“แอร์บัส” ชี้ดีมานด์เครื่องบินโดยสารปี 2583 พุ่งสูงกว่า 3.9 หมื่นลำ
“แอร์บัส” คาดการณ์เทรนด์ความต้องการของเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินบรรทุกสินค้าอยู่ที่จำนวน 39,000 ลำ และจำนวน 15,250 ลำภายในปี 2583 ขณะที่นักบินใหม่จำนวนกว่า 550,000 คน และช่างเทคนิคที่มีทักษะสูงกว่า 710,000 คน จะเป็นที่ต้องการในอีก 20 ปีข้างหน้า
รายงานข่าวจากแอร์บัส ระบุว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า แอร์บัสคาดการณ์ว่าความต้องการด้านการขนส่งทางอากาศจะค่อยๆ เปลี่ยนจากการเติบโตของฝูงบินไปสู่การเร่งปลดระวางเครื่องบินรุ่นเก่าที่ประหยัดเชื้อเพลิงน้อยกว่า ส่งผลให้เกิดความต้องการเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินบรรทุกสินค้าที่ผลิตขึ้นใหม่จำนวน 39,000 ลำ และจำนวน 15,250 ลำ จากจำนวนดังกล่าวนั้นจะเป็นเครื่องบินทดแทน
ด้วยเหตุนี้ภายในปี 2583 เครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ที่ใช้นำมาใช้งานจะเป็นเครื่องบินรุ่นล่าสุด โดยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 13% ในปัจจุบัน ซึ่งช่วยพัฒนาประสิทธิภาพด้านการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของฝูงบินเครื่องบินพาณิชย์ของโลกได้เป็นอย่างมาก ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของภาคการบินขยายตัวล้ำหน้าไปไกล โดยมีสนับสนุนให้จีดีพี (GDP) ทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 4% ต่อปี อีกทั้งยังรักษาตำแหน่งงานได้ประมาณ 90 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
ในขณะที่เราได้พลาดโอกาสการเติบโตไปเป็นเวลาเกือบ 2 ปีในช่วงที่โรคโควิด-19 ได้ระบาด จำนวนผู้โดยสารได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นหรือพร้อมผัน (Resilience) และยังเตรียมพร้อมที่จะเชื่อมโยงถึงการเติบโตในแต่ละปีที่อัตรา 3.9% ต่อปี โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพาณิชย์ทั่วโลก รวมถึงการท่องเที่ยว ชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะเดินทางด้วยเครื่องบินมากที่สุด จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นสองพันล้านคนถึงระดับ 63% ของประชากรโลก การเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่สูงขึ้นเร็วที่สุดจะอยู่ในทวีปเอเชีย โดยจีนจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่มีผู้โดยสารเดินทางภายในประเทศ
ความต้องการเครื่องบินใหม่จะประกอบไปด้วยเครื่องบินขนาดเล็กจำนวนประมาณ 29,700 ลำ อย่างเช่น รุ่นตระกูล A220 และ A320 เช่นเดียวกับจำนวนประมาณ 5,300 ลำ ของประเภทเครื่องบินขนาดกลาง อย่างเช่น รุ่น A321XLR และรุ่น A330neo ส่วนในกลุ่มเครื่องบินขนาดใหญ่ ที่รวมถึงเครื่องบินรุ่น A350 นั้น คาดว่าจะมีความต้องการในการส่งมอบเป็นจำนวน 4,000 ลำภายในปี 2583
ความต้องการด้านการขนส่งสินค้าซึ่งเป็นผลมาจากอีคอมเมิร์ซ ได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของการขนส่งสินค้าแบบด่วน โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 4.7% ต่อปี และการขนส่งสินค้าแบบทั่วไป (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 75% ของตลาด) เติบโตที่ 2.7% โดยในภาพรวมแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการสำหรับเครื่องบินบรรทุกสินค้าเป็นจำนวน 2,440 ลำ โดย 880 ลำจะเป็นเครื่องบินที่ผลิตใหม่
เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโต การบินด้วยเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้ความต้องการด้านบริการการบินเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงการซ่อมบำรุง การฝึกอบรม การอัปเกรด ปฏิบัติการบิน ทำลายและการรีไซเคิลเครื่องบิน การเติบโตนี้เป็นไปตามระดับที่แอร์บัสได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งแตะที่มูลค่าสะสมประมาณ 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 156.5 ล้านล้านบาท) ในอีก 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่เรากำลังก้าวผ่านสภาวะตกต่ำอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 20% ในช่วงปี 2563-2568 ตลาดภาคบริการนั้นก็กำลังฟื้นตัว ทำให้เกิดความต้องการนักบินใหม่จำนวนกว่า 550,000 คนและช่างเทคนิคที่มีทักษะสูงจำนวนกว่า 710,000 คน ในอีก 20 ปีข้างหน้า และในขณะที่การซ่อมบำรุงจะยังคงเป็นกลุ่มบริการที่ยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่ในอันดับต้นๆ ปฏิบัติการบิน ภาคพื้นดิน และการบริการที่ยั่งยืนก็คาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็นอย่างมากเช่นกัน
นายคริสเตียน เชอร์เรอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ของแอร์บัส และประธานกรรมการแอร์บัส อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เนื่องด้วยเศรษฐกิจและการขนส่งทางอากาศเติบโตอย่างเต็มที่ เราจึงเล็งเห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการทดแทนเครื่องบินมากกว่าการเติบโต การทดแทนกลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันสำหรับการลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonisation) โลกคาดหวังการบินที่ยั่งยืนมากขึ้นและสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ในระยะสั้นด้วยการเปิดตัวเครื่องบินที่ทันสมัยที่สุด
“การขับเคลื่อนเครื่องบินใหม่ที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ด้วยเชื้อเพลิงสำหรับการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ถือเป็นแม่แรงสำคัญในอนาคตอันใกล้ เรารู้สึกภูมิใจที่เครื่องบินทุกลำของเราไม่ว่าจะเป็นรุ่นเอ 220 ตระกูล A320neo A330neo และ A350 ได้รับการรับรองแล้วว่าบินด้วยส่วนผสมของ SAF 50% ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100% ภายในปี 2573 ก่อนที่จะทำให้เครื่องบิน ZEROe ของเราจะเกิดขึ้นจริงเป็นลำดับถัดไปตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไป”
อุตสาหกรรมการบินโลกประสบความสำเร็จด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการปล่อย CO2 ของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกลดลง 53% ตั้งแต่ปี 2533 กลุ่มผลิตภัณฑ์ของแอร์บัสรองรับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นด้านการลดการปล่อย CO2 อย่างน้อย 20% เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นก่อน ในส่วนของนวัตกรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงการปฏิบัติงาน รวมถึงทางเลือกที่อิงตามตลาด แอร์บัสสนับสนุนเป้าหมายของภาคการขนส่งทางอากาศให้บรรลุเป้าหมายสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2593