คลังเปิดเกณฑ์ใหม่รายได้ครอบครัวถือบัตรคนจนไม่เกิน 2 แสนบาท

คลังเปิดเกณฑ์ใหม่รายได้ครอบครัวถือบัตรคนจนไม่เกิน 2 แสนบาท

คลังกำหนดเกณฑ์รายได้ครอบครัวไม่เกิน 2 แสนบาทจะได้รับบัตรคนจน และให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรคนจน โดยคนที่ถือบัตรคนจนอยู่แล้ว และคนที่ยังไม่มีบัตร หากต้องการรับสวัสดิการเพิ่มเติม จะต้องลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด คาดเปิดรับลงทะเบียนได้ต้นปีหน้า

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการลงทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐ(บัตรคนจน)เพิ่มเติมในรอบใหม่ ที่คาดว่าจะเริ่มในต้นปีหน้าว่า ที่ประชุม ซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้หารือร่วมกันถึงหลักเกณฑ์ใหม่ ในการพิจารณาผู้ที่สมควรได้รับบัตรคนจน

โดยที่ประชุมเห็นควรที่จะเพิ่มหลักเกณฑ์รายได้ของครอบครัวเข้าไปอยู่ในเกณฑ์การพิจารณาด้วย จากปัจจุบันพิจารณาเฉพาะ รายได้ส่วนบุคคล ที่จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปีจึงมีสิทธิได้รับบัตรคนจน

สำหรับหลักเกณฑ์รายได้ครอบครัว ที่จะเป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเข้ามานั้น จะกำหนดว่า ครอบครัวหนึ่งๆ จะต้องมีรายได้ทั้งครอบครัวไม่เกิน 2 แสนบาท จึงมีสิทธิได้รับบัตรคนจน

ตัวอย่างเช่น กรณี ครอบครัวหนึ่งมีสามีและภรรยา ยังไม่มีบุตร สามีมีรายได้ต่อปี 1.5 แสนบาท ภรรยามีรายได้ต่อปี 5 หมื่นบาท กรณีนี้สามีไม่มีสิทธิได้รับบัตรคนจน เพราะรายได้ต่อบุคคลเกิน 1 แสนบาทต่อปี แต่ภรรยามีสิทธิได้รับบัตรคนจน เพราะมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี และรายได้ของครอบครัวไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี

แต่หากกรณี สามีมีรายได้ 2 แสนบาท และภรรยามีรายได้ 9 หมื่นบาท แม้กรณีนี้ภรรยาจะมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท แต่เมื่อใช้เกณฑ์ครอบครัวพิจารณาแล้ว ครอบครัวนี้มีรายได้ต่อคนเกิน 1 แสนบาทต่อปี ดังนั้น ภรรยาจึงไม่มีสิทธิได้รับบัตรคนจน

แต่ในกรณีนี้ หากครอบครัวนี้มีบุตร ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 1 คน เมื่อเอาจำนวนคนในครอบครัวหาร กับรายได้ต่อปีของทั้งครอบครัวแล้ว แต่ละคนจะมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ดังนั้น ภรรยามีสิทธิได้รับบัตรคนจน

 ทั้งนี้ นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ที่กำหนดให้คนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับบัตรคนจน ภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด

โดยผู้ถือบัตรจะได้รับวงเงินในบัตรรายละ 300 บาท กรณีที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 3 หมื่นบาท และได้รับวงเงิน 200 บาท กรณีมีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท รวมถึงวงเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะอีกคนละ 500 บาท เป็นต้น

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้ใช้บัตรประชาชน แทนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้ผู้ที่ได้รับสิทธิไม่จำเป็นต้องถือบัตรหลายใบ

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงในเรื่องหลักเกณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องรายได้  ส่วนในเรื่องการถือครองที่ดิน ที่เป็นโฉนด  ก็ให้รวมถึงการถือครองแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์อีกด้วย เช่น การถือครองที่ดินประเภท สปก. เป็นต้น

เขากล่าวว่า เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์แล้วเสร็จ กระทรวงการคลังจะต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติ เพื่อประกาศใช้ ซึ่งกระทรวงการคลังอยากเร่งให้สามารถได้ภายในปีนี้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี และเมื่อประกาศใช้แล้ว กระทรวงการคลังคาดว่า จะสามารถเริ่มลงทะเบียนรอบใหม่ได้ภายในต้นปีหน้า โดยคนที่ถือบัตรอยู่แล้ว และคนที่ยังไม่มีบัตร หากต้องการรับสวัสดิการ จะต้องมาลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์