เช็คลิสต์ "ธุรกิจ" ที่เคยมาแรงช่วง "หน้าหนาว" แต่พิษโควิดทำรายได้หดหาย

เช็คลิสต์ "ธุรกิจ" ที่เคยมาแรงช่วง "หน้าหนาว" แต่พิษโควิดทำรายได้หดหาย

เมื่อบรรยากาศของ "หน้าหนาว" กระตุ้นให้ผู้คนซื้อสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจง และสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น มากกว่าช่วงเวลาอื่นของปี ชวนดูว่าธุรกิจไหนที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ และธุรกิจที่โดนพิษโควิดจนรายได้หดตัวกว่าที่เคย

เมื่อภาครัฐประกาศ "เปิดประเทศ" รวมถึงมีคำสั่ง "ยกเลิกเคอร์ฟิว" ในบางพื้นที่มาได้สักระยะแล้ว ทำให้ช่วง "หน้าหนาว" ปลายปี 2564 คนไทยได้เริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้อีกครั้ง ประกอบกับหน้าหนาวแบบนี้ ผู้คนมักจะซื้อสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจงและสอดคล้องกับสภาพอากาศมากขึ้น ส่งผลให้บาง "ธุรกิจ" กลับมาฟื้นตัว แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจที่รายได้ยังหดตัว

สอดคล้องกับข้อมูลจาก "ttb analytics" ได้ประเมินว่ามีกลุ่มธุรกิจใดบ้างที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าจะฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 จนถึงกลางปี 2565 แต่ละกลุ่มธุรกิจใช้เวลาฟื้นตัวที่แตกต่างกัน คือ

- กลุ่มใช้เวลาฟื้น 1-3 เดือน ได้แก่ ธุรกิจการขายปลีกสินค้าออนไลน์ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด คาดการณ์ดัชนีค้าปลีกในไตรมาส 4 ปี 2564 โตขึ้นเกือบ 3 เท่า เช่น ร้านขายปลีกทีวี ร้านขายปลีกยาและเวชภัณฑ์ ร้านค้าแผงลอยและตลาด ร้านขายปลีกสินค้ามือสอง ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และเป็นผู้ค้ารายย่อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

- กลุ่มใช้เวลาฟื้น 3-6 เดือน ได้แก่ ธุรกิจขายรถยนต์/อุปกรณ์ และการซ่อมบำรุงรถยนต์ ร้านขายปลีกอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ร้านขายปลีกเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง คาดการณ์ดัชนีค้าปลีกกลุ่มนี้จะฟื้นตัวในไตรมาส1 ปี 2565

- กลุ่มใช้เวลาฟื้นมากกว่า 6 เดือน ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกสินค้าของที่ระลึกและวัฒนธรรม ธุรกิจปั๊มน้ำมัน (ได้ปัจจัยหนุนจากการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว) ธุรกิจท่องเที่ยว คาดการณ์ดัชนีค้าปลีกจะฟื้นตัวในไตรมาส1 ปี 2565

 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สรุปมาให้ดูว่าธุรกิจหน้าหนาวปลายปีนี้ มีธุรกิจไหนเริ่มฟื้นตัว? และธุรกิจไหนยังคงรายได้หดตัวต่อเนื่องบ้าง?

1. ธุรกิจยา เภสัชกรรมและเวชภัณฑ์

หลายคนมักจะมีอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่หน้าหนาว ส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่มยาและเวชภัณฑ์เติบโตขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะในยุคโควิดที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร และอุปกรณ์ชุดตรวจต่างๆ เป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้น

มีข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ มีรายงานว่า มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัว 2.5% ขณะที่ปี 2565-2566 คาดว่ามูลค่าจำหน่ายยาจะขยายตัวเฉลี่ย 3.5% ต่อปี เนื่องจากกระแสการใส่ใจสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้น และจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

2. ธุรกิจเครื่องน้ำอุ่น และเครื่องใช้ไฟฟ้า

เมื่อหน้าหนาวมาเยือน ของใช้ที่คนไทยมักซื้อหากันแทบทุกปีก็คือ เครื่องทำน้ำอุ่น ปีนี้ธุรกิจดังกล่าวก็ยังทรงๆ ไม่ได้เติบโตมากแต่ก็ไม่แย่ลงจนเกินไป

มีข้อมูลจาก บริษัท สตีเบล เอลทรอน เอเซีย จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องทำน้ำอุ่น ระบุว่า ในไตรมาส4 ของปี 2564 ธุรกิจเครื่องทำน้ำอุ่นช่วงโค้งท้ายที่เป็นไฮซีซั่นนี้มีการแข่งขันดุเดือดเป็นพิเศษ ซึ่งมูลค่าตลาดโดยรวมปีนี้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 ที่มีมูลค่า 3,200 ล้านบาท  (อ้างอิง: prachachat)

นอกจากนี้ยังมีข้อมูล ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ระบุถึงธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวม คาดการณ์ว่าในปี 2564-2566 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มฟื้นตัว โดยความต้องการในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.0% จากปัจจัยหนุนด้านภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่อยู่อาศัยที่จะทยอยฟื้นตัว

 

3. ธุรกิจร้านอาหาร (ปิ้งย่าง ชาบู บุฟเฟ่ต์)

มีข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 ผู้บริโภคมีแนวโน้มมีความถี่ในการออกไปทานอาหารและใช้เวลาในร้านอาหารมากขึ้น โดยคาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือของปี 2564 น่าจะมีการขยายตัวของจำนวนต่อครั้ง (โต๊ะ) เพิ่มขึ้น 7% 

ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีมูลค่าทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 1.13 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ในภาพรวมธุรกิจร้านอาหารยังคงหดตัวร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบจากปี 2563 

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ ในปี 2565 เริ่มมีปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ทำให้ธุรกิจร้านอาหาร (ให้บริการเต็มรูปแบบ) จะมีมูลค่ายอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 1.43 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 26.5% (YoY)

4. ธุรกิจท่องเที่ยว (หน้าหนาวเป็นไฮซีซั่นของภาคเหนือ+อีสาน)

มีข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากผลสำรวจความต้องการท่องเที่ยวในประเทศช่วงปลายปี 2564 สะท้อนว่า กว่า 73.7% ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ต้องการเดินทางท่องเที่ยวมากถึงมากที่สุด

คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอาจจะมีจำนวน 29.1 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 14.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ดีขึ้นจากค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 3.8 ล้านคน-ครั้งในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. 2564

ส่งผลทำให้ทั้งปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 66.71 ล้านคน-ครั้ง หดตัวประมาณ 26.3% จากปี 2563 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยทั้งปี 2564 นี้ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 296,895 ล้านบาท หดตัวประมาณ 38.2% จากปี 2563

5. ธุรกิจค้าปลีก 

มีข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้น่าจะกลับมาฟื้นตัวที่ประมาณ 1.4% (คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติม) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 63 ที่หดตัว 1.2%

โดยมีปัจจัยหนุนเสริมจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ประกอบกับธุรกิจต่างๆ น่าจะมีการออกแคมเปญทำตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่

-----------------------------------

อ้างอิง : สนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.), ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ประชาชาติ (รวบรวมตั้งแต่ ส.ค. - พ.ย.64)