ธุรกิจประกันอ่วมขาดทุน Q3/64 วิกฤติกระทบความเชื่อมั่น
ใครจะคาดคิดธุรกิจประกันที่มีสภาพคล่องสูงมากจะเจอผลกระทบขาดทุนอ่วมเกือบทั้งอุตสาหกรรม หลังสถานการณ์โควิดในไทยยากเกินจะคาดการณ์ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา จนทำให้ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 ของกลุ่มดังกล่าวออกมาทำสถิติขาดทุนหนักมากที่สุด
สถานการณ์ปกติ ธุรกิจประกัน ถือว่ามีความมั่นคงทางการเงินสูง เนื่องเป็นการออกผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ การประเมินความเสี่ยงต้องจ่ายค่าสินไหมประกันบนหลักการทางคณิตศาสตร์นั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำที่จะเกิดขึ้น
จากการระบาดของโควิดในช่วงแรกปี 2563 การติดเชื้อในไทยไม่รุนแรงมีการออกประกัน” เจอ จ่าย จบ “ ออกมาตอบสนองความความหวั่นวิตกการติดเชื้อในไทย จนทำให้จบปียอดทำ ประกันโควิด พุ่งสูงแบบถล่มทลายถึง 7 ล้านกรมธรรม์ จากประกันโควิด มีจำนวนกว่า 20 ล้านกรมธรรม์ สร้างผลกำไรให้บริษัทประกันกำไรเติบโต
จนปี 2564 การแพร่ระบาดใหญ่รุนแรงทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงหลักหมื่นรายต่อวัน จนทำให้ค่ายประกันยกเลิกขายประกัน “เจอ จ่าย จบ” ตามมาด้วยปัญหาความล่าช้าในการเคลมสินไหมทนแทนในค่ายประกันบางแห่งที่กลายเป็นข่าวใหญ่ เช่น “สินมั่นคงประกันภัย ” หรือ SMK ที่ทั้งยกเลิกขายประกันดังกล่าวและเผชิญส่วนเงินกองทุนประกันความเสี่ยง (Capital Adequacy Ratio : CAR) ลดลงจนต้องเพิ่มสภาพคล่อง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ยอดขายประกันโควิดปี 2563 – ส.ค.2564 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท ขณะที่ยอดเคลมประกันในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงในไทยเพิ่มขึ้นรายเดือน
โดยยอดจ่ายค่าสินไหมทนแทนสะสม เดือน เม.ย. 2564 อยู่ที่ 308.96 ล้านบาท เดือนพ.ค. 1,143.09 ล้านบาท เดือนมิ.ย. 2,050.49 ล้านบาท เดือนก.ค. 3,996.22 ล้านบาท และเดือนส.ค.สูงถึง 9,428.63 ล้านบาท และภาพรวมสิ้นเดือน ต.ค. 2564 ยอดจ่ยสินไหมทดแทนน่าจะสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้สินปี 2564 คาดการณ์ว่าตัวเลขมีโอกาสขึ้นถึง 40,000 ล้านบาท
สถานการณ์ดังกล่าวพลิกกลับมาเป็นลบสำหรับธุรกิจประกันทันที จากกำไรอู้ฟูในปี 2563 เมื่อมาส่องผลกำไรล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2564 หลายบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็กเผชิญการขาดทุนเป็นครั้งแรกก็ว่า
รายใหญ่ที่เผชิญขาดทุน “กรุงเทพประกันภัย” หรือ BKI อยู่ที่ 885 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนกำไร 761 ล้านบาท หรือติดลบ 216 % เป็นการขาดทุนครั้งแรกของบริษัท เป็นผลมาจากการจ่ายมาจากค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น 128 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 4,397.7 ล้านบาท เปรียบเทียบ ปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 22,858.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% มีกำไรสุทธิ 2,705.6 ล้านบาททำให้บริษัทมีมติ จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 15 บาทต่อหุ้น สำหรับปี 2563
“เครือไทย โฮลดิ้ง ” หรือ TGH ของกลุ่มอาคเนย์ หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มตระกูล “สิริวัฒนภักดี ” ขาดทุน 662 ล้านบาท ติดลบ 843 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไร 89 ล้านบาท ซึ่งบริษัทระบุได้รับผลกระทบจากธุรกิจประกันชีวิตมีกำไรลดลง 89 ล้านบาท หลังขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินลงทุน ธุรกิจ ประกันภัย มีค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยเพิ่มขึ้นตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจาก การรับประกันโควิด-19
ที่ขาดทุนหนักมากที่สุด “สินมั่นคงประกันภัย” งวดดังกล่าวอยู่ที่ 3,662 ล้านบาท ติดลบ 2,388 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 160 ล้านบาท มาจากค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 7,552.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,309.89 ล้านบาท หรือ 236.76 % จากงวดเดียวกันของปี ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่มาจากค่าสินไหมทดแทนในไตรมาสดังกล่าวสูงถึง 339 % หรือ 6,815.69 ล้านบาท เป็นค่าสินไหมทดแทนโควิด 6,002.91 ล้านบาท และค่าสินไหมทดแทนประเภทอื่นๆ 812.78 ล้านบาท
สำหรับค่ายประกันที่ไม่เผชิญการขาดทุนแต่กำไรลดลงอย่างชัดเจน “ไทยรีประกันชีวิต” หรือ THREL มีกำไรในงวดนี้ 20ล้านบาทลดลง 45.94% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหลักค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น 34 % รวม 764 ล้านบาท แบ่งเป็นการตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนโควิด 100 ล้านบาท
และ “ทิพย์ กรุ๊ป โฮลดิ้ง” หรือ TIPH ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “ทิพยประกันภัย” มีกำไร 378 ล้านบาทลดลง 31.52 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายการจัดการกรมธรรม์ประกันภัยโควิด และยังประเมินว่าสถานะของบริษัทยังมีความสามารถควบคุมได้ เนื่องจากกรมธรรม์ที่ขายคุ้มครองเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่าจากโควิด และไม่ได้ขายกรมธรรม์ประเภท “เจอ จ่าย จบ” ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่หลายบริษัทยังเดินหน้าทำกำไรเพิ่มได้อย่างต่อเนื่องและสวนกระแสอุตสาหกรรมในปีนี้ “เมืองไทยประกันภัย” หรือ MTI มีกำไรอยู่ที่ 173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.89 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งผลกระทบจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหลังมีการขายกรมธรรม์โควิดถึงกลางไตรมาส 3 ปี 2564 เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่มีการจัดทำประกันภัยต่อไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศทำให้ลดผลกระทบได้ เช่นเดียวกับ “กรุงเทพประกันชีวิต” หรือ BLA มีกำไร 1,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากรายได้จากการลงทุนเพิ่มขึ้นและการสำรองประกันภัยที่ลดลง
จากตัวเลขผลประกอบการกลุ่มประกันภัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่เกินกว่าคาดการณ์ไว้ จนทำให้เริ่มมองถึงความเสี่ยงของธุรกิจดังกล่าวมากขึ้น ว่าไม่ได้เป็นหุ้นหลบภัยจนทำให้ต้องมาตรวจสอบสถานะความแข็งแกร่งของแต่ละแห่งจะรองรับวิกฤติ เช่น โควิดได้มีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้ายิ่งในธุรกิจการเงินที่หากไม่มีความเชื่อมั่น โอกาสที่จะมองการเติบโตเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นในอนาคต