“ศูนย์สิริกิติ์” ยันเปิดบริการ ก.ย.65 “ไมซ์” แห่จองจัดงานถึงปลายปี

“ศูนย์สิริกิติ์” ยันเปิดบริการ ก.ย.65 “ไมซ์” แห่จองจัดงานถึงปลายปี

“เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” เผยความคืบหน้าเนรมิต “ศูนย์ฯสิริกิติ์” โฉมใหม่รุดหน้า 60% ทันกำหนดเปิด ก.ย.65 ชู 5 ไฮไลต์สู่สุดยอดศูนย์ประชุมของไทย ดันจุดขายความยืดหยุ่นรับดีมานด์การจัดอีเวนท์และประชุมทุกรูปแบบ ลุยแข่งขันสู้ศึกอุตสาหกรรมไมซ์ฟื้นหลังเปิดประเทศ

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” (Queen Sirikit National Convention Center หรือ QSNCC) หนึ่งในพอร์ตธุรกิจของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” กำลังจะเผยโฉมใหม่ ด้วยมูลค่าโครงการ 15,000 ล้านบาท วางฤกษ์เปิดให้บริการเดือน ก.ย.2565 เตรียมเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการปลุกความคึกคักแก่อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE: การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า) หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19

ช่วงจังหวะการปิดปรับปรุงศูนย์ฯสิริกิติ์ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้ไม่ได้รับผลกระทบเชิงธุรกิจมากนักจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งมีคำสั่งรัฐประกาศปิดศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเป็นระยะเพื่อสกัดการแพร่ระบาด จะมีบ้างก็เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาซึ่งมีการล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง โดยปัจจุบันได้มีการฉีดวัคซีนแก่คนงานที่ไซต์ก่อสร้างรวม 3,500 คนครบ 100% สร้างความมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าก่อสร้างศูนย์ฯสิริกิติ์แล้วเสร็จทันกำหนดเปิด

หลังมีการประกาศเปิดตัวศูนย์ฯสิริกิติ์เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มศักยภาพของโครงการด้วยการขยายพื้นที่รวม 300,000 ตารางเมตร ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่า หรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลกว่า 50 สนาม พร้อมรองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากกว่า 100,000 คนต่อวัน ตอกย้ำการเป็นศูนย์ประชุมใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

สานต่อตำนานบทใหม่ของศูนย์ฯสิริกิติ์เดิมที่มีความเป็นมากว่า 3 ทศวรรษ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2532 ใช้เวลาก่อสร้าง 20 เดือน และเปิดให้บริการในปี 2534 หลังได้รับโจทย์ใหญ่ให้เป็นสถานที่จัดงานประชุมของเวิลด์แบงก์ สร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทย รวมถึงการจัดงานประชุมและอีเวนท์สำคัญอื่นๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน

“ศูนย์สิริกิติ์” ยันเปิดบริการ ก.ย.65 “ไมซ์” แห่จองจัดงานถึงปลายปี

“ศูนย์สิริกิติ์” ยันเปิดบริการ ก.ย.65 “ไมซ์” แห่จองจัดงานถึงปลายปี

นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) หรือ FPT กล่าวว่า บริษัทฯได้รับความไว้วางใจจากบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ให้มาร่วมพัฒนาคอนเซ็ปต์และบริหารงานก่อสร้างโครงการศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่ ด้วยความเชื่อมั่นในประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ FPT ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯชั้นนำหลายแห่ง ตลอดจนเป็นบริษัทฯภายใต้แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ระดับโลกอย่าง “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” จึงการันตีคุณภาพและมาตรฐานความเป็นสากลอย่างเต็มรูปแบบ

“ศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่จะมีความทันสมัยและปลอดภัยสูง รองรับการจัดอีเวนท์ทุกรูปแบบ ตลอดจนงานประชุมสำคัญระดับโลก ด้วยเป้าหมายหมายการเป็นโครงการศูนย์ประชุมระดับเวิลด์คลาสแห่งใหม่ของเอเชีย ด้วยคอนเซ็ปต์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ในการออกแบบศูนย์ฯสิริกิติ์ให้มีความร่วมสมัย”

 

++ ก่อสร้างคืบหน้า 60% ทันเปิด ก.ย.65

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดมาก และมีความท้าทายในการเสริมศักยภาพโครงการด้วยการเพิ่มชั้นใต้ดินกว่า 45% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด สำหรับเป็นพื้นที่รีเทลและอาคารจอดรถได้มากถึง 3,000 คัน นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคจากการล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้างในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมาร่วม 60 วัน แต่บริษัทฯยังคงสามารถรักษาไทม์ไลน์การก่อสร้างได้ตามแผน โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 60%

