PRM ลุยธุรกิจใหม่ ดันรายได้ปีหน้าฟื้น !
‘พริมามารีน’ รุกธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตเติบโต เผยหลังผนึกกำลัง “ไทยออยล์มารีน” ลุยตัวแทนสายเดินเรือ ปีหน้ากำไรฟื้นตัว หลังแหล่งรายได้ใหม่เสริม
“ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน” (FSU) ถือเป็นธุรกิจ “ดาวเด่น” ในปี 2563 คิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึง 55% และสร้างกำไรได้ระดับที่ดีสุด ! ของ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM บ่งชี้ผ่าน ผลประกอบการปี 2563 กำไรสุทธิ 1,533.06 ล้านบาท เป็นสถิติสูงสุดใหม่ แต่ปี 2564 ธุรกิจ FSU ต้องปรับฐานใหม่หลังความต้องการ (ดีมานด์) ในการจัดเก็บน้ำมัน “ลดลง” จากผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในแถบเอเชียลดลงมาก
สารพัดผลกระทบดังกล่าว... ทำให้ช่วงที่ผ่านมามักเจอคำถามจากนักลงทุนบ่อยๆ ว่า แหล่งสร้างรายได้หลักของ PRM ทำไมกระจุกตัวอยู่แค่ธุรกิจ FSU เนื่องจากเวลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือ ล่าสุดกับวิกฤติโควิด-19 ส่งให้ผลการดำเนินงานจะได้รับผลกระทบ !
“วิริทธิ์พล จุไรสินธุ์” ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาช่องทางการลงทุนใน “ธุรกิจใหม่” (New Business) ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง และสามารถเข้ามาช่วยเสริมให้บริษัทเติบโตมากขึ้นด้วย และเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไปในหลากหลายธุรกิจ
สอดคล้องกับ “เป้าหมาย” ระยะยาวบริษัทอยากทำให้สัดส่วนรายได้ของธุรกิจบาลานซ์กัน จากปัจจุบันมี 4 ประเภทธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว (เรือขนส่ง) 2.ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน (FSU) 3.ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore) และ 4.ธุรกิจบริหารจัดการเรือ (ธุรกิจบริหารเรือ)
ดังนั้น ในปีนี้บริษัทได้พิสูจน์การกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ สะท้อนผ่านเมื่อ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมด 100% ของ บริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด (TM) ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ทรูธ มาริไทม์” จากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เรียบร้อยแล้ว ! ทำให้บริษัทได้เรือของไทยออยล์มารีน จำนวน 18 ลำ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งภายในประเทศจำนวน 5 ลำ
และ กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งเพื่อให้การสนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore) ด้วยเรือคูโบ้ท (Crew Boat) อีก 13 ลำ ซึ่งเป็นเรือขนาดเล็กขนส่งผู้โดยสารหรือขนส่งสินค้าไปที่แท่นขุดเจาะ ซึ่งจะนำเข้ามารวมเป็นกองเรือของบริษัทเพื่อให้เกิด “ผนึกกำลัง” (Synergy) กันมีรายได้เพิ่มขึ้นพร้อมกับบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลบวกกับผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะการเติบโตของศักยภาพทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญ
รวมถึงจะให้บริการเรือขนส่งปิโตรเลียมระหว่างประเทศ ด้วยเรือ VLCC อีกจำนวน 3 ลำ โดยเมื่อ 1 พ.ค. มีการส่งมอบเรือเข้ามาแล้วจำนวน 1 ลำ ขนาดบรรทุก 3.14 แสนตัน คาดว่าอีก 2 ลำ จะเข้ามาครึ่งปีแรก 2565 และลำสุดท้ายจะเข้ามาปลายปี 2565 ด้วยสัญญาระยะยาว
ทว่า อีกหนึ่งธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เข้ามาหลังจากการควบรวมกับไทยออยล์มารีน คือ “ธุรกิจตัวแทนสายเดินเรือ” (Ship Agent) ในการเป็นตัวแทนสายเดินเรือติดต่อกับท่าเรือและหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นรายได้แหล่งใหม่ของบริษัท สะท้อนผ่านการเติบโตจากระดับ 3% เพิ่มเป็น 7%
“ที่ผ่านมาเราก็พยายามหารายได้จากธุรกิจอื่นๆ เข้ามาทดแทน ซึ่งภายหลังจากบริษัทดำเนินการควบรวมบริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด (TM) เข้ามาก็พยายามแก้ไขสถานการณ์ที่ได้ผลดีขึ้น แต่คงทำได้ไม่เท่ากับผลงานในปีที่ผ่านมา คาดว่ารายได้ปีนี้อาจต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 10%”
