศูนย์ ส่วนประเทศไทยนั้น ได้ประกาศว่า เราอาจยืดเวลาไปอีกนิด คือ ปี 2065 เราจะทำให้ได้ ซึ่งภาครัฐเองก็ต้องมุ่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“แน่นอนว่า เราต้องลดการใช้น้ำมันที่ใช้จากฟอสซิส ก็นำไปสู่การสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี ซึ่งมีคณะกรรมการดูแล มีเป้าหมายว่า ภายในต้นปีหน้าจะมีความชัดเจนเรื่องของนโยบาย ซึ่งจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการทำธุรกิจของภาคเอกชนก็ต้องเกี่ยวกับกรีนบิซิเนสมากขึ้น แม้กระทั่งตลาดหุ้น ธุรกิจใดมีส่วนร่วมให้โลกน่าอยู่ จะมีโอกาสระดมทุนได้มาก”
นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เราเองเข้าสู่สังคมสูงวัย และใน 10 ปีข้างหน้าอัตราส่วนของผู้สูงวัยจะมีสัดส่วนถึง 27% ของประชากรทั้งหมด หมายความว่า ธุรกิจใดที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งปรับตัว
ชี้ผู้เล่นคริบโตรายใหม่จะเพิ่มขึ้น
สำหรับภาคการเงินและตลาดทุนนั้น ขณะนี้ เริ่มมีการปรับตัวไปในด้านคริบโตเคอร์เรนซีและเติบโตอย่างก้าวกระโดดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา และประเมินว่า ผู้เล่นรายใหม่จะมีเพิ่มขึ้นในปี 2565 ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากสตาร์ทอัพเล็กๆ ฉะนั้น ระบบการกำกับดูแลก็ต้องเข้ามาเนื่องจาก เรามีผลิตภัณฑ์การเงินใหม่และการลงทุนมีความเสี่ยง ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จึงเข้ามากำกับดูแล เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปตามกติกา เป็นธรรมและเสี่ยงน้อยที่สุด