“ด้วยการบริหารงานเชิงรุกและวางแผนอย่างรอบคอบ พร้อมกับการร่วมมือกันระหว่างทีมงานมืออาชีพที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถเอาชนะกับทุกความท้าทายได้ด้วยดี บริษัทฯมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาและส่งมอบโครงการที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากลเพื่อให้ทันกับกำหนดการเปิดให้บริการเดือน ก.ย.2565 อย่างแน่นอน โดยจะทยอยส่งมอบพื้นที่ตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 จากนั้นจะมีการเริ่มทดสอบและอบรมการเข้าใช้พื้นที่ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2565 ก่อนเปิดให้บริการ”

 

++ เพิ่ม 5 ไฮไลต์ก้าวสู่สุดยอดศูนย์ประชุม

ทั้งนี้บริษัทฯได้เพิ่มไฮไลต์ 5 อย่างเพื่อสร้างความแตกต่างและความเป็นสุดยอดศูนย์ประชุมที่ดีที่สุดในประเทศไทยมาใช้ในการพัฒนาโครงการ สอดคล้องกับเป้าหมายของศูนย์ฯสิริกิติ์สู่การเป็น “The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All”

ไฮไลต์แรกคือ Accessibility การเข้าถึงอย่างสะดวกสบาย เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา สามารถเข้าออกได้จาก 4 ถนนสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ ถ.พระราม 4 ถ.สุขุมวิท ถ.รัชดาภิเษก และ ถ.ดวงพิทักษ์ นอกจากนี้ยังเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตรงถึงภายในศูนย์ฯสิริกิติ์ ตามด้วย Safety ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับสากล พร้อมคำนึงถึงความปลอดภัยด้าน Life Safety เพื่อรองรับการจัดงานระดับโลกทุกรูปแบบ

Technology วางระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในประเทศไทยรองรับได้ถึงอนาคต (6G) มั่นใจว่าจะสามารถสนับสนุนการจัดอีเวนท์รูปแบบออนไลน์และไฮบริดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถอำนวยความสะดวกการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้จัดงานและผู้เข้าชมได้อย่างไร้ขีดจำกัด นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบเข้าใช้งานพื้นที่แบบไร้สัมผัส (Touchless Access) และใช้ระบบบริหารอาคารอัจฉริยะในการควบคุมการให้บริการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยขั้นสูงสุด

 

++ ชูความยืดหยุ่นสูงเจาะอีเวนท์ทุกรูปแบบ

Flexibility มีความยืดหยุ่นสูงในการรองรับความต้องการด้านอีเวนท์และงานประชุมทุกรูปแบบ ด้วยพื้นที่รองรับการจัดงานมากถึง 78,500 ตารางเมตร มีฮอลล์ขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง และห้องประชุมกว่า 50 ห้องที่สามารถรองรับการจัดงานบนพื้นที่ตั้งแต่ขนาด 30-1,000 ตารางเมตร โดยทางศูนย์ฯสิริกิติ์ได้มีการลงทุนด้านนวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการจัดงานรูปแบบไฮบริดและออนไลน์หลายร้อยล้านบาท ตอบโจทย์การเป็น “อีเวนท์ แพลตฟอร์ม ฟอร์ ออล” (Event Platform for All) ทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันภายในโครงการด้วยพื้นที่รีเทลขนาด 10,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นแหล่งรวมแอคทีฟไลฟ์สไตล์ใหม่ของกรุงเทพฯ

และ Sustainability การสร้างความยั่งยืน โดยเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ผ่านมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver ที่มีการวางแผนการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จ เน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยรอบโครงการ และใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ประชุมแห่งเดียวที่ห้อมล้อมด้วยสวนป่าเบญจกิติ พื้นที่สีเขียวผืนใหม่ล่าสุดของกรุงเทพฯ

 

++ ยันไม่สร้าง รร.ใหม่เพิ่มในโครงการฯ

นายวิทวัส กล่าวเพิ่มเติมว่า จะไม่มีการสร้างโรงแรมใหม่ในโครงการศูนย์ฯสิริกิติ์ เพราะได้ขยายเต็มพื้นที่แล้ว ประกอบกับมีโรงแรมต่างๆ ตั้งรายล้อมศูนย์ฯสิริกิติ์ให้บริการเต็มไปหมด รองรับความต้องการเข้าพักของผู้มาร่วมงานไมซ์ที่ศูนย์ฯสิริกิติ์

สำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ เชื่อว่าการจัดงานประชุมแบบออนกราวนด์แบบเจอหน้ากันจะฟื้นตัวกลับมาแน่นอน ทาง NCC เองก็มั่นใจเช่นนั้น โดยหลังจากรัฐบาลดำเนินการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 รับทราบมาว่าศูนย์ฯสิริกิติ์มียอดการจองพื้นที่จัดงานไมซ์ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 แล้ว

“ศูนย์สิริกิติ์” ยันเปิดบริการ ก.ย.65 “ไมซ์” แห่จองจัดงานถึงปลายปี