ทั้งนี้ มีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางผลประกอบการปี 2565 คาดว่าจะ “ฟื้นตัวสูง” หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและการเปิดประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลวภายในประเทศพลิกกลับมาดีขึ้น ประกอบกับอานิสงส์จากธุรกิจเรือขนส่งปิโตรเลียมระหว่างประเทศที่จะปรับตัวดีขึ้น หลังจะเริ่มรับรู้รายได้จากสัญญาเดินเรือของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เพิ่มเติม
เขา แจกแจงต่อว่า สำหรับ “ธุรกิจขนส่งในประเทศ” ปัจจุบันปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศยังต่ำ เนื่องจากผลกระทบจากการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องบิน คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20% ของการขนส่งในประเทศ ยิ่งการขนส่งไปภาคใต้ลดลงทั้งหมด ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีกำไรดี เนื่องจากเส้นทางเดินเรือระยะไกล ทว่าตอนนี้บริษัทขนส่งได้เฉพาะเส้นทางเดินเรือในระยะทางสั้นที่มีอัตรากาไรขั้นต้นต่ำกว่า
ขณะที่ “ขนส่งระหว่างประเทศ” เริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 2 ปี 2564 จากเรือ VLCC ที่เข้ามาจำนวน 1 ลำ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยให้บริการแก่ “กลุ่มไทยออยล์” ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ซึ่งยังคงทำรายได้ที่สม่ำเสมอและจะมีบทบาทต่อการผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานในปีถัดไปอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อให้บริการเรืออีก 2 ลำเพิ่มเติมตามสัญญา
“ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล” (Offshore) มีแนวโน้มดีขึ้นจากครึ่งปีแรก จากเรือ AWB (เรือพักอาศัย) เข้างานเต็มจากไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ไม่มีงาน และยังมีเรือ Crew Boat จาก TM เข้ามา 13 ลำ โดยบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มเรือดังกล่าวครบทั้ง 13 ลำตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 64 เป็นต้นไป
สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น หลังจากกิจกรรมทางทะเลต่อจากนี้จะมีความคึกคักมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งมี U Rate ที่ดีขึ้นเป็น 90% จาก 60-70% และมีให้บริการไปที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้ PRM สามารถรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้น และ “ธุรกิจบริหารเรือ” มีเรือเพิ่มอีก 2 ลำ เป็น 4 ลำ
สำหรับภาพรวมการดำเนินงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ คาดว่าจะทำผลการดำเนินงานเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง รับกับจังหวะปัจจัยเชิงบวกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น หลังภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เริ่มเปิดประเทศให้ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงภายในประเทศทั้งส่วนของน้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการใช้เรือขนส่งภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา PRM ได้มุ่งเน้นบริหารจัดการอัตราการใช้เรือในกลุ่มธุรกิจนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยปรับเปลี่ยนเส้นทางการให้บริการเรือขนส่งไปยังภาคกลาง จากเดิมที่เน้นการขนส่งลงภาคใต้เป็นหลัก เพื่อรักษาระดับ Utilization Rate ของเรือให้อยู่ในระดับสูงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ แผนการขยายกองเรือใหม่นั้น บริษัทยังคงมีแผนต่อเรือเล็กขนาด 3,000 ตันใหม่ เพิ่มอีก 5 ลำ แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้การเดินทางไปเจรจากับอู่ต่อเรือที่ประเทศจีนต้องหยุดชะงักไป และอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์โควิด-19 โดยหากโควิด-19 เริ่มคลี่คลายบริษัทจะเดินทางไปเจรจาต่อเรือใหม่เพิ่ม
ท้ายสุด "วิริทธิ์พล” บอกไว้ว่า แม้ปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานมาจากสถานการณ์ความต้องการ ของธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) ยังคงปรับตัวลดลง แต่เชื่อว่าหลังภาครัฐเปิดประเทศแล้วแนวโน้มจะฟื้นตัวชัดเจน