‘วิรไท’ แนะลดขนาดภาครัฐ ชี้ไม่ตอบโจทย์ ‘โลกใหม่’
“ทีดีอาร์ไอ” ย้ำ การบริหารภาครัฐแบบเป็นนายไม่ตอบโจทย์การทำงานอนาคต แนะลดขนาดภาครัฐ ตอบโจทย์ "โลกใหม่" ร่วมมือทุกภาคส่วนใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ล้มระบบ “ฮั้วประมูล” จี้แก้กฎหมายเก่าเกินกว่าจะมาใช้ในอนาคต หวังเห็นคนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ
นายวิรไท สันติประภพ กรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานสัมมนา TDRI Annual Public Virtual Conference 2021 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” ว่าที่ผ่านมา ประชาชนเห็นความอ่อนแอภาครัฐ ที่บริหารจัดการไม่ดี เกิดความเสียหายระยะยาว โดยเฉพาะการนำเข้าวัคซีน ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐเป็นระบบปฏิบัติการหลักที่เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศโดยมีหน้าที่โดยตรงกำหนดนโยบาย เก็บภาษีเพื่อนำมาบริหาร และสร้างความปลอดภัยให้กับประเทศ จึงควรพัฒนาความสามารถไปได้มากกว่านี้
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เข้ามาทำให้การบริหารงานภาครัฐปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ รัฐอาจติดกับดักวัฒนธรรมการทำงาน โครงสร้างไม่สามารถตอบโจทย์วิกฤติ แม้กระทั่งการทำงานปกติ ก็ต้องท้าทายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกรอบบริหารประเทศมีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีความซับซ้อน การติดต่อราชการยากขึ้น นำไปสู่การคอร์รัปชัน กลายเป็นธรรมเนียม ดังนั้น ทรัพยากรที่มีอยู่ถูกจำกัด อาจนำไปเข้ากระเป๋าคนใดคนหนึ่ง และไม่เป็นธรรม จึงควรลดขนาดลง
“จะเห็นหลายๆ โครงการที่รัฐบริหารจัดการไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม โลกข้างหน้ามีแนวโน้มต่อการผันผวน วิกฤติโรคระบาด ภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ไทยเป็นอีกประเทศจัดว่ามีความเสี่ยงสูงมาก มีประชากรภาคเกษตรที่ต้องพึ่งพิงดินฟ้าอากาศจะต้องมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต รัฐไม่ยอมรับความเสี่ยง เช่น การจองวัคซีนล่าช้า ทำให้เปิดประเทศช้า ควรใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อยอดเรื่องใหม่ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อายุ 35-45 ปี เข้ามาเปลี่ยนแปลงภาครัฐ หลายประเทศเห็นบทบาทคนรุ่นใหม่ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศไปอีกนาน”
นายวิรไท กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐจะต้องมีคือ การมองไปข้างหน้าตลอดเวลา ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับอดีต แต่รักษาสภาพปัจจุบัน ต้องมีขนาดเล็กลง เมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจ การเก็บภาษีที่ไม่สร้างภาระสังคมระยะยาว บริหารรัฐวิสาหกิจให้บริการเทียบเอกชน เปิดให้มีการแข่งขันเท่าเทียมและเสรี อีกทั้ง กฎหมายที่ให้อำนาจรัฐได้ถูกกำหนดและใช้มานาน ควรแก้ไขเพื่อใช้กับยุคปัจจุบัน และมองไปยังอนาคต อีกทั้ง ต้องทำงานร่วมภาคอื่นของสังคมให้มีประสิทธิภาพ ที่อาจเก่ง และมีความรู้มากกว่า เช่น กลุ่มธุรกิจ สถาบันการศึกษา หรือภาคประชาสังคมก็สำคัญ ในการทำงานร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงภาครัฐแบบเดิมที่มีลักษณะเป็นนายจะไม่ตอบโจทย์การทำงานอนาคต
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีความคล่องตัวสูง ทันต่อวิกฤติต่างๆ เพราะประเทศต้องเผชิญความหลากหลาย และอนาคตจะเจอมากขึ้น รัฐต้องมีประสิทธิภาพ ในขณะที่หนี้ครัวเรือนต้องลดลง อีกทั้ง รัฐเองจะต้องไม่เป็นระเบิดเวลา จะเห็นได้จากกลไกย้ายผู้บริหาร เพื่อกีดกันไม่ให้เกิดข่าวร้าย ก่อให้เกิดการสะสมปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐต้องกล้าให้เกิดความเป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาจะไม่มีทางออกเดียว เพราะปัญหาภาครัฐเป็นปัญหาที่สะสมต่อเนื่อง หลายกลไกที่เชื่อมโยง ออกแบบขับเคลื่อนอย่างน้อย 4 เสา ที่มีบทบาทสำคัญคือ
1. การเมือง เพราะมีบทบาทสำคัญ การปฏิรูประบบราชการรัฐอย่างจริงจังสำคัญสุด จะเห็นว่าการเมืองมักมองระยะสั้น แต่งตั้งข้าราชการตอบโจทย์การเมืองมากกว่า ควรมองคุณสมบัติความสามารถมีผลระยะยาว ต้องสร้างการตระหนักรู้ให้มีความตั้งใจ
2. โครงสร้างระบบการทำงานภาครัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ ถึงกลไกธรรมาภิบาล เน้นกระบวนการทำงานมากกว่าผลลัพธ์ ต้องออกแบบรูปแบบใหม่ ไม่เน้นเอกสาร หลายอย่างระบบราชการเน้นเอกสาร จะต้องทำให้กระบวนการทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ เกี่ยวข้องกับคนอื่นสูง
3. กฎหมายที่แข็งตัว บางเรื่องอาจเก่ามาก ไม่ตอบโจทย์โลกใหม่ ข้าราชการอยากปรับการทำงานแต่จะติดกฎหมายเก่า ทำให้ประเทศไทยเคลื่อนตัวช้ามากเทียบกับที่อื่นๆ และ
4. แรงจูงใจ มีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐ รางวัลจำกัด ทำให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง หลายหน่วยงานมีการยกระดับกลไกภาครัฐ ส่วนมากอยู่ที่ระดับอธิบดี แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเพราะติดขั้นตอนหลายอย่าง จึงต้องหาสมดุลให้เหมาะสม อาทิ การตรวจสอบคนทำผิด คอร์รัปชันต้องมีแรงจูงใจในการบริหารความเสี่ยง อาจตั้งรองนายกฯ ทำเรื่องกฎหมายโดยตรง จะต้องฟังเสียงผู้ดีรับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม การสร้างจินตนาการใหม่ภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ดังนั้น ขนาดภาครัฐไม่ควรมีขนาดใหญ่ บทบาทภาครัฐทั้งกำหนดนโยบาย กำกับดูแล ตรวจสอบ สนับสนุน ให้บริการ ใช้งบประจำสูง ต้องยอมรับว่ารัฐวิสาหกิจปัจจุบันมีความสามารถไม่เท่าเอกชน แต่มีแต้มต่อเรื่องสิทธิพิเศษ รัฐควรลดบทบาทลงทุกเรื่อง ควรสร้างการแข่งขัน เพื่อประชาชนจะได้ใช้ของถูก นอกจากนี้ กลไกการทำงานที่เกี่ยวกับภาครัฐ ที่ถูกกำหนดโดยราชการอยากทำ เช่น ประกันสังคม รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งโรงพยาบาลเอง ควรร่วมเอกชน ให้ประชาชนเลือกว่าจะใช้โรงพยาบาลไหน รัฐบาลเพียงแค่คุมงบประมาณ เอกชนจะเกิดการแข่งขัน สร้างอำนาจผู้ใช้บริการได้ตัดสินใจ